Performance

ละคร “ก่อนจบ 2553”


ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ร่วมกับ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ขอเชิญชม
“ก่อนจบ 2553”
เทศกาลละครวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์และศิลปนิพนธ์ของนิสิตระดับปริญญาโทและตรี
16 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ 2553 (เฉพาะเสาร์และอาทิตย์)
ชมฟรีทุกเรื่อง ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร


ผลงานสารนิพนธ์และวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับปริญญาโท


สัปดาห์ที่ 1: เสาร์ที่ 16 และอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 

1.1 เจ้าหญิง (Princess) ละครประเด็นศึกษา เขียนบทและกำกับการแสดงโดย
ริญญาภัทร์ นิธิภัทรอนันต์ ตั้งคำถามว่า การแปลงโฉมคืออะไร สวยคืออะไร เล่าเรื่องเจ้าหญิงแสนงามที่ต้องคำสาปให้มีผมขาวราวกับคนแก่ เธอเชื่อว่าสิ่งนี้ทำให้เธอไม่มีคนรัก ไม่มีคนสนใจ และเธอเชื่อว่าคำสาปนั้นสามารถแก้ได้ด้วยการแต่งงานกับเจ้าชายที่สมบูรณ์แบบ 
1.2 บ้านใหม่ (The Return) การอ่านบทละครแต่งใหม่ โดย โรจนินทร์ ลีนะพรพัฒน์ 
การเดินทางด้วยรถไฟของชายวัยบั้นปลายชีวิตไปที่บ้านใหม่ บ้านหลังที่เติมเต็มและเก็บความฝันของเขาไว้ตั้งแต่กว่าสามสิบปีก่อน เพื่อหวังไปพบและคืนดีกับหญิงสาวคนที่เขารักที่สุด การเดินทางภายในจนไปเห็นปลายอุโมงค์แห่งความว่าง คือ การเดินทางเพื่อเข้าใจจนมองเห็นว่าสรรพสิ่งคือสิ่งไหลเรื่อยอันไม่อาจจับยึดใดๆได้
1.3 เบญกาย (Benyakai) การแสดงร่วมสมัยจากบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่1 และ 2 กำกับการแสดงโดย ธนภรณ์ แสนอ้าย เป็นงานศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการสร้างท่ารำและลีลาการรำ จากการตีความตัวละครแบบตะวันตก กรณีศึกษานางเบญกาย จากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย โดยจะนำเสนอการแสดงทดลอง 2 ช่วง คือ ช่วงที่นางเบญกายมาพบนางตรีชฏาเพื่อลาไปทำกลลวงพระราม และช่วงที่ทศกัณฐ์เข้าใจผิดคิดว่านางสีดามาหาตนแท้จริงคือนางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดา (ตอนลงเกี้ยว)
1.4 ละคร: มายา: นำพา: เรียนรู้ (Drama as a Magic Tool!) วีดิทัศน์รายงานความคืบหน้าผลงานการวิจัยของ จิตสุภัค ตันติเกษตรกิจ การใช้กิจกรรมละครเป็นเครื่องมือช่วยสอนในรายวิชา“ภาษาไทยเพื่อกิจกรรมการแสดง” ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
1.5 เร้า-มายา (Uncovered Mae-Nak) การนำเสนอผลงานวิจัย โดย พรพิชชา บุญบรรจง ว่าด้วยการถอดรหัสความเป็นผู้หญิงในเรื่อง แม่นาก
1.6 บทละครสู่บทเรียน (Sparkleshark in Classroom) การบรรยายประกอบวีดิทัศน์ ของ บุณฑริกา มั่งคั่ง ว่าด้วยงานวิจัยเรื่องการนำบทละครเรื่อง Sparkleshark ของ Phillip Ridleyเข้าไปใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสอนวิชาศิลปะการละครของโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้นักเรียนเข้าใจในตัวรายวิชาได้ง่ายและชัดเจน บทละครเรื่องนี้มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยรุ่น จึงทำให้นอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้ด้านศิลปะการละครแล้ว นักเรียนจะได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่นอีกด้วย
 
ผลงานศิลปนิพนธ์ของนิสิตปริญญาตรี
 
สัปดาห์ที่ 2: เสาร์ที่ 23 และอาทิตย์ที่ 24 มกราคม
2. ภารกิจพิชิตฝัน จาก Rockway Café ของ Max Bush ดัดแปลงและกำกับการแสดงโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ ละครพูดกึ่งละครเพลง เรื่องราวของ “ส้มโอ” เด็กหญิงมัธยมต้นธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดา) ที่ต้องขึ้นร้องเพลงคนเดียวบนเวทีหอประชุมโรงเรียน เธอไม่มั่นใจและอยากให้งานนี้จบๆไป ในโลกแห่งความจริงที่ไม่มีเวทมนตร์พาเธอข้ามเวลาไปได้ ฉะนั้น คนเดียวที่เธออยากให้ช่วยก็คือ ซอล เพื่อนเธอในจอทีวี!
 
สัปดาห์ที่ 3: เสาร์ที่ 30 และอาทิตย์ที่ 31 มกราคม
3.1 เด็กพิเศษ (The Boy in a Room) การอ่านบทละครแต่งใหม่โดย นภัค ไตรเจริญเดช เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กออทิสติก และคนรอบข้าง
3.2 มีเธอ (Therefore I Am) การอ่านบทละครเพลงโดย ชนก ชาตะวราหะ บทละครเพลงแต่งใหม่แนว Jukebox Musical ที่ใช้เพลงของธงไชย แมคอินไตย์ มาเล่าเรื่องของการกลับมาเจอกันของแม่ลูกคู่หนึ่งที่ห่างหายกันไปเกือบสิบปี และครั้งนี้ ทั้งคู่จะได้เรียนรู้บางอย่างซึ่งกันและกัน
3.3 ไอน์สไตน์ มาย ก๊อด! (Einstein, My God!) การอ่านบทละครแต่งใหม่ประกอบสื่อผสม ผลงานของ เกียรติภูมิ นันทานุกูล เมื่อไอน์สไตน์กลายเป็นพระเจ้าองค์เดียว ยึดเหนี่ยวคน 2 ศาสนา และพวกเขากำลังจะฆ่ากัน แต่ชายคนหนึ่งกลับพิสูจน์ได้ว่าพระเจ้าของพวกเขาเป็นเรื่องโกหก 
3.4 รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก จาก Details Cannot Body Wants ของ 
Chin Woon Ping แปลโดย นท นทีรัย ดัดแปลงและแสดงเดี่ยวโดย พัชรกมล จันทร์ตรี นำเสนอมุมมองของโลกภายนอกที่มีต่อผู้หญิงเอเชียโดยถ่ายทอดผ่านการร้อง เล่น เต้น พูด ในรูปแบบของศิลปะตะวันออกต่างๆ แบ่งเป็น 4 ส่วน Details ความยิบย่อยในชีวิตที่ผู้หญิงปฏิเสธไม่ได้ Cannot กฎเกณฑ์ที่ตีกรอบอัตลักษณ์ของผู้หญิงไว้ Body ร่างของผู้หญิงที่ถูกนิยาม และ Wants ความปรารถนาของผู้หญิงที่จะต้องระงับ
 
สัปดาห์ที่ 4: เสาร์ที่ 6 และอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์
4. หรรษาราตรี ดัดแปลงจาก Twelfth Night สุขนาฏกรรมชื่อดังของ William Shakespeare กำกับการแสดงโดย ชวัตถ์วิช เมืองแก้ว เรื่องราวของคู่พี่น้องฝาแฝดไวโอลากับเซบาสเตียนเรือแตกคลื่นซัดมาเกยคนละหาด น้องสาวเอาตัวรอดด้วยการปลอมเป็นหนุ่มน้อยรับใช้ใกล้ชิดจนตกหลุมรักกับเจ้านายหนุ่มใหญ่ออร์ซีโน ผู้กำลังพร่ำเพ้อถึงโอลีเวีย แต่เธอกำลังอาลัยรักพี่ชายที่จากไปจนไม่ยอมรับรักใครเลย ไวโอลาจึงถูกออร์ซีโนใช้ให้ช่วยจีบโอลีเวียแทน ปรากฏว่าโอลีเวียกลับมาถูกใจไวโอลาในภาคหนุ่มหน้าใสเข้าอย่างจัง รักครั้งนี้จึงพัลวันสุดๆ ขอยืนยันว่าบทละครคลาสสิคของอังกฤษเรื่องนี้ คนไทยที่ห่างออกไปห้าพันไมล์ในสี่ร้อยกว่าปีต่อมาก็สนุกได้!
 
สัปดาห์ที่ 5: เสาร์ที่ 13 และอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์
5. หมอผีครองเมือง จาก The Crucible ของ Arthur Miller กำกับการแสดงโดยมาลินดา ภมรสุวรรณ อ้างอิงจากเค้าโครงเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ จากคดีล่าแม่มดซาเล็ม เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ประหลาดกับเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านที่เหมือนกับถูกเอาวิญญาณไปซึ่งเมื่อสอบสวนความจริง พวกเด็กๆ และทาสก็ต่างยอมรับว่าแม่มดในหมู่บ้านล่อลวงให้ทำชั่วและทำร้ายพวกเขา แต่พร็อคเตอร์ชาวไร่คนหนึ่งในหมู่บ้านกลับรู้ความจริงจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งว่าเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้น การสืบสวนคดีล่าแม่มดอย่างเข้มข้น และความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริงก็เริ่มขึ้น
 
การแสดงทั้งหมดจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 16 มกราคม ถึง วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ (เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์) วันละ 2 รอบ เริ่มเวลา 14.00 น. และ 18.00 น. เปิดให้ชมฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองบัตรล่วงหน้าได้ที่ โทร.0  2218 4802 หรือ  08 1559 7252 และที่ [email protected] ติดตามความคืบหน้าของเทศกาลได้ที่ www.KornJob.co.cc