Main Exhibition 789

รัฐสภาใหม่


นิทรรศการผลงานการประกวดแบบสถาปัตยกรรมอาคารรัฐสภา


 

แนวความคิด
 
รัฐสภา และ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการประกวดแบบทางสถาปัตยกรรมอาคารรัซสภาแห่งใหม่ โดยเป็นการรวบรวมผลงานที่เข้ารอบ ผลงานคัดเลือก และผลงานที่ชนะการประกวดแบบ รวมถึงการแสดงแนวความคิดและทีมาของการประกวด นิทรรศการนี้นำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของอาคารรัฐสภารวมถึงความคิดแลวิสัยทัศน์ของสถาปนิกชั้นนำในยุคปัจจุบันของไทย


 

“รัฐสภาใหม่”
นิทรรศการผลงานการประกวดแบบสถาปัตยกรรมอาคารรัฐสภา
 
ผู้จัด: รัฐสภา และ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ผู้จัดร่วม : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ / สภาวิศวกร / สภาสถาปนิก
 
ความเป็นมาของรัฐสภาแห่งใหม่
     อาคารรัฐสภาปัจจุบันตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมในเขตพระราชวัดุสิต โดยได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗  และแม้ได้มีการขยายพื้นที่ใช้สอยโดยการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วก็ตามแต่เนื่องจากภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น ประกอบกับการเพิ่มมากขึ้นของคณะกรรมาธิการ  ทำให้รัฐสภาขาดพื้นที่ใช้สอยในส่วนที่ทำการของสมาชิกรัฐสภาและห้องประชุมคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ  
     อีกทั้งการขยายขอบเขตของงานในส่วนราชการสังกัดรัฐสภา อันประกอบด้วยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา  ซึ่งมีการบริหารจัดการที่แยกส่วนกัน  รวมทั้งจำนวนข้าราชการที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา  ทำให้สถานที่ปฏิบัติงานของรัฐสภาในปัจจุบันอยู่ในสภาพแออัด มีปัญหาในเรื่องพื้นที่จอดรถ และการเข้าถึงพื้นที่มีความไม่สะดวก ส่งผลให้การปฏิบัติงานและดำเนินงานของรัฐสภาไม่คล่องตัวเท่าที่ควรโดยที่ผ่านมารัฐสภาได้แก้ไขปัญหาในบางส่วน ด้วยการจัดหาและเช่าสถานสำหรับเป็นสำนักงานในหลายพื้นที่ อาทิเช่น  อาคารกษาปณ์  อาคารทิปโก้ อาคารทหารไทย  อาคารดีพร้อม  และอาคารสุขประพฤติ  ซึ่งข้าราชการรัฐสภายังคงแยกส่วนกันอยู่  ทำให้เป็นอุปสรรรคในการบริหารจัดการและมีข้อจำกัดในการปฏิบัติภารกิจของสมาชิกรัฐสภาด้วยเหตุผลดังกล่าว  ในอดีตที่ผ่านมาจึงมีความพยายามที่จะก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ในสมัยนายมารุต  บุนนาค ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา     
     จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในสมัยนายชัย  ชิดชอบ  เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา  ได้มีการประชุมปรึกษาหารือเรื่องการหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ระหว่าง นายสมัคร  สุนทรเวช  นายกรัฐมนตรี   นายชัย  ชิดชอบ ประธานรัฐสภา นายประสพสุข  บุญเดช ประธานวุฒิสภา  
พันเอก ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง นายนิคมไวยวัชพานิช   รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่สองนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   เพื่อพิจารณาหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีการพิจารณาข้อดี-ข้อด้อยของพื้นที่ และพิจารณาผลการศึกษาวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   สรุปได้ว่าพื้นที่ราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่  เนื่องจากเป็นแกนของเมืองที่มีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่รัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขยายเมืองในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยการก่อสร้างถนนราชดำเนินไปสิ้นสุดที่ลานพระบรมรูปทรงม้าต่อเนื่องถึงพระที่นั่งอนัตสมาคม ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาครั้งแรก
 
จึงมีข้อสรุปเป็นมติเห็นชอบร่วมกันเลือกพื้นที่ ราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่