Main Exhibition 789
ตรรกะสังสรรค์
ผู้จัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ร่วมด้วยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป
หอศิลปฯ ชวนคิด ชวนสนทนา ชวนหาความหมาย ในนิทรรศการ “ตรรกะสังสรรค์"
กรุงเทพฯ – หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ขอเชิญชมนิทรรศการที่ชวนหาความหมายด้วยประเด็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต “ตรรกะสังสรรค์” ผ่านผลงานจัดวางใหม่ทั้งหมดของศิลปิน 8 ท่าน ตามแนวคิด “เกิด แก่ เจ็บ ตาย กิน ขี้ ปี้ นอน” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากตัวตนและผลงานของเสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน
นิทรรศการตรรกะสังสรรค์: ศิลปะแห่งการสนทนา นำเสนอศิลปะในการแสวงหาความรู้ ผ่านการตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของ ‘มนุษย์’ ที่ต่างก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งในระหว่างนั้นย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะกิน นอน ขับถ่าย และสืบพันธุ์ โดยแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งนั้นมาจากตัวตนและผลงานของเสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน ผู้เป็นสามัญชน นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ นักวรรณคดีศึกษา นักศาสนวิทยา นักเขียน นักแปล และนักกังขาคติที่ไม่ยอมจำนนต่อความสงสัย เปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม – 25 กันยายน 2554 ที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศิลปินที่ร่วมแสดงงานในนิทรรศการตรรกะสังสรรค์ เป็นศิลปินจาก 8 สาขา 8 แนวคิด ได้แก่ ล้อม เพ็งแก้ว ผ่านภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สาขาวรรณกรรม (เกิด), ประชา สุวีรานนท์ สาขาออกแบบ (แก่), สุรสีห์ กุศลวงศ์ สาขาทัศนศิลป์ (เจ็บ), ภัทรสุดา อนุมานราชธน ร่วมด้วย Millie Young สาขาศิลปะการแสดง (ตาย), มหาสมุทร บุณยรักษ์ และเศรษฐวัตร อุทธา สาขาสื่อผสม (กิน), ตุล ไวฑูรเกียรติ สาขาดนตรี (ขี้), ธัญสก พันสิทธิวรกุล สาขาภาพยนตร์ (ปี้), และ สิงห์ อินทรชูโต สาขาสถาปัตยกรรม (นอน) โดยมีคุณกิตติพล สรัคคานนท์ เป็นภัณฑารักษ์รับเชิญ
นิทรรศการนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดการรับรู้และตระหนักถึงมุมมองที่หลากหลายด้านหลักการทางความคิด และนำเอาผลลัพธ์จากแนวความคิดที่ได้กลับมาสำรวจคุณค่าที่ยึดถือ ขณะเดียวกันยังสามารถรู้เท่าทันความคิดและรับฟังผู้อื่น นิทรรศการยังเป็นการนำเสนอศิลปะแบบมีส่วนร่วม เปิดให้ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมและปฏิสังสรรค์กับผลงาน
ผลงานในคอนเซปต์ ‘เกิด’ ทางคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้หยิบเอาแนวคิดและผลงานของ อ.ล้อม มานำเสนอในรูปแบบใหม่ เป็นแนวคิดเชิงสังคมวิทยาของคนไทยเกี่ยวกับการเกิด เช่น เกิดอย่างไร ตกฟากคืออะไร มีการจำลองบ้านและสถานที่เกิดของ อ.ล้อม ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแรกเกิด ตลอดจนนำเสนอวิดีโอบทสัมภาษณ์ อ.ล้อม
คุณประชา สุวีรานนท์ ในคอนเซปต์ ‘แก่’ เริ่มจากจุดเริ่มต้น หนังสือไตรภูมิพระร่วง ของเสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน และสังเคราะห์เนื้อหาในไตรภูมิพระร่วงให้เป็นเนื้อหาที่ร่วมสมัย เช่น มองนรกในมุมกลับที่เป็นการนำเสนอนรกในเชิงวิพากษ์ความคิดของสังคมปัจจุบัน” แก่ในที่นี้อาจเป็นการแก่ของความคิดที่ได้มาจากอายุหรือความเข้มข้นของมุมมองเชิงวิเคราะห์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ
ส่วนคุณสุรสีห์ กุศลวงศ์ ในคอนเซปต์ ‘เจ็บ’ นำเสนอออกมาในรูปแบบของศิลปะที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากผู้ชม โดยเป็นผลงานจัดวางด้ายจำนวน 4 ตันและซ่อนสร้อยทองไว้ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้ามาปฏิสังสรรค์กับงานด้วยการค้นหาสร้อยทองที่อยู่ในด้าย ประเด็นเรื่อง‘ความเจ็บ’ ของศิลปินซ่อนอยู่ในสร้อยทอง และผลงานศิลปะคือการสืบหาจุดประสงค์ของผู้เข้าร่วมในผลงานและการเดินทางต่อของสร้อยทอง ไม่ว่ามันจะถูกนำไปขายหรือเก็บไว้
คุณภัทรสุดา อนุมานราชธน ในคอนเซปต์ ‘ตาย’ ได้ออกแบบพื้นที่ทางเดินแบบเขาวงกต อัน-เปรียบเสมือนการเดินทางจากชีวิตสู่ความตายซึ่งเราทุกคนต้องผ่าน โดยการเดินผ่านความตายนี้เชื่อมโยงกับงาน animation ใน video art คุณ Millie Young ซึ่งนำเสนอแนวคิดความตายในการเคลื่อนที่ของชีวิต เช่น การเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง การกลับชาติมาเกิด ฯลฯ
คุณมหาสมุทร บุณยรักษ์ และคุณเศรษฐวัตร อุทธา ในคอนเซปต์ ‘กิน’ นำเสนอภาพยนตร์สั้น ซึ่งคุณมหาสมุทรเป็นนักแสดงนำในการเดินเรื่อง เนื้อหาล้วนเกี่ยวกับการมองการกิน ในฐานะพื้นผิวซึ่งมีหลายระดับ ทั้งการกินเพื่ออิ่มซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงอยู่ของมนุษย์ จนถึงการเสพในเชิงลึก การมองหาความต้องการอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความโหยหาและเพื่อให้อิ่มในแง่มุมต่างๆ ผลงานนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสาขา โดยมีเพลงที่แต่งขึ้นประกอบในภาพยนตร์สั้น เช่น หนุ่มบาร์น้ำตาริน ซึ่งคุณมหาสมุทรเขียนเพลง และคุณเศรษฐวัตร สร้างสรรค์บทภาพยนตร์ขึ้นมาจากเพลงนั้นๆ
คุณตุล ไวฑูรเกียรติ กับคอนเซปต์ ‘ขี้’ ออกแบบพื้นที่ให้เหมือนห้องนั่งเล่น ซึ่งคุณตุลจะนำหนังสือประมาณ 100 เล่ม ที่เขาอ่านและสะสมมาตั้งแต่เด็ก มาจัดวางและเปิดให้ผู้ชมนำหนังสือมาแลกเปลี่ยนกับหนังสือของเขาไปเรื่อยๆ ซึ่งท้ายสุดเขาจะเอาหนังสือคอลเลคชั่นใหม่ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปสร้างผลงานต่อ ในที่นี้การขี้จึงเปรียบเสมือนกับการขับถ่ายและการแลกเปลี่ยนความคิด ในระหว่างนิทรรศการจะมีการอ่านบทกวี การแสดงสด เชิญให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม เขียนและอ่านบทกวีร่วมกัน
คุณธัญสก พันสิทธิวรกุล ในคอนเซปต์ ‘ปี้’ นำเสนอ video installation ซึ่งเชื่อมการเมืองกับเรื่องเพศ โดยสื่อในประเด็นที่เป็นเรื่องที่ต้องการการขบคิดจนถึงกับเป็นเรื่องต้องห้ามทางความคิดในสังคม ‘ปี้’ ในที่นี่ยังหมายถึง ความป่นปี้ และการมองการเมืองในฐานะของความป่นปี้” และปี้ในที่นี้ยังมีความเป็นการเมืองอยู่ในตัวทั้งในเรื่องของสิทธิการแสดงออกของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย หรือการเมืองในแง่ของรสนิยมเฉพาะที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นสาธารณะและส่วนตัว
คนสุดท้ายในคอนเซปต์ ‘นอน’ คุณสิงห์ อินทรชูโต ได้ออกแบบเตียง 2 แบบ ซึ่งทำด้วยวัสดุที่ไม่เหมือนกัน เตียงแรกมีฐานทำด้วยเหล็ก ที่นอนทำด้วยฟูกนุ่มๆ นอนสบาย ขณะที่อีกเตียงมีฐานเป็นวัสดุหลายสี ส่วนที่นอนทำด้วยเหล็ก ทั้ง 2 เตียงเป็นการสะท้อนประเด็น คนรักเดียวใจเดียว กับคนหลายใจ บางคนเลือกที่จะเป็นขาเตียงและเปลี่ยนฟูกไปเรื่อยๆ ซึ่งงานของคุณสิงห์เปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยขึ้นไปนอนเล่นได้”
ตรรกะสังสรรค์ คือบทสนทนาทางศิลปะที่ดำเนินไประหว่างกระบวนการมีชีวิต เป็นสภาวะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้จำกัดแค่ตัวของมนุษย์เท่านั้น การมีชีวิตอยู่ของสรรพสัตว์ในโลกจึงหมายถึง ‘การสืบทอดชีวิต’ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากห้วงเวลาหนึ่งไปยังอีกห้วงเวลาหนึ่ง ชีวิตของสัตว์โลกในความหมายดั้งเดิมจึงหมายรวมถึง ‘การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์’ แต่เมื่อหันกลับมามองมนุษย์ในยุคปัจจุบันกลับพบว่า บทนิยามเกี่ยวกับชีวิตได้ถูกจำกัดไว้ที่ ‘ตัวคนคนเดียว’
—–
แนวคิด
“เราทุกคนต่างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ต่อเนื่องกันไป เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” เสฐียรโกเศศ
มีปราชญ์ทางสังคมท่านหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เพื่อรู้จักตัวเราเอง เราจำเป็นต้องรู้จักคนอื่น เพื่อรู้จักสังคมที่เป็นอยู่ เราต้องรู้จักสังคมอื่นๆ นอกจากสังคมของเรา” เป็นเช่นนี้เพราะเราไม่ อาจเข้าใจ หรือรู้ในบางเรื่องอย่างครบถ้วนรอบด้าน หากเรามองจากมุมของตัวเราเองในโลกยุคใหม่ ‘ความรู้’ จึงไม่ใช่เพียง ‘ความจริง’ ที่สถิตนิ่งยุติอย่างเด็ดขาดบนหลักศิลาหรือหน้ากระดาษ แต่ทว่า มันได้แปรสภาพเป็น ‘ความเป็นไปได้’ ที่เคลื่อนไหวไปกับกระบวนการสังคม ผ่านบทสนทนา ความคิดเห็น และการแลกเปลี่ยนทั้งในพื้นที่ส่วนตัว และสาธารณะ
การอยู่ในโลกความรู้จึงอาจเรียกได้ว่า ‘ศิลปะ’ ในแง่ที่ทำให้เรามองเห็นว่า ‘ความรู้’ ไม่ได้มีอยู่ในสิ่ง ที่ทั่วไปเรียกว่า ‘องค์ความรู้’ เช่น ในแบบเรียน ตำราวิชาการ หนังสือคู่มือต่าง ๆ ฯลฯ เพราะใน หลายครั้ง หลายครา เรื่องที่ดูไม่มีอะไรให้รู้ เรื่องที่ถูกห้ามไม่รู้ และเรื่องที่ไม่ใช่ความรู้ก็นับเป็น ความรู้ดุจเดียวกันหาก “จงกล้าที่จะรู้” คือคติธรรมของโลก แห่งแสงสว่างที่ทำให้เราตั้งคำถาม และใช้เหตุผลในการแสวงหาความรู้ “จงกล้าที่จะไม่รู้” ก็น่าจะเป็นคติธรรมของเรา เพื่อมองหา ‘ความรู้ใหม่ๆ’ จาก ‘ความไม่รู้’
นิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ จึงกำเนิดขึ้นเพื่อนำเสนอศิลปะในการแสวงหาความรู้ ผ่านการตั้งคำถาม ต่อการดำรงอยู่ของ ‘มนุษย์’ ที่ต่างก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย โดยระหว่างนั้นย่อมเลี่ยงไม่ได้ ที่เราจะกิน นอน ขับถ่าย และสืบพันธุ์ โดยแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งนั้นมาจากตัวตน และผลงานของ เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน ผู้เป็นสามัญชน นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ นักวรรณคดีศึกษา นักศาสนวิทยา นักเขียน นักแปล และนักกังขาคติที่ไม่ยอมจำนนต่อความสงสัย
ชื่อของนิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ นั้นเป็นคำประดิษฐ์ใหม่ โดยการผนวกรวมคำสองคำคือ ‘ตรรกะ’ และ ‘สังสรรค์’ เข้าด้วยกัน ‘ตรรกะ’ มาจาก ตกฺก ในภาษาบาลี และ ตรฺก ในภาษาสันสกฤต หมายความถึง ความนึกคิด การตรึกตรอง ขณะที่ในปัจจุบัน ‘ตรรกะ’ มีความหมายเทียบเท่าได้กับ logic ในภาษาอังกฤษ อันหมายความถึง ความถูกต้องสอดพ้องตามหลักเหตุผล หรือหมายความถึง ‘วิชาตรรกวิทยา’ ‘สังสรรค์’ มีรากศัพท์มาจาก สํสรฺค ในภาษาสันสกฤต คำคำนี้หมายความถึง การพบปะ การมาข้องเกี่ยวกันระหว่างบุคคล (อาจขยายไปถึงความคิด หรือสิ่งต่างๆ)
หากแปลตามตัวอักษร ตรรกะสังสรรค์ คือการพบกันระหว่างความนึกคิดซึ่งก่อให้เกิดพื้นที่สนทนา ให้กับหมวดหมู่ความรู้ ผ่านศิลปะในหลากหลายสาขา เป็นส่วนเติมเต็ม และเป็นเครื่องยืนยันถึง คุณค่าของ ‘ความเป็นไปได้’ ซึ่งผลักดันให้ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางปัญญา เป็นการสร้างกลไกในการส่งต่อทางความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
ภัณฑารักษ์รับเชิญ : กิตติพล สรัคคานนท์
ศิลปิน
สาขาวรรณกรรม
ล้อม เพ็งแก้ว (ผ่านคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา)
สาขาออกแบบ
ประชา สุวีรานนท์
สาขาทัศนศิลป์
สุรสีห์ กุศลวงศ์
สาขาศิลปการแสดง
ภัทรสุดา อนุมานราชธน
สาขาสื่อผสม
มหาสมุทร บุณยรักษ์ และ เศรษฐวัตร อุทธา
สาขาดนตรี
ตุล ไวฑูรเกียรติ
สาขาภาพยนตร์
ธัญสก พันสิทธิวรกุล
สาขาสถาปัตยกรรม
สิงห์ อินทรชูโต
ดาวน์โหลดสูจิบัตรนิทรรศการตรรกะสังสรรค์
– booklet
– เกิด
– แก่
– เจ็บ
– ตาย
– กิน
– ขี้
– ปี้
– นอน
กิจกรรมประกอบนิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ ชั้น 8
Forum สนทนา ตรรกะสังวาส โดย ถ่ายเถา สุจริตกุล และ ธเนศ วงศ์ยานนาวา
ผู้จัด – หอศิลปฯ และสิงห์ อินทรชูโต
30 กรกฎาคม 2554 / 15:00 น – 17:00 น
—
Artist Tour, A personal guide through death ของ Millie Young
ผู้จัด – หอศิลปฯ และศิลปิน Millie Young
4 สิงหาคม 2554 / 12:00 น – 13:00 น
21 สิงหาคม 2554 /15:00 น – 16:00 น
—–
หนังเรื่องเพลงราตรี โดยมหาสมุทร บุณยรักษ์และเศรษฐวัฒน์ อุทธา
ผู้จัด – หอศิลปฯ และศิลปิน
11 สิงหาคม 2554 / 18:00 น.
—–
ปาฐกถาโดยอาจารย์สุลักษณ์
ผู้จัด – หอศิลปฯ และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ
รากฐานทางความคิดจากพระยาอนุมานราชธน จากเก่าสู่ใหม่ การเรียนรู้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของความรู้หรือบทบาททางประวัติศาสตร์ความคิด
3 กันยายน 2554 / 13:00-15:00 น.
—–
กิจกรรมโดย ตุล ไวฑูรเกียรติ
ผู้จัด – หอศิลปฯ ตุล ไวฑูลเกียรติ และ Thaipoetsociety
การแลกหนังสือ เขียนกวี และอ่านบทกวี
ตลอดระยะเวลานิทรรศการ
—-
Bookfair
ผู้จัด – หอศิลปฯและสำนักพิมพ์
การออกร้านหนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้แก่
สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น สำนักพิมพ์undergroundbulleteen สำนักพิมพ์เคล็ดไทย สำนักพิมพ์กำมะหยี่ สำนักพิมพ์ openbooks
ตลอดระยะเวลานิทรรศการ
—–
Special & Exclusive Film Program โดย ธันสก พันสิทธิวรกุล และ สนธยา ทรัพย์เย็น
ผู้จัด – หอศิลปฯ ธันสก พันสิทธิวรกุลและ filmvirus
23 กรกฎาคม 2554
15.30 น. – The Terrorists (ธัญสก พันสิทธิวรกุล) และพูดคุยกับ ธัญสก พันสิทธิวรกุล และ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา(Filmsick) ชลิดา เอื้อบำรุงจิต
6 สิงหาคม 2554
14.30 น. – Introduction โดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
The Old
15.00 น. – THE SEED OF MAN (Marco Ferreri /1969/ Italy)
15.00 น. – THE SURROGATE MOTHER (Im Kwon Taek /1987 / South Korea)
20 สิงหาคม 2554
The New
15.00 น. – CRIA CUERVOS (Carlos Saura / 1976/ Spain)
17.00 น. – XALA (Ousmane Sembene /1975/ Senegal)
3 กันยายน 2554
Cannot be Born
15.00 น. – THE BROOD (David Cronenberg/ 1979/ Canada)
17.00 น. – NIGHT OF THE COUNTING THE YEARS (Shadi Abdel Salam /1969/ Egypt)
17 กันยายน 2554
Cannot Reconciled
15.00 น. – NIGHT OF THE COUNTING THE YEARS
(Shadi Abdel Salam /1969/ Egypt)
17.00 น. – THE SEED OF MAN (Marco Ferreri /1969/ Italy)
วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554
(กิจกรรมปิดนิทรรศการ)
เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป
สถานที่ : ห้องนิทรรศการชั้น 8
– ร่วมสังสรรค์สรุปความคิดในนิทรรศการ ตรรกะสังสรรค์ ด้วยโปรแกรมจากทีมงานและศิลปิน
– เสวนาสังสรรค์
ตรรกะวิจารณ์ : ปลอมปัญญากับความไม่ตระหนักในจักรวาลวิทยาขององค์ความรู้
ว่าด้วยการวิจารณ์-บทวิจารณ์ ในแวดวงศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ
– ผู้ร่วมดำเนินรายการ
วาด รวี
สรายุทธ ธรรมโชโต
ธนาวิ โชติประดิษฐ์
– ดำเนินรายการโดย
กิตติพล สรัคคานนท์
– ดนตรีสังสรรค์
ดนตรีสด การอ่านบทกวีสด และ ฉายภาพยนตร์โดย ตุล ไวฑูรเกียรติ
—————–
ข้อควรรู้ในการเข้าชมนิทรรศการตรรกะสังสรรค์
• นิทรรศการนี้สามารถถ่ายรูปได้
• ผลงานโดยส่วนใหญ่สามารถจับต้องได้ โปรดสังเกตกติกาตามเงื่อนไขผลงานของแต่ละศิลปิน
• ผลงานบางชิ้นมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ในกรณีที่เข้าชมพร้อมผู้ชมวัยเยาว์ โปรดให้คำแนะนำที่เหมาะสม
• นิทรรศการนี้เป็นการนำเสนอกระบวนการความคิดและต้องการการมีส่วนร่วมจากผู้ชม ภายใต้คำถาม “คุณกำลังคิดอะไรอยู่” จะมีกระดาษจัดเตรียมไว้ให้เพื่อเขียนความคิดที่ท่านมีเกี่ยวกับประเด็น “เกิด แก่ เจ็บ ตาย กิน ขี้ ปี้ นอน” ทีมงานจะนำเสนอความคิดที่ถูกคัดเลือก ร่วมแสดงในนิทรรศการร่วมกับแนวคิดของศิลปินและอื่นๆ