- Reference Codes
01EXH-01-2013-06-DOC-01
- Title
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ — จิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูด และผลงานย้อนหลัง
- Date
23.03.2018
- Level of description
Sub-Series
- Extent and medium of the unit of description
1 ไฟล์
- Name
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- Administrative / Biographical History
ประวัติเจ้าของเอกสาร
ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เป็นนักวิชาการศิลปะ และเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี นับตั้งแต่เข้ารับการศึกษาศิลปะกับศาสตราจารย์ศิลปะ พีระศรี เคยดำรงตำแห่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ (พ.ศ.2519-2523) ในงานด้านการบริหาร เป็นผู้เปิดภาควิชาภาพพิมพ์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2509 และภาควิชาศิลปะไทย ในปี พ.ศ. 2519ในด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะ ท่านได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ที่มีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องเป็นเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ (สาขาจิตรกรรม) และศิลปินแห่งชาติ (สาขาประติมากรรม) ประจำปี 2541 เป็นผู้บุกเบิกศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ เช่น ผลงานประติมากรรม “พดด้วง” ที่หน้าธนาคารกสิกรไทย งานประติมากรรม “โลกุตร” หน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และประติมากรรม “พระบรมโพธิสมภาร” หน้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งศิลปกรรมทุกชิ้นแสดงออกถึงบุคลิกภาพเฉพาะตน แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแบบไทย ในส่วนของงานภาพพิมพ์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกศิลปะภาพพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยทดลองงานภาพพิมพ์แกะไม้จากทำแม่พิมพ์โดยแผ่นกระดาษอัด Messonite ขึ้นเป็นครั้งแรก จากการศึกษาค้นคว้า ในกระบวนการภาพพิมพ์อย่างจริงจังนี้เอง ทำให้ท่านได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปะภาพพิมพ์นานาชาติจากประเทศยูโกสลาเวีย ในปี พ.ศ. 2506 และได้รางวัลจากการประกวดภาพพิมพ์นานาชาติแห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2507 นับเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลศิลปะภาพพิมพ์ในระดับนานาชาติ
- Archival History
วันที่จัดกิจกรรม : 31 พฤษภาคม – 18 สิงหาคม 2556
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9
จิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูด และผลงานย้อนหลัง : นิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติและครูคนสำคัญผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี จัดแสดงผลงานศิลปะตามช่วงเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ผลงานชุดศิลปินชนบท ศิลปะจัดวาง และศิลปะแบบคอนเซปชวล อาร์ต (Conceptual art), ผลงานวาดเส้นชุดบทกวี, ชุดลูกสาว, ชุดธรรมศิลป์ และผลงานชุดใหม่ “จิตรกรรมฝาผนัง”ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินอาวุโสหนึ่งในศิษย์เอกคนสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย ในฐานะศิลปินนักค้นคว้าทดลอง ศาสตราจารย์ชลูดได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่า จนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม ในปี พ.ศ.2502 และศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ในปี พ.ศ.2541 ในฐานะครูผู้ยิ่งใหญ่ ศาสตราจารย์ชลูดได้สร้างศิลปินมากมายให้กับวงการศิลปะ และเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอน ด้วยการจัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ (พ.ศ.2508) และภาควิชาศิลปไทย (พ.ศ.2519) ในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการศิลปะผู้สร้างสรรค์ตำราวิชาองค์ประกอบศิลป์ รวมไปถึงหนังสือ และบทความทางศิลปะที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษามากมาย
แต่ทว่าสำหรับศาสตราจารย์ชลูดแล้ว ท่านกล่าวเสมอว่า ตนเป็นเพียง “ศิลปินชนบท” คนหนึ่งที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ลูกหาในฐานะ “ครู” นิทรรศการครั้งนี้มิได้จัดขึ้นเพื่อยกย่องหรือเชิดชูเกียรติท่านเนื่องในวาระพิเศษใด หากทว่าต้องการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าตลอดเส้นทางการสร้างสรรค์ที่ยาวนานกว่า 60 ปี เพื่อให้ผู้ชมได้ซึมซับสุนทรียภาพ และเรียนรู้ผลงานศิลปะของศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทยโดยแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 6 ชุดด้วยกัน คือ
ผลงานชุดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นผลงานชุดปัจจุบัน ที่ศาสตราจารย์ชลูดสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2553-2556 เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสัมพันธ์ไปกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัว ผ่านรูปทรงหลักคือ ภาพผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกที่สะอาดบริสุทธิ์ อ่อนโยน ปรากฏอยู่ร่วมกับรูปทรงซึ่งมีที่มาจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม โดยใช้เทคนิคที่เรียบง่ายอย่างการวาดเส้นด้วยหมึก และการระบายสีอะคริลิคลงบนกระดาษสา ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ ผลงานทั้งหมดถูกจัดวางเรียงรายต่อเนื่องกันจนเต็มฝาผนัง เพื่อโอบล้อมผู้ชมให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศของผลงานโดยรวม เป็นจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยที่มิได้บอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา แต่ทว่ากำลังบอกเล่าเรื่องราวทางศิลปะจากประสบการณ์ชีวิตของศิลปิน
ผลงานชุดธรรมศิลป์ เป็นผลงานที่ศาสตราจารย์ชลูดสร้างขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ.2530-2539 โดยมิได้มีเจตนาสื่อแสดงความหมายธรรมะในพุทธศาสนา แต่ถ่ายทอดออกมาจากสภาวะจิตใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลา ด้วยรูปแบบผลงานที่เรียบง่าย รูปทรงอันสงบนิ่ง และสีสันที่นุ่มนวลสะอาดตา สะท้อนความบริสุทธิ์ของจิตใจที่สงบนิ่งและปล่อยวาง อันเป็นผลมาจากภาวะของสมาธิ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทำงาน และจากการศึกษาปฏิบัติธรรม
ผลงานวาดเส้น เป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ศาสตราจารย์ชลูดมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ และได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย แต่สามารถถ่ายทอดและแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ผลงานวาดเส้นที่นำมาจัดแสดงมี 4 ชุดด้วยกัน คือ ผลงานชุด “บทกวี” (พ.ศ.2525-2526) ผลงานชุด“ลูกสาว” (พ.ศ.2528) ผลงานชุด “ประติมากรรมในทิวทัศน์” (พ.ศ.2550) และผลงานชุด “วาดเส้นภาวนา” (พ.ศ.2554)
ผลงานชุดประติมากรรมชนบท เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2525 ศาสตราจารย์ชลูดนำแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชนบทไทย มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความก้าวหน้าล้ำสมัย ทั้งในด้านรูปแบบและลักษณะการแสดงออก ด้วยการหยิบจับวัตถุและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งวัสดุจากธรรมชาติ และวัสดุสังเคราะห์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็นสื่อในการแสดงออก เริ่มจากการนำวัสดุมาห้อยแขวนวางพาดบนตอไม้ พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงการนำวัสดุมาห้อยแขวนบนร่างกายตนเอง เพื่อเป็นสื่อแสดงความคิด ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตชนบทไทย ซึ่งนับได้ว่าศาสตราจารย์ชลูดเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางการทำงานศิลปะเชิงความคิด (conceptual art) ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทย
ผลงานวาดเส้นจากโรมและภาพพิมพ์นามธรรม ในช่วงเวลาที่เดินทางไปศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์กลวิธีร่องลึก (intaglio) ที่ประเทศอิตาลี ประมาณปี พ.ศ.2499-2501 และศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์หิน (lithograph) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2507 นั้น ศาสตราจารย์ชลูดได้เดินทางไปวาดภาพทิวทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลงานที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์นามธรรม ซึ่งมีเทคนิคที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ผลงานยุคแรก ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2498-2505 ศาสตราจารย์ชลูดสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชนบทไทย ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แบบแกะลายเส้น (engraving) โดยทดลองนำเมโซไนท์ (mesonite) หรือกระดาษอัดแข็งมาใช้แทนไม้เป็นคนแรกของไทย ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) ซึ่งมีทั้งภาพพิมพ์ขาวดำและภาพพิมพ์สี เป็นการค้นพบเทคนิคที่มีความกลมกลืนกับอารมณ์การแสดงออก ด้วยเรื่องราวและรูปทรงที่เรียบง่าย แสดงออกถึงความเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมชุด “ชีวิตชนบทปิดทอง” (พ.ศ.2499) ซึ่งศาสตราจารย์ชลูดได้ทดลองติดทองคำเปลวลงบนจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นคนแรก นับเป็นก้าวสำคัญในการนำลักษณะของศิลปะไทยแบบประเพณีมาปรับใช้ เสนอภาพเรื่องราววิถีชีวิตไทย ทำให้เกิดลักษณะใหม่ของศิลปะร่วมสมัยที่แสดงลักษณะไทยได้อย่างลงตัว
- Immediate source of acquisition or transfer
ฝ่ายนิทรรศการ
- Related units of description
Press release
- Note
ทีมงานนิทรรศการ
ที่ปรึกษาโครงการ
อ.ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ และ อ.ปัญญา วิจินธนสาร
ภัณฑารักษ์รับเชิญ
รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์
ผู้ช่วยภัณฑารักษ์รับเชิญ
กมลวรรณ จันทวร
ออกแบบกราฟฟิก
รัษฎากร ชัยเรืองรัชต์
ผู้ประสานงานนิทรรศการ
พัทธิรา ครองราษฎร์ และอมรแมน เปี่ยมรุ่งเรือง
ถ่ายภาพ
จักริน ติวเถาว์
ผู้แปลเนื้อหานิทรรศการ
วรรณศรณ์ เครือหงส์
ติดตั้งนิทรรศการ
บริษัท แฮบิท จำกัด
ทีมงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ธนกร ยังให้ผล และสุวัชรี อุดมพัฒน์ - Rules or Conventions
อ้างอิงระบบ ISAD (G) ในการอธิบายชุดเอกสาร
- Date(s) of descriptions
24.03.2018