Main Exhibition 789

สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย


ร่วมเฉลิมฉลองปีแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย


 

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ร่วมกับเจแปนฟาวน์เดชั่น นำเสนอนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” โดยศิลปินร่วมสมัยที่โดดเด่นชาวญี่ปุ่น นิทรรศการศิลปะนี้เป็นการแนะนำอย่างเป็นทางการให้สาธารณชนรู้จักกับผลงาน
ของศิลปินญี่ปุ่น ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) อย่างเช่น การ์ตูนมังงะ และการ์ตูนอนิเมะ โดยเน้นให้เห็นถึงแนวทางสังคมและกระแสใหม่น่าสนใจที่เกิดขึ้น ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา


ผลงานอันหลากหลายที่นำมาจัดแสดงถูกคัดสรรโดย เคนจิ คูโบตะ ภัณฑารักษ์อิสระ และ โยโกะ โนเสะ ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ โตโยต้า มิวนิซิเพิล โดยมุ่งหวังให้นิทรรศการ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” นี้เป็นการสำรวจ ผลงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงหลากหลายแง่มุมทั้งกรอบความคิดและสังคมของคนร่วมสมัย จากงานจิตรกรรม ศิลปะการจัดวาง วิดีโออาร์ต ประติมากรรม ภาพถ่าย หรือแม้แต่หุ่นยนต์ขนาดใหญ่สูงกว่า 7 เมตรตามด้วยหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว นิทรรศการร่วมสมัยนี้นำเสนองานทัศนศิลป์ที่ประกอบด้วยรายละเอียดทางศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยพลังในการสร้างสรรค์ และแฝงความหมายล้ำลึกเกี่ยวเนื่องกับสังคมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น นิทรรศการนี้จะเป็นการรวบรวมผลงานกว่า 40 ชิ้นจากศิลปินญี่ปุ่น 17 คน

 
วัฒนธรรมญี่ปุ่นในรูปแบบของการ์ตูนมังงะ การ์ตูนอนิเมะ เกมส์ ดนตรี วรรณกรรม และภาพยนตร์ ไม่ใช่รูปแบบ ทางวัฒนธรรมรูปแบบเดียวที่ผ่านเข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยเท่านั้น แต่อิทธิพล นี้ยังได้แผ่ขยายไปถึง อาหาร เสื้อผ้า จนถึงที่พักอาศัย นิทรรศการ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” จึงเป็นโอกาสให้ผู้ชม ในวงกว้างสามารถมองเห็นและรับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นและจินตนาการที่เกิดขึ้นจาก มุมมองทางศิลปะ และนอกจากงานศิลปะแล้วยังมีกิจกรรมเสวนาระหว่างศิลปินไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการบรรยาย จากศิลปินญี่ปุ่นต่อสาธารณชน โดยเฉพาะนักศึกษาไทย ซึ่งท้ายที่สุดจุดประสงค์ของนิทรรศการคือการก่อให้เกิด มุมมองที่เป็นประโยชน์ ในการสร้างความเข้าใจเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต
 
นิทรรศการ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจากเจแปนฟาวน์เดชั่น เพื่อเฉลิมฉลองปีแลกเปลี่ยน ระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น
 
 
แนวความคิด
 
วัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่นมีการเสนองานการ์ตูน และตัวละครอนิเมชั่น ซึ่งกลายมาเป็นตัวสัญลักษณ์ที่รู้จักกันทั่วโลก อาทิ โปเกมอน เฮลโล คิตตี้ และโดราเอมอน นอกจากกระแสที่กล่าวมานี้ ก็ยังมีละครทีวี นวนิยาย และอนิเมชั่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการตัดสินใจเพื่อเอาชีวิตรอดที่สามารถดึงดูดแฟน ๆ ชาวต่างชาติให้เฝ้าติดตามเรื่องราวอย่างเหนียวแน่น โลกแห่งจินตนาการอันใหม่เอี่ยมทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคมคนละขั้ว ข้างหนึ่งเป็นพวกอัตตานิยม เก็บเนื้อเก็บตัว อีกพวกจะใส่ใจกับโลกภายนอก และชอบมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งทั้งสองแบบนี้ก็สามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคสหัสวรรษใหม่นี้
 
ในนิทรรศการนี้ ความคลุมเครือของวัฒนธรรมวัยรุ่นญี่ปุ่นจะได้รับการตีความออกมาเป็นความต้องการของวัยรุ่นที่อยากจะ “Twist” และ “Shout” ศิลปินทั้ง 17 คนเสนอผลงานทั้งที่เป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม วิดิโอ ภาพถ่าย และ ศิลปะติดตั้ง ที่จะทำให้เราได้เห็นภาพยอดฮิต และคุ้นตา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงประเด็นปัญหาเร่งด่วนของสังคมญี่ปุ่น
 
ในปีที่ผ่าน ๆ มา โลกาภิวัตน์เป็นตัวเร่งการรับเอาวัฒนธรรมวัยรุ่นในเอเชีย ทำให้ความแตกต่างระหว่างทัศนศิลป์ในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มมีช่องว่างลดลงกว่าแต่ก่อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะรู้ว่าผู้ชมชาวไทยตอบสนองศิลปะร่วมสมัยญี่ปุ่นอย่างไร เมื่อผลงานเหล่านั้นถูกนำมาจัดแสดงในนครหลวงของประเทศไทยซึ่งเป็นสถานที่ที่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ผลงานหลายชิ้นอาจจะเปิดเผยแง่มุมด้านลบของวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่น เปลี่ยนความเข้าใจใหม่อย่างทันทีทันใดให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยก็เป็นได้
 
 
 
รายชื่อศิลปิน
คูซามะ ยาโยอิ (Kusama Yayoi)
ยาโนเบะ เคนจิ (Yanobe Kenji)
อาอิดะ มาโกโตะ (Aida Makoto)
โอดานิ โมโตฮิโกะ (Odani Motohiko)
ยามาโมโต เคอิสุเกะ (Yamamoto Keisuke)
คาเนอุจิ เทปเปอิ (Kaneuji Teppei)
ชิบะ มาซายะ (Chiba Masaya)
อาโอยามะ ซาโตรุ (Aoyama Satoru)
อาโอกิ ริวโกะ (Aoki Ryoko)
อิสุมิ ทาโร (Izumi Taro)
โนบิ อานิกิ (Nobi Aniki)
ทัตสุ นิชิ, ทัตสุ รอรส์ (Tatzu Nishi, Tatzu Rors)
อาเมมิยา โยสุเกะ (Amemiya Yosuke)
ชิกา ลิเอโกะ (Shiga Lieko)
ทากามิเนะ ทาดาสุ (Takamine Tadasu)
มิยาจิมา ทาสุโอะ (Miyajima Tatsuo)
เอ็นโดะ อิชิโระ (Endo Ichiro)
 
เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ถึง 10 มกราคม 2553 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เวลาทำการ 10.00 น. – 21.00 น. วันอังคารถึงวันอาทิตย์ ( หยุดทุกวันจันทร์ ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 02-214 6630-8

Image Gallery