Literature

Bangkok Creative Writing Workshop


โครงการ Bangkok Creative Writing Workshop (ค่ายเขียนงานสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร)
(ทุกวันเสาร์) เวลา 10.15 – 12.00 น.
ผู้จัด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ Bookmoby

เชิญชวนผู้สนใจที่รักการเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ เข้าร่วมการออบรมในโครงการ Bangkok Creative Writing 

กำหนดการบรรยายของวิทยากร
เสาร์ที่ 5 พ.ค.
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา
นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สังคม ผู้สนใจอาหาร เรื่องเพศ ภาพยนตร์ไปจนถึงสิ่งสรรเพเหระทั้งหลาย
 
เสาร์ที่ 12 พ.ค.
– วินทร์ เลียววาริณ
นักเขียนสองรางวัลซีไรต์ เจ้าของผลงาน 'ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน' และ 'สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน'
 
เสาร์ที่ 18 พ.ค.
– อุทิศ เหมะมูล
นักเขียนนวนิยาย 'ลับแล-แก่งคอย' และเจ้าของรางวัลซีไรต์สาขานวนิยายปี 52
 
เสาร์ที่ 26 พ.ค.
– วรพจน์ พันธุ์พงศ์
นักเขียนสารคดีและมือสัมภาษณ์มือวางอันดับต้นๆ ของเมืองไทย
 
เสาร์ที่ 2 มิ.ย.
– วาด รวี
นักเขียน-นักวิจารณ์ และบรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดิน
 
เสาร์ที่ 9 มิ.ย.
– ซะการีย์ยา อมตยา
กวีซีไรต์ เจ้าของผลงาน "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี"
 
สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่
โทร. 02 214 6630-8 ต่อ 530

ประวัติวิทยากร
 
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา 
นักวิชาการชาวไทยด้านสังคมศาสตร์ที่มีความถนัดและผลงานทางด้านปรัชญา, ทฤษฎีสังคม, อาหาร, เพศ และ ประวัติศาสตร์สังคม มีฉายาที่เป็นที่รู้จักกันในวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์ว่า "เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น" ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบรรณาธิการ "รัฐศาสตร์สาร" มีคอลัมน์เกี่ยวกับดนตรีและภาพยนตร์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ โดยใช้นามปากกา "ธนา วงศ์ญาณณาเวช" และผลิตผลงานทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง
 
– วินทร์ เลียววาริณ
วินทร์ เลียววาริณ สนใจงานศิลปะตั้งแต่เล็ก ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ แต่เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีคณะวิชาทางด้านศิลปะให้เลือกมาก จึงเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรุ่น 2518 ระหว่างเรียนหนังสือ เขาเขียนนิยายภาพขายด้วย
หลังจบปริญญาตรี สถ.บ. ได้วันเดียว วินทร์ เลียววาริณ ก็เดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ทันที เป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์ราวสามปีเศษ ก็เดินทางไปทำงานเป็นสถาปนิกที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันในตอนกลางคืนก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งโดยไม่เอาปริญญา เช่น กราฟิก ดีไซน์, ภาพยนตร์, แอนิเมชัน, การตัดต่อหนัง และด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกยุคเริ่มต้น ซึ่งเป็นของใหม่ในเวลานั้น เมื่อจบแล้วกลับเมืองไทยมาทำงานในวงการโฆษณา เริ่มชีวิตคนโฆษณาด้วยตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ และต่อมาเป็น ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ ระหว่างนั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วินทร์เริ่มต้นการเขียนหนังสือในรูปนิยายภาพ แต่งเรื่อง และวาดภาพ แต่เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นเมื่อเริ่มทำงานโฆษณา เขียนเรื่องสั้นจำนวนหนึ่งเก็บไว้เล่นๆ โดยไม่คิดจะเป็นนักเขียน จวบจนวันหนึ่งเมื่อเรื่องสั้นแนวหักมุมจบ ไฟ ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารอิมเมจ (อยู่ใน สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง) ก็เริ่มเขียนจริงจังมากขึ้น ตรงกับช่วงการกลับมาของนิตยสารช่อการะเกดยุคที่สองพอดี จึงกลายเป็นสนามทดลองของเขา งานเขียนแนวทดลองทั้งหมดก็มีจุดเริ่มต้นที่นิตยสารช่อการะเกด รางวัลวรรณกรรมแรกๆ ในชีวิตก็เกิดที่สนามช่อการะเกด เช่น โลกีย-นิพพาน (2535 อยู่ใน อาเพศกำสรวล), การหนีของราษโลกสามใบของ ราษฎร์ เอกเทศ (2538) และ ตุ๊กตา (2541) ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมประจำปี 2535, 2538 และ 2541 ตามลำดับ (อยู่ใน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน)
นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลวรรณกรรมอื่นๆ เช่น เช็งเม้ง (2541) ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือ ปี 2541 (อยู่ใน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน), รางวัลซีไรต์สองสมัยจากนวนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (2540) และรวมเรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (2542) ได้รับรางวัลศิลปาธรในปี พ.ศ. 2549 
ปัจจุบันเขายังผลิตงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง
 
– อุทิศ เหมะมูล
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2518 ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนแก่งคอย จ.สระบุรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกวิชาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ และยังคงทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องอาทิ ผลงานรวมเล่มที่ผ่านมาคือ ผลงานเรื่องสั้น ปริมาตรรำพึง (สำนักพิมพ์หวีกล้วย) และ ไม่ย้อนคืน (แพรวสำนักพิมพ์) ส่วนนวนิยาย ได้แก่เรื่อง ระบำเมถุน จากสำนักพิมพ์ สเกล และ กระจกเงา / เงากระจก (สำนักพิมพ์หวีกล้วย) และบทความ ได้แก่ 151 CINEMA จาก(สำนักพิมพ์ open books) และ OUTSIDER IN CINEMA จาก(สำนักพิมพ์ open books) เป็นต้นก่อนจะคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม แห่งอาเซียน (ซีไรต์ ) ประจำปี 2552 จากนวนิยายเรื่อง ลับแล,แก่งคอย
 
– วรพจน์ พันธุ์พงศ์
นักเขียนอิสระที่ผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ผลงานของเขามีทั้งความเรียงและบทสัมภาษณ์ อาทิ เศษทรายในกระเป๋า, ที่เกิดเหตุ, ไปตามเส้นทางของเรา, เสียงในความทรงจำ จนมาถึง "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ปัจจุบันร่วมกับบินหลา สันกาลีคิรีทำนิตยสารรายเดือนที่ชื่อ "ไรท์เตอร์"
 
– วาด รวี
วาด รวีเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นอย่างแรก และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารช่อการะเกดของบรรณาธิการสุชาติ สวัสดิ์ศรี เขาทำงานเรื่องสั้นเป็นหลัก เขียนบทกวีบ้าง ความเรียงบ้าง เป็นนักเขียนอิสระ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เร่ร่อนไปเรื่อย มีผลงานตีพิมพ์ตามนิตยสารสม่ำเสมอ 
เขาไม่เคยทำหนังสือมาก่อนจึง เข้าไปปรึกษากับเวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งมีนักเขียนหรือกวีเข้าไปปรึกษาเรื่องการทำหนังสืออยู่เสมอ เวียง-วชิระจึงตั้งสำนักหนังสือใต้ดินขึ้นมา พิมพ์งานเล่มแรกคือนกเชิงภูเขาหลวง ของธัช ธาดา
ตอนนั้นเป็นช่วงฟองสบู่แตก หลังฟองสบู่แตกเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดหนังสือย่ำแย่ สำนักพิมพ์ถอยกันหมด ไม่พิมพ์งานออกมาง่ายๆ วรรณกรรมยิ่งไม่มีใครกล้าพิมพ์ ดังนั้น นักเขียนจึงต้องพิมพ์กันเอง และวาด รวีก็จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในนามสำนักหนังสือใต้ดิน
ผลงานอื่นๆของเขา อาทิ Fighting Publishers: ประวัติศาสตร์นักทำหนังสือกบฏ (ฉบับใต้ดิน) ,ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์ 
 
– ซะการีย์ยา อมตยา 
ซะการีย์ยา อมตยา หรือที่รู้จักกันในนาม เช ปุถุชน เป็นกวี นักเขียน นักแปลชาวไทย เจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2553 สาขากวีนิพนธ์ จากผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เขาเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านกะลุแป ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียน อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และวิทยาลัย ดารุล อูลูม นัดวะตุล อุลามาอ์ สาขาอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับเป็นเวลา 5 ปีเต็ม โดยต่อมาเมื่อกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดก็เลือกเข้าเรียนต่อสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงเวลาที่ศึกษาในประเทศอินเดีย ได้บ่มเพาะตัวตนกวีและความสนใจด้านนี้ทีละเล็กละน้อย ประกอบกับบรรยากาศและวัฒนธรรมของวิทยาลัยได้มีส่วนช่วยส่งเสริมความสนใจในบทกวี วรรณกรรมต่างประเทศ และปรัชญา ต่อมาเมื่อศึกษาถึงชั้นปีที่ 3 ได้ลงเรียนวรรณคดีอาหรับทั้งยุคคลาสสิค ยุคกลาง และงานร่วมสมัย เช่น งานกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ที่ได้เริ่มศึกษาและดื่มด่ำลึกซึ้งมากขึ้น จากอินเดียสู่ไทย บทกวีที่ภายหลังได้รับการนิยามว่าไร้ฉันทลักษณ์ ได้เริ่มทวีจำนวนมากขึ้นตามรายทางชีวิต กอปรกับปณิธานที่อยากเป็น “สะพาน” เชื่อมวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วยภาษา ทำให้มีงานแปลออกมาหนึ่งเล่ม ในชื่อ “ด้วยจิตวิญญาณอันเปี่ยมสุข” แต่ไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง และต่อมามีผลงานของตัวเองทยอยเผยแพร่สู่โลกอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างรวมทั้งเว็บบล็อคต่างๆ กระทั่งก่อตั้งเว็บไซต์ www.thaipoetsociety.com เพื่อเป็นสาธารณรัฐกวีนิพนธ์หรือชุมชนทางเลือกแก่ผู้ชมชอบบทกวี ตั้งแต่พ.ศ. 2547 ผลงานแปลและบทกวีของซะการีย์ยาได้ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ วารสาร จนเริ่มเป็นที่รู้จักชื่อเสียงเรียงนาม กระทั่งวันหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจอยาก “รวมเล่ม” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยอยู่ในความคิด จึงกลายมาเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” รวมบทกวีเล่มแรกในรอบกว่าสิบปีที่สร้างสรรค์งานมา ปัจจุบันยังคงหาความรู้ด้านวรรณกรรม เขียนและแปลบทกวีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมไปกับขับเคลื่อนงานกวีนิพนธ์ในมิติอ่านออกเสียง ทั้งได้พยายามบ่มเพาะนิยายที่เกี่ยวกับบ้านเกิดมากว่าสองปีแล้ว
 

Image Gallery