ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ที่หอศิลปกรุงเทพฯเปิดให้บริการภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หอศิลปกรุงเทพฯได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอันสำคัญ ผ่านการจัดแสดงนิทรรรศการผลงานศิลปะ และกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลาย อันเกิดจากกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กรภายนอก ทั้งที่เป็นกลุ่มอิสระ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการองค์กรภาคประชาสังคม รวมไปถึงองค์กรเอกชน เหล่านี้คือบางส่วนขององค์กรเครือข่ายทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่ได้นำเสนอโครงการกิจกรรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่หอศิลปกรุงเทพฯมาต่อเนื่อง และยังคงทำงานตามภารกิจและเป้าหมายของแต่ละองค์กรอย่างเต็มกำลัง
องค์กรเครือข่ายทางด้านศิลปวัฒนธรรม
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ด้วยคว่ามร่วมมือของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องเมืองไทยและประเทศใกล้เคียง สยามสมาคมฯ ตั้งอยู่ที่ถนนอโศกมนตรี กรุงเทพฯ มีห้องสมุดที่สะสมหนังสือหายาก และเอกสารมีค่าจำนวนมาก มีบ้านคำเที่ยง เป็นตัวอย่างของเรือนไทยแบบล้านนา และเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สยามสมาคมฯ จัดนำเที่ยว ไปยังสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ แหล่งวัฒนธรรม และแหล่งธรรมชาติ ในทุกภาคของไทย และต่างประเทศ จัดการบรรยาย เดือนละ ๒-๓ ครั้ง ในหัวข้อที่หลากหลาย วารสารของสยามสมาคมสองฉบับ คือ Journal of the Siam Society และ Natural History Bulletin พิมพ์ทุกปี แจกให้สมาชิกฟรี นอกจากนั้นยังจัดพิมพ์หนังสือวิชาการ จัดแสดงดนตรี นาฏศิลป์ จัดนิทรรศการและสัมมนา และร่วมในโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ
ปัจจุบันสยามสมาคมฯ มีสมาชิกมาจากหลายภาคส่วน ของสังคมไทย และต่างประเทศ และยังดำเนินการเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร สอดคล้องกับปณิธานของเมื่อแรกก่อตั้ง
Website: www.siam-society.org
Website: www.siamese-heritage.org
มูลนิธิเพื่อนศิลปะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 และกลายเป็นมูลนิธิการกุศลอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อปีพ.ศ. 2551 มูลนิธิเพื่อนศิลปะให้การศึกษา อบรม และกระตุ้นความสนใจทางด้านศิลปะแก่ผู้อื่น กิจกรรมในแต่ละปีของมูลนิธิคือการหาศิลปินวัยรุ่นที่มีความสนใจ และบริจาคแก่องค์กรการกุศลเกี่ยวกับเด็กในประเทศไทย ตลอดทั้งปีมูลนิธิจะจัดการแสดงเพื่อหารายได้และสนับสนุนศิลปินไทยที่มีความสามารถในระดับสากล
Website: www.friends-of-the-Arts.info
Website: www.dance-festival.info
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 18 กันยายน 2533 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วน พระองค์จำนวนสองล้านสี่แสนสี่หมื่นแปดพันห้าร้อยสี่สิบบาท เป็นกองทุนประเดิมต่อกองทุนของมูลนิธิฯ
มูลนิธิมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีหลักการให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่และแหล่งธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม โดยมุ่งถ่ายทอดสถานการณ์ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติให้สังคมและผู้มีอำนาจตัดสินใจรับรู้ ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติของประเทศ โดยมีผืนป่าตะวันตกเป็นพื้นที่ต้นแบบ นำไปสู่การบริหารจัดการผืนป่าอนุรักษ์อื่นๆ
Website: www.seub.or.th
Facebook: https://th-th.facebook.com/SeubNakhasathienFD/
สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (อศส. SCONTE) ก่อตั้งขึ้นในปี 2514 ดำเนินงานส่งเสริมและอนุรักษ์สถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยา แหล่งน้ำ อากาศ ป่าไม้ พันธุ์พืช สัตว์ป่า และการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังมีส่วนร่วมในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ทั้งยังขับเคลื่อนงานด้านศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
Facebook: https://www.facebook.com/2514.SCONTE/
มูลนิธิเอสซีจี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมานานกว่า 60 ปี ให้ทุนการศึกษาไปแล้วกว่า 100,000 ทุน โดยเน้นการเรียนที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี IT จุดประกายโดยเปิดมุมมองใหม่ให้เยาวชนเรียนรู้ แนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ปรับตัว เพิ่มทักษะความรู้ และทักษะชีวิต ให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
โดย 1 ในโครงการ ซึ่งสอดรับกับแนวคิด Learn to Earn ที่มูลนิธิเอสซีจี ดำเนินมาแล้วอย่างต่อเนื่อง คือ Young Thai Artist Award เวทีประกวดศิลปะระดับประเทศ ที่ส่งเสริมเยาวชน ที่มีศักยภาพด้านศิลปะ มีโอกาสแสดงผลงาน ได้แจ้งเกิดเป็นดาวดวงใหม่ในวงการ สานฝันสู่เส้นทางความสำเร็จเป็นใบเบิกทางพัฒนาต่อยอดสู่อาชีพศิลปินในอนาคต
Website: https://www.scgfoundation.org/
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยคุณนนทรีย์ นิมิบุตร นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรก และคุณอนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) ส่งเสริมความร่วมมือ ความสามัคคี ระหว่างผู้ประกอบอาชีพกำกับภาพยนตร์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 2) เพิ่มพูนประสิทธิภาพและความเป็นเลิศทางด้าน ภาพยนตร์ 3) ประสานความร่วมมือและสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างสมาคมกับองค์กรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทั้ง ภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4) ดำรงรักษาและส่งเสริมศิลปะ ตลอดจน วัฒนธรรมอันดีงามทางด้านภาพยนตร์ของชาติ 5) เป็นศูนย์รวมข่าวสาร ความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับ ภาพยนตร์ ส่งเสริมและบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ แก่ผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ และประชาชนทั่วไป สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เป็นการรวมตัวผู้ กำกับภาพยนตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกัน และเป็นตัวกลางในการประสานระหว่าง ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กับองค์กรทั้งในไทยและ ต่างประเทศ และเชิดชูผู้กำกับที่มีคุณูปการกับ วงการภาพยนตร์ไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ไทยให้ไปได้ไกลที่สุด
Facebook: https://www.facebook.com/thaifilmdirectorpage?mibextid=ZbWKwL
Website: https://www.thaifilmdirectors.com/tfdaboard
บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร เราสนับสนุนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ผ่านการสร้างเครือข่าย สร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างผู้คนในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา และภาษาอังกฤษ เราทำงานกับผู้คนในกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครอง รวมทั้งมีสำนักงานในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในระหว่างปึ 2565-2566 เราได้เข้าถึงผู้คนกว่า 600 ล้านคน
Website: www.britishcouncil.org
เจแปนฟาวน์เดชั่นเป็นสถาบันที่อุทิศให้กับการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมทั่วโลก เจแปนฟาวน์เดชั่นสร้างสรรค์โอกาสต่าง ๆ ในการฟูมฟักรักษามิตรภาพ ความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันผ่านวัฒนธรรม ภาษาและการสนทนาเพื่อปลูกฝังมิตรภาพและความผูกพันระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยมีความกระตือรือร้นในการดำเนินกิจกรรมอันหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมที่รวมถึงศิลปะ วัฒนธรรม และสังคม และประสานงานโครงการต่างๆ มากมายในการส่งเสริมการเรียนภาษาญี่ปุ่นและญี่ปุ่นศึกษาโดยร่วมมือกับมิตรผู้ร่วมงานชาวไทย
Website: https://ba.jpf.go.jp/th/home-th/
Facebook: https://www.facebook.com/jfbangkok
SEA Junction ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสร้างความเข้าใจและการเห็นคุณค่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทุกมิติทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งด้านศิลปะและวิถีชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจ การพัฒนาและสิทธิมนุษยชน SEA Junction ตั้งอยู่ที่ห้อง 407-8 หอศิลปกรุงเทพฯ ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้ที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SEA Junction เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจในสังคมและวัฒนธรรมของภูมิภาคได้พบปะและแลกเปลี่ยน รวมถึงได้อ่านข้อมูลและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสาธารณะ เช่น งานเสวนา นิทรรศการภาพถ่ายและศิลปะ การฉายสารคดี การบรรยาย และเวิร์คช็อป ซึ่งล้วนเผยให้เห็นถึงความรุ่มรวยและความท้าทายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Website: http://seajunction.org/
ไบแพม (Bangkok International Performing Arts Meeting-BIPAM) เป็นองค์กรที่จัดงานประชุมด้านศิลปะการแสดงร่วมสมัยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายระหว่างศิลปิน นักการละคร และนักวิชาการ เพื่อพัฒนาชุมชนศิลปะการแสดงร่วมสมัยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไบแพมได้สร้างบทสนทนาหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับวงการศิลปะการแสดงร่วมสมัย ทั้งในภูมิภาคและเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับให้ความสำคัญจากชุมชนศิลปะทั่วโลก ปี 2563 ไบแพมได้ปรับรูปแบบเทศกาลงานประชุมประจำปีเป็นประจำทุกๆ 2 ปี และได้ผันตัวเป็นองค์กรบริหารจัดการศิลปะการแสดงร่วมสมัยในกรุงเทพฯ โดยจดทะเบียนในชื่อเดียวกับเทศกาล ทีมงานหลักของไบแพมมาจากกลุ่มนักบริหารจัดการศิลปะหญิงที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าอยากเชิญชวนให้ทั่วโลกได้ก้าวเข้ามารู้จักบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายในภูมิภาคให้มากขึ้น นอกจากนี้ ไบแพมยังทำงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์ผ่านโปรแกรมและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งโครงการที่ริเริ่มเองและโครงการความร่วมมือในประเทศและระหว่างประเทศ อาทิ การจัดเสวนา เวิร์คช็อป โครงการบ่มเพาะศิลปิน ฯลฯ
Facebook: https://www.facebook.com/BIPAMbkk
ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น (Thai Theatre Foundation) มีพันธกิจเพื่อ “สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ละครเวทีไทยร่วมสมัย” เราต้องการเห็นละครเวทีไทยร่วมสมัยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เป้าหมายของเราคือสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ แก่ละครเวทีไทยร่วมสมัยเพื่อช่วยให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ภายใต้ค่านิยมหลัก “เสมอภาค หลากหลาย ไม่แบ่งแยก”
สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่จะเทิดพระเกียรติและสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภายใต้ปรัชญา “ ดนตรีแห่งชีวิต ดนตรีแห่งแผ่นดิน ” เพื่อที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีคลาสสิกให้มีมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกสู่สาธารณชน ให้ดนตรีคลาสสิกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในสังคมไทย และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้ไปสู่ความเจริญทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ โดยสถาบันฯ ได้จัดโครงการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านดนตรี สู่สาธารณชนหลายโครงการ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้ความรู้ทางดนตรีแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งการจัดทำโครงการพัฒนาดนตรีแก่ผู้ฟัง โดยมีเป้าหมาย ในการสร้างเวทีให้กับนักเรียน นักดนตรี นักดนตรีระดับอาชีพและผู้ฟังทั่วไป เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางดนตรี บทสนทนาและแบ่งปันความรักในดนตรีร่วมกัน
Website: www.pgvim.ac.th
ในฐานะสถาบันด้านวัฒนธรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สถาบันเกอเธ่มีบทบาทในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ในวงสังคม ผ่านการสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาเยอรมันและการเผยแพร่ข้อมูลให้กับคนทั่วโลกเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมในประเทศเยอรมนีและในยุโรป
สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ซึ่งปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ในซอยเกอเธ่ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร และนับเป็นสถาบันเกอเธ่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทย เยอรมนี และยุโรป ผ่านการเข้าร่วมและจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งในรูปแบบของงานเทศกาล นิทรรศการ การสร้างสรรค์ผลงาน โครงการความร่วมมือระหว่างศิลปินในภาคศิลปะและวัฒนธรรมทุกแขนง พื้นที่จัดกิจกรรมในซอยเกอเธ่ของเราจึงมีงานกิจกรรมทางวัฒนธรรมหมุนเวียนเข้ามาภายในหอประชุมของเรา ที่ซึ่งสามารถรองรับกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบตลอดทั้งปี
นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสนับสนุนงานด้านการศึกษา สถาบันเกอเธ่ จัดสอนคอร์สเรียนภาษาเยอรมันหกวันต่อสัปดาห์ทั้งในรูปแบบออนไลน์และในห้องเรียนของสถาบันที่กรุงเทพฯ อีกทั้ง สถาบันเกอเธ่ฯ ยังจัดสอบวัดระดับภาษาเยอรมันในทุกระดับภาษา เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยและโรงเรียนไทย เพื่อการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์การเรียนที่ดีที่สุดแก่ผู้เรียน
ไม่เพียงเท่านี้ แผนกห้องสมุดของสถาบันฯ ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน นอกจากแผนกห้องสมุดจะจัดกิจกรรมและเทศกาลวรรณกรรมมากมาย ห้องสมุดของสถาบันฯ ยังอัดแน่นไปด้วยหนังสือภาษาเยอรมัน อังกฤษ และไทยที่มีคุณภาพซึ่งมุ่งเน้นไปที่หนังสือหมวดศิลปะ วัฒนธรรม และมนุษยศาสตร์เป็นสำคัญ อีกทั้ง ห้องสมุดของเรายังเปิดให้ผู้คนได้เข้าถึงภาพยนตร์ บอร์ดเกม และ VR ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ร่วมมือกับสถาบันฯ มาอย่างยาวนานและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทั่วประเทศไทย
Website: www.goethe.de
Website: www.goethe.de/thailand
Facebook: www.facebook.com/goetheinstitut.thailand
“สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” The Royal Photographic Society of Thailand (RPST) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Photographic Society of Thailand” ใช้ชื่อย่อภาษาไทยว่า “ส.ภ.ท.” ใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “RPST” โดยมีตราสมาคมฯ เป็นรูปราหูอมจันทร์ ภายใต้มงกุฎครอบ
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 60 ปี สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในการสร้างบุคลากร และการกระตุ้นให้เกิดมาตรฐานในวิชาชีพภาพถ่าย โดยการจัดสอบเกียรตินิยมภาพถ่าย การประกวดภาพถ่าย การจัดอบรมเสวนาให้ความรู้เชิงเทคนิค วิชาการ การจัดนิทรรศการภาพถ่ายในหลากหลายวาระ รวมถึงการจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบให้สอดคล้องและเข้ากับยุคสมัย โดยสมาคมฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการยกระดับการถ่ายภาพในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังต้องการเป็นศูนย์รวมของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนและพัฒนาวงการถ่ายภาพในประเทศไทยให้มีความทัดเทียมระดับโลก
Website: https://www.rpst.or.th/home/index.php
Facebook: https://www.facebook.com/RPSThailand