Main Exhibition 789
บารมีแห่งแผ่นดิน
“บารมีแห่งแผ่นดิน” นิทรรศการที่สื่อให้เห็นถึงพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดิน ผ่านการนำเสนอในหลากหลายมิติแห่งศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย ภาพจิตรกรรม ศิลปะการจัดวาง และการแสดงร่วมสมัย อันเป็นที่ประจักษ์ถึงซึ่งพระวิริยะ และพระอุตสาหะที่ทรงส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงมาโดยตลอด
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดเตรียมนิทรรศการ “ภาพของพ่อ…บารมีแห่งแผ่นดิน” ไว้ที่ชั้น 9 โดยรวบรวมผลงานทัศนศิลป์พระบรมสาทิสลักษณ์ ที่หาชมได้ยาก และมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ไทย จากศิลปินในสาขาทัศนศิลป์ ตั้งแต่ศิลปินอาวุโส จนถึงศิลปินร่วมสมัย จำนวนกว่า 30 คน ที่ได้ถ่ายทอดทัศนะในความงามเชิงสุนทรียศิลป์ และการตีความหมายในบริบทของสังคม ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลป์ นิทรรศการนี้มุ่งหวังที่จะสะท้อนความรู้สึก จิตวิญญาณ ภาพในใจและความประทับใจของแต่ละศิลปิน ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 77 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2552 วันที่คนไทยถือว่าเป็น “วันแม่” ในนิทรรศการ “บารมีแห่งแผ่นดิน” ยังได้จัดให้มีนิทรรศการภาพถ่ายที่หาชมได้ยาก ในคราวที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนมิตรประเทศในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย และออสเตรเลีย และได้ถูกตีพิมพ์ในสื่อต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ
นิทรรศการ “โขนพรหมาศ” ที่ได้รวบรวม พัสตราภรณ์ ศิราภรณ์ เครื่องประกอบฉาก และฉาก จำนวนกว่าร้อยชิ้น ที่นำมาจากการจัดแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติเมื่อพุทธศักราช 2550 และโขนพระราชทานในพุทธศักราช 2552 นี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ให้คนไทยได้ร่วมชื่นชมกับศิลปะอันงามวิจิตร และเป็นความภาคภูมิใจในศิลปะและวัฒนธรรมชั้นสูงของชาติ
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยภายใต้แนวคิด “ความเงียบ…จากเพลงกล่อม” ผลงานศิลปะโดย 2 กวี 7 ศิลปิน ที่นำเสนองานในนิยามของคำว่า “แม่” และ “ผู้หญิง” ถ่ายทอดผ่าน จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะการจัดวาง รวมทั้งบทกวีและเพลงกล่อมพื้นบ้าน 4 ภาค ที่ล้วนมีความหมายและความผูกพันต่อผู้เป็นแม่และลูก
นิทรรศการ “บารมีแห่งแผ่นดิน” จัดร่วมกับวาระเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดในวันที่ 19 สิงหาคม 2552
รายละเอียดของนิทรรศการและร้านค้าในแต่ละชั้น
ชั้นที่ 1 พื้นที่ของร้านค้า สำหรับผู้รักงานศิลปะในกลุ่มของละคร ดนตรี และการศึกษา อาทิ ร้านสำนักพิมพ์นานมีบางกอกโอเปร่า สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิตมหาวิทยาลัยศิลปากร และภัทราวดีเธียเตอร์ที่จะเปิดพื่นที่ในการสาธิตและการแสดงร่วมสมัย
ชั้นที่ 2 แหล่งรวบรวมผลงานวรรณกรรม จาก สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาล ที่ 9, ชมรมหนังสือสัญจร, มูลนิธิหนังไทย และภาพยนตร์ต่างๆ จาก หอภาพยนตร์ และ Art4d รวมถึงกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จาก Art4d, หอศิลป์ตาดู, และกลุ่มการ์ตูน
ชั้นที่ 3 ที่ตั้งของร้านค้าตามพระราชดำริ 4 ร้าน ได้แก่ ร้านจิตรลดา, ร้านภูฟ้า, ร้านกาแฟดอยตุง, และร้านแม่ฟ้าหลวงไลฟ์สไตล์ รวมทั้งร้านขายอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รวมทั้งยังมีนิทรรศการ
”เส้นทางสายพระราชไมตรี” แสดงเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ปี 2503 นอกจากนี้ยังมีห้องฉายภาพยนตร์ซึ่งจะฉายสารคดีชุด “เส้นทางสายพระราชไมตรี” โดยในชั้นนี้มีทางเดินเชื่อมต่อกับทางยกระดับสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะมาใช้บริการ
ชั้นที่ 4 พื้นที่การจัดแสดงนิทรรศการ World Focus & Thai Focus นำเสนอภาพถ่ายจากมุมมองของสื่อทั้งในและต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่หาชมได้ยาก เช่น ภาพปก และบทความจากนิตยสาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแกลเลอรี่ (หรือหอศิลป์) ต่างๆ ให้ความสนใจมาร่วมเปิดอีกหลายราย อาทิ 100 ต้นสน แกลเลอรี่, อาร์เดลแกลเลอรี่, นำทอง แกลเลอรี่ และมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
ชั้นที่ 5 นิทรรศการเพลงกล่อมลูกของแต่ละภาค และนิทรรศการภาพยนตร์สั้น รวมทั้งการแสดงร่วมสมัยจากคณะละครชั้นนำหลากหลาย ที่เสนอแนวคิดต่างๆในสาระของความเป็น ”แม่” สำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย อาทิเช่นการแสดงของคนหน้าขาว, คณะละครหุ่นเสมา, คณะไก่แก้ว, New Dance Theatre, 8 Troupe, B-Boy, ครูมานพ มีจำรัส และศิลปินเดี่ยว จำปา แสนพรม เป็นต้น ที่จะจัดแสดงทุกวันศุกร์ เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม ถึง 13 กันยายน 2552
ความหมายของเพลงกล่อมลูก
เพลงกล่อมเด็กเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและค่านิยมของคนในท้องถิ่นต่างๆ คนทุกชาติทุกภาษาในโลกมีบทเพลงกล่อมเด็กด้วยกันทั้งนั้น สันนิษฐานว่าเพลงกล่อมเด็กมีวิวัฒนาการจากการเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอน ดังนั้นเพลงกล่อมเด็กบางเพลงจึงมีลักษณะเนื้อร้องที่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น จันทรโครพ ไชยเชษฐ์ พระรถเสน เป็นต้น การที่ต้องมีเพลงกล่อมเด็กก็เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน หลับง่าย และเกิดความอบอุ่นใจ
เพลงกล่อมลูกในแต่ละภาค
ในประเทศไทยเรานั้นมีเพลงกล่อมลูกอยู่ทั่วทุกภาค เนื้อร้องและทำนองจะต่างกันไป มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ภาคเหนือเรียก "เพลงนอนสาหล่า" "นอนสาเดอ" ภาคกลางเรียก "เพลงกล่อมเด็ก" "เพลงกล่อมลูก" ส่วนภาคใต้เรียก "เพลงชาน้อง" "เพลงเปล" "เพลงน้องนอน" และ "เพลงร้องเรือ" โดยเพลงกล่อมลูกเป็นคติชาวบ้านประเภทใช้ภาษาเป็นสื่อที่การถ่ายทอดจากปากต่อปากมาแต่โบราณ เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีบทบาทและหน้าที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน
ชั้นที่ 7 นิทรรศการร่วมสมัย “ความเงียบจากเพลงกล่อม” จาก 2 กวี 7 ศิลปิน ที่นำเสนอผลงานในนิยามของคำว่า “แม่” ที่ถ่ายทอดผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะการจัดวาง (Installation Art) และบทกวีเพื่อถ่ายทอดมิติที่หลากหลายของ “แม่” และ “ผู้หญิง”
ชั้นที่ 8 นิทรรศการการแสดงโขน ชุด พรหมาศ แบบเต็มรูปแบบ โดยแบ่งตามเนื้อหา เช่น ประวัติความเป็นมาของโขน และนิทรรศการทางดนตรี, ฉากจำลองท้องพระโรง ฉากโรงพิธี แบบสร้างฉาก เครื่องสูง, พัสตราภรณ์ และหุ่นตัวละครเอก, ถนิมพิมพาภรณ์, ศิราภรณ์ และหัวโขน พร้อมการสาธิตการทำหัวโขน, นิทรรศการภาพถ่าย, โรงปั้นช้าง และภาพลายเส้น, ห้องฉายภาพยนตร์ รวมทั้งร้านขายของที่ระลึก เช่น ซีดี ดีวีดี บันทึกภาพการแสดง, และโปสการ์ด เป็นต้น
ชั้นที่ 9 นิทรรศการภาพของพ่อ “บารมีแห่งแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมุมมองของศิลปินหลายรุ่นหลายวิธีถ่ายทอด โดยแบ่งเป็น 4 โซน ดังนี้ ในหลวงในชีวิตประจำวันของประชาชน, ในหลวงในสังคม, ในหลวงในภาพ จากแหล่งต่างๆ ที่หาชมยาก, เพลงสรรเสริญพระบารมี นอกจากนี้ มีวีดีทัศน์เพลงสรรเสริญพระบารมีจากโรงภาพยนตร์ทั่วกรุงเทพมหานคร