Videos
“ประชิด-แปลกหน้า”: นิทรรศการศิลปินในพำนักจากเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา
- Reference Codes
01ANE-08-2015-02-VDO-01
- Title
ประชิด – แปลกหน้า : นิทรรศการศิลปินพำนักใน BACC จากเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา
- Date
16.02.2018
- Level of description
Sub-Series
- Extent and medium of the unit of description
8 วิดีโอ
- Name
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- Administrative / Biographical History
ที่มาของนิทรรศการ
การแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างประเทศไทยและมลรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา โดยการดำเนินการของศูนย์ศิลปะเลอลิว (Le Lieu, Quebec City) และศูนย์บ้านตึก (Concrete House, กรุงเทพฯ-นนทบุรี) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยศูนย์ศิลปะเลอลิว ได้เชิญ จุมพล อภิสุข ศิลปินไทยร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติและศิลปินจากภูมิภาคเอเชียอีก 4 ประเทศ นับจากนั้นก็มีศิลปินไทยอีกหลายคนได้เดินทางไปแสดงผลงานที่ควิเบกด้วยการเชิญของศูนย์ศิลปะเลอลิว อาทิ วสันต์ สิทธิเขต ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง จิตติมา ผลเสวก เป็นต้น สำหรับจุมพล อภิสุข ต่อมาได้ร่วมเป็นกองบรรณาธิการนานาชาติของนิตยสาร INTER นิตยสารศิลปะการแสดงสดนานาชาติ ทำให้บทความที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแสดงสดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยได้ตีพิมพ์สู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอในทำนองเดียวกัน เมื่อศูนย์บ้านตึก-ศิลปะและชุมชน ดำเนินการจัดเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย (Asiatopia International Performance Art Festival) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ก็ได้เชิญศิลปินจากควิเบกมาร่วมแสดงในเทศกาล โดยเฉพาะริชาร์ด มาร์แตล (Richard Martel) ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะเลอลิวและบรรณาธิการนิตยสาร INTER ที่นอกจากจะร่วมแสดงในเทศกาลนี้หลายครั้งแล้ว ยังจัดเวิร์คชอปศิลปะแสดงสดที่ศูนย์บ้านตึกอีก 2 ครั้ง นอกจากริชาร์ด มาร์แตลแล้ว ศิลปินจากควิเบกคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็ได้รับเชิญมาแสดงที่ประเทศไทยด้วย
แนวคิดการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างควิเบกและกรุงเทพฯ ได้มีการพูดคุยมาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งศูนย์ศิลปะเลอลิวได้ทำการแลกเปลี่ยนศิลปินกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก อาทิ บราซิล, เม็กซิโก และโปแลนด์ ในทวีปเอเชียก็ได้จัดการแลกเปลี่ยนศิลปินที่ไต้หวัน จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจึงเห็นว่าโครงการแลกเปลี่ยนนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ที่กรุงเทพฯ
นครควิเบก เป็นสถานที่แรกที่ชาวยุโรปเดินทางมาลงหลักปักฐานในดินแดนอเมริกาเหนือช่วงต้นศตวรรษที่ 17 การเรียกชื่อเมืองตามภาษาชนท้องถิ่นว่า เคเบก แสดงให้เห็นถึงความพยายามผสมกลมกลืนกับชนเผ่าท้องถิ่นในดินแดนใหม่ของคนขาว นครควิเบกในอีกทางหนึ่งคือถิ่นฐานแรกของผู้อพยพจากดินแดนอื่น ในขณะที่ บางกอก แผ่นดินปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นถิ่นฐานแห่งแรกของผู้อพยพชาวจีน ลาว มอญ และชนชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาปักหลักทำมาหากิน เมื่อราว 400 กว่าปีมาแล้ว บางกอกหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน จึงมาจากการประกอบ สร้าง และพัฒนาจากวัฒนธรรมของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากดินแดนอื่น
สองนครที่ตั้งอยู่คนละซีกโลก มีวิถีการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน ดังจะเห็นได้จากพัฒนาการด้านภาษาท้องถิ่น กรุงเทพฯ ได้พัฒนาสำเนียงภาษาของตนให้แตกต่างไปจากภาษาไทยดั้งเดิมที่ใช้อยู่ในดินแดนรายรอบ ทำนองเดียวกันกับชาวฝรั่งเศสดั้งเดิมที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในพื้นที่ควิเบก ก็ยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสที่เรียกว่า ควีเบคกวา และเป็นดินแดนเดียวในทวีปอเมริกาเหนือ ที่ยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสในแบบฉบับของตนท่ามกลางดินแดนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ธรรมชาติของวัฒนธรรมเมืองได้ก่อให้เกิดสภาพความแปลกแยก ในทางหนึ่งคือที่อยู่ชั่วคราวของผู้อพยพส่วนใหญ่ แต่ในอีกทางหนึ่งคือการลงหลักปักฐานเพื่อความมั่นคง และหลอมรวมอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมา จนความแปลกแยกนั้นได้กลายเป็นตัวตน ราวกับได้พบใบหน้าของคนแปลกหน้าอยู่ทุกคราวที่ส่องกระจก
โครงการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างกรุงเทพฯ-ควิเบก เป็นการแลกเปลี่ยนสองทาง โดยในปี พ.ศ. 2558 ศิลปินชาวควิเบกจะเดินทางมาพำนักสร้างงานในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และในปี พ.ศ. 2559 ศิลปินไทยจะเดินทางไปพำนักสร้างงานในนครควิเบก ถือเป็นโอกาสให้ศิลปินไทยได้สร้างงานในพื้นที่ใหม่ ที่มีความเป็นอยู่ ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างอเมริกาเหนือและยุโรป เช่นเดียวกันกับศิลปินชาวควิเบก แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้ศึกษาสภาพความเป็นไปของกรุงเทพฯ มาบ้างแล้ว การเผชิญหน้าของผู้แปลกถิ่นกับมหานครในเอเชียที่สับสน วุ่นวาย อากาศที่ร้อนชื้น เสียงอึกทึกของผู้คนและยวดยานบนท้องถนน ภายใต้ความครึกโครมนั้นความสงบเป็นภาวะหนึ่งที่ชุมชนหลากหลายในกรุงเทพฯ แสวงหาและหวังจะได้ค้นพบ
การสะท้อนผลงานของศิลปินจากเมืองหนึ่งในสภาวะใหม่ของอีกเมืองหนึ่ง เป็น “ภาวะเผชิญหน้า” และมีโจทย์คือเวลาอันสั้น ศิลปินจะต้องผสมผสานความสำนึกอันฝังแน่นอยู่ภายใต้ผิวหนังหุ้มร่างกาย ออกมาปะทะกับภาวะที่เขาไม่รู้จักมาก่อน “Encounter with Strangers” คือหัวข้อที่อธิบายภาวะนี้ได้ดี ผู้ชมเองจะได้เห็นภาพของกรุงเทพฯ ผ่านสายตาของผู้แปลกหน้า สะท้อนมุมมองและแนวคิดที่แตกต่างไป กระตุ้นให้ครุ่นคิดถึงบ้านเมือง ความเป็นอยู่ และตัวตนในฐานะผู้พำนักอาศัย
- Archival History
วันที่จัดกิจกรรม: 26 กันยายน – 25 ตุลาคม 2558
สถานที่: ห้องสตูดิโอ ชั้น 4
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายศิลปินเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ได้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองควิเบก ระหว่างปี พ.ศ.2558-2559 เพื่อพัฒนาการทำงานเครือข่ายศิลปินในระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้มุมมองทางศิลปะและวัฒนธรรมจากศิลปินต่างชาติ“ประชิด-แปลกหน้า” นิทรรศการศิลปินในพำนักจากเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา นำเสนอผลงานของกลุ่มศิลปินเมืองควิเบกซึ่งเดินทางมาพำนักและสร้างสรรค์ผลงานที่กรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลาพำนัก 2 สัปดาห์ ศิลปินจะผสมผสานสำนึกอันฝังแน่นของตนออกมาปะทะกับภาวะที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน การเผชิญหน้าของผู้แปลกถิ่นในมหานครเอเชียที่สับสน วุ่นวาย อากาศร้อนชื้น เสียงอึกทึกของผู้คนและยวดยานบนท้องถนน “Encounter with Strangers” คือคำอธิบายของสภาวะเช่นนี้
- Immediate source of acquisition or transfer
ฝ่ายเครือข่ายศิลปะ
- Scope and content
- Related units of description
วิดีโอ
- Note
Camille Bernard-Gravel : ผลงานของฉันได้แรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เรียบง่าย ฉันสนใจการผสมผสานธรรมชาติเข้ากับวัตถุที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งฉันมองว่ามันเป็นการสร้างจิตวิญญาณขึ้นมาใหม่ด้วยความจริงอีกแบบหนึ่ง ด้วยภาพจากวิดีโอ เสียง และการจัดวางวัตถุ ฉันจะจำลองปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นมา ด้วยวัสดุธรรมดาๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป เพื่อจำลองการเกิดขึ้นของน้ำฝน สายลม ภาพเงาบนผิวน้ำ เสียงของธรรมชาติ และอื่นๆ ฉันหวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่น่าทึ่งและได้รับอะไรกลับไปจากการมาชมงานชิ้นนี้
Catherine Bélanger
ฉันหลงใหลในการบันทึก การอนุรักษ์ และการส่งต่อและถ่ายทอดศิลปะการทำอาหาร ฉันอยากจะเก็บบันทึกเรื่องราวและภาพการทำอาหารเหล่านี้ไว้ก่อนที่มันจะสูญหายไป นอกจากนี้ฉันยังต้องการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของวิถีชีวิตของคนธรรมดาๆ ที่เรามักจะมองข้ามไป แต่พวกเขาเหล่านี้คือรากฐานสำคัญของสังคม ฉันสนใจและรู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบของฉันในการหยิบเอาธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไปจากอดีตจนถึงปัจจุบันมาแสดงและถ่ายทอดใหม่ให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้น
Cynthia Dinan-Mitchell
ฉันเติบโตในเมืองที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส งานของฉันเลยจึงมักจะถ่ายทอดการผสมผสานของสองวัฒนธรรม สำหรับนิทรรศการนี้ ฉันจะสร้างสรรค์เสื้อผ้าโบราณของประเทศแคนาดาขึ้นมาใหม่ด้วยผ้าไทย และในทางตรงกันข้าม ฉันจะตัดเย็บชุดแบบไทยด้วยผ้าจากประเทศแคนาดา ผ้าไทยมีลวดลายสวยงาม ละเอียด มีการปักผ้าเยอะ ซึ่งต่างจากผ้าของแคนาดามากที่ส่วนใหญ่จะหนามาก และมักจะทำจากขนสัตว์ เพราะว่าหนาวมาก ฉันคิดว่าการเปรียบเทียบให้เห็นความต่างของผ้าสองแบบนี้จะน่าสนใจมากๆ
Giorgia Volpe
งานศิลปะของฉันได้แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมและวัตถุต่างๆ ในครอบครัวและชีวิตประจำวัน ผลงานของฉันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วยการสำรวจพื้นที่รอยต่อระหว่างภายนอกและภายใน ตัวบุคคลและสังคม ความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ ความเป็นจริงและจินตนาการ ฉันต้องการศึกษาความเป็นไปของโลกคู่ขนานสองโลกนี้ ด้านหนึ่งคือเรื่องราวของสังคมที่ว่าด้วยชุมชนอันหลากหลายและให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความทรงจำเป็นมวลรวม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลที่ประกอบไปด้วยความทรงจำส่วนตัวที่ส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ผ่านภาพถ่าย วิดีโอ และการจัดวาง
Marc-André Jésus
งานของผมเป็นการบันทึกเรื่องราวด้วยภาพถ่ายแบบ In situ ที่จะพาผู้ชมไปสำรวจขีดจำกัดของอัตลักษณ์ทางเพศของหนึ่งในเมืองที่ได้ชื่อว่าเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างทางเพศมากที่สุดในโลก กรุงเทพฯ ถือเป็นแดนสวรรค์สำหรับคนนอกที่ถูกกักขังอยู่ในเพศสภาพที่เขาไม่ต้องการและถูกสังคมเข้าใจผิด ผมหวังว่างานชิ้นนี้จะช่วยลดทอนอคติที่สังคมมีต่อกลุ่มคนแปลงเพศและชุมชนรักร่วมเพศในกรุงเทพฯ ระหว่างการทำงานชิ้นนี้ ตัวผมเองก็ต้องเผชิญหน้ากับเพศสภาพของตนเองที่สังคมตะวันตกมองว่าผิดแผกแตกต่าง ภายใต้บริบทของสังคมเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ผมหวังว่าความขัดแย้งที่เกิดจากความเป็นส่วนตัวที่สื่อออกมาในชิ้นงานกับสไตล์การถ่ายแบบ hyper-realistic จะทำให้ผมสร้างสรรค์ชิ้นงานที่น่าทึ่งและกระตุ้นความคิดให้กับผู้ชมMarie-Claude Gendron
ผลงานของฉันชื่อ Act of Immobility ซึ่งเป็นการแสดงสดในพื้นที่สาธารณะ โดยต้องการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในพื้นที่สาธารณะ หากมีการเคลื่อนไหวหรือการแสดงที่ผิดแปลกไปจากปกติ อะไรจะเกิดขึ้น หัวใจของงานนี้คือความอดทนอดกลั้นต่อการถูกจำกัดพื้นที่ โดยฉันจะนั่งนิ่งๆ ในพื้นที่สาธารณะที่มักจะมีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด พื้นที่ที่ปกติแล้วคุณจะไม่ทำอะไรแปลกประหลาด ผิดปกติ โดยฉันไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ไม่รู้ว่าคนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันจะนั่งอยู่นิ่งๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยจะมีกล้องวิดีโอบันทึกภาพไว้ งานของฉันจะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและภูมิทัศน์ของเมือง และปัจเจกชนกับสังคมเมือง
Patrick Altman
สำหรับนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผมตั้งใจจะนำเสนองานภาพถ่ายแบบจัดวาง ภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์และการสูญเสียของเมืองที่ได้รับผลกระทบจากระบบนิเวศน์ โดยจะเป็นการแสดงงานภาพถ่ายขนาดเล็กจำนวน 400-500 ภาพ นำมาจัดวางลงบนผนัง เรียงสีไล่ระดับกันจากภาพสีดำสนิทไปจนถึงภาพสีตามธรรมชาติ จนกลายเป็นผลงานในเชิงนามธรรม โดยรูปร่างและขนาดของการจัดวางนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่ที่จัดแสดง
Renaud Philippe
ผมเป็นช่างภาพเชิงวารสาร ผมชอบเล่าเรื่องราว ผมชอบทำงานในเอเชีย มักจะโฟกัสการทำงานที่ประเทศในแถบนี้ครับ ไม่รู้ว่าทำไม แต่รู้สึกมีชีวิตชีวาเวลาอยู่ที่นี่ ผมมองเห็นชีวิต รับรู้ได้ถึงความมีชีวิตอยู่ ผมอยากสร้างงานภาพถ่ายที่มีพลัง แต่ผมไม่ได้คาดหวังอะไรเลย ถ้าผมคาดหวังไปก่อน มันมักจะไม่เป็นไปตามนั้น ผมมาแบบสบายๆ ไม่คาดหวังแต่รู้ว่าอยากจะทำอะไร ตอนอยู่ควิเบก ผมอ่านเจอว่ากรุงเทพฯ กำลังจมลง และนั่นก็จะเป็นประเด็นของผม ประเด็นของผมคือทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน คน เมือง ทุกอย่าง และธรรมชาติมีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสร้าง เรามักจะหลงลืมสิ่งนี้ไป แต่มนุษย์เป็นแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ ของโลกทั้งหมด นั่นล่ะสิ่งที่ผมอยากจะสื่อ - Rules or Conventions
อ้างอิงระบบ ISAD (G) ในการอธิบายชุดเอกสาร
- Date(s) of descriptions
17.02.2018