Arts Network Exhibitions
นิทรรศการศิลปะ โดยพนักงานบริการ ประชาคมอาเซียน เราก้อ ยังเต้นรำ ได้อยู่ ! พนักงานบริการแห่งอาเซียน
พิธีเปิดนิทรรศการในวันอังคารที่ 2 เมษายน 2556 เวลา 17.00 น.
กิจกรรมการสัมมนาของพนักงานบริการอาเซียน เปิดให้ผู้สนใจร่วมรับฟังได้ ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 ในวันที่ 2 เมษายน 2556 เวลา 15.00-17.00 น.
โครงการ SW-ASEAN ของเอ็มพาวเวอร์
ในปี 2558 ประเทศอาเซียน จะรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจเดียว ทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน จะมีข้อตกลง และยุทธศาสตร์หลายอย่าง ร่วมกัน เป็นต้นว่า การค้า, การท่องเที่ยว, แรงงานข้ามแดน, วีซ่า, เอชไอวี/เอดส์, และสิทธิมนุษยชน, ฯลฯ
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีพนักงานบริการมากกว่า ล้านคน อาศัยอยู่ ทำงาน และเดินทางข้ามเส้นพรมแดน อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า พนักงานบริการเป็นอาชีพหนึ่งที่มีส่วนสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในอาเซียน อย่างมหาศาล พนักงานบริการ ล้วนเป็นมนุษย์ ที่มีสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับคนทุก ๆ อาชีพ
แต่กระนั้น พนักงานบริการในกลุ่มประเทศอาเซียนทุกแห่ง ถูกมองเป็นกลุ่มคนไร้ค่า และถูกกีดกันออกไปจากสังคม และกฎหมาย พนักงานบริการล้วนไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมเช่นคนอื่น ๆ พนักงานบริการเข้าไม่ถึงความยุติธรรม และเสรีภาพในการเดินทางก็ถูกจำกัด, ฯลฯ
กลุ่มคนหลายชุมชนในอาเซียน ได้รวมตัวกันเพื่อหวังว่ารัฐบาลจะได้ยินเสียงพวกเขา คิดถึงพวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่คิดถึงเรื่อง ผลกำไรทางการค้า และอำนาจ ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 พนักงานบริการทั่วอาเซียนก็ได้มารวมตัวกัน โดยการจัดขึ้นของเอ็มพาวเวอร์ ในโครงการ SWASEAN (Sex Workers of ASEAN) เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง มาเรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อให้พวกเรามีพื้นที่ยืน ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การประชุมสุดยอดครั้งที่หนึ่งของพนักงานบริการอาเซียน จัดขึ้น โดยเอ็มพาวเวอร์ มีผู้นำพนักงานบริการ 30 คนจากประเทศไทย, ลาว, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เมียนม่าร์, กัมพูชา, อินโดนีเซีย และติมอร์เลสเต มาประชุมเคียงข้างกับสมัชชาประชาชนอาเซียน (ASEAN People’s Forum) ที่กรุงพนมเปน
เป็นที่เห็นร่วมกันอย่างชัดแจ้ง ว่า ประเด็น เรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติ ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อพวกเรา ดังนั้น “ เราจะต้องหาทางที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในสังคม ให้เกิดการยอมรับการดำเนินอาชีพของเรา แต่ทั้งนี้เนื่องจากพวกเรามาจากต่างวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งเป็นสีสันอันงดงามของเรา เราจึงเลือกที่จะใช้ศิลปะ ที่จะสามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันเนื้อหาของเรา แก่กันและกันได้ “
หลังจากนั้น พนักงานบริการจาก 9 ประเทศ บวกกับอีก 1 คือ ติมอร์เลสเต ก็ได้กลับไปสู่ชุมชนของพวกเรา สร้างกระบวนการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะ ที่แสดงออกถึงสถานการณ์ของเรา ประสบการณ์ของเรา ตอบโต้กับการตีตราและการถูกเลือกปฏิบัติ เราจะนำผลงานศิลปะ ที่ผลิตขึ้นด้วยมือเรา มาแสดงร่วมกัน ในหัวข้อนิทรรศการชื่อ “…เราก้อ ยังเต้นรำ ได้อยู่ ! พนักงานบริการแห่งอาเซียน – Yet, Still we dance! Sex Workers of ASEAN Art Exhibition” จัดแสดงขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน นี้เป็นต้นไป
โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักแผนและการพัฒนา ของสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งจะมีผลงานหลากหลาย เช่น ภาพถ่าย จิตรกรรม ประติมากรรมผ้า และการจัดวาง เราหวังว่านิทรรศการนี้ จะทำให้ผู้ชมตระหนักถึงผลกระทบ ที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติ ในเวลาเดียวกันก็ได้มาร่วมกัน แสดงความยินดีกับการ เสนอภาพสะท้อน และความสามารถด้านศิลปะ ของพวกเรา “นับว่าเป็นเวลา ที่เราจะร่วมกันสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ การยอมรับ และแง่มุมของความคิดที่หลากหลาย มากขึ้นเกี่ยวกับงานอาชีพบริการ ในอาเซียน”
ผลงานโดย
เมียนม่าร์ – Aids Myanmar Alliance, Myanmar
มาเลเซีย – PAMT Malaysia
กัมพูชา – Women’s Network for Unity, Cambodia
สิงคโปร์ – Project X Singapore
ฟิลิปปินส์ – Philippines Sex Worker’s Collective, Philippines
เวียตนาม – Vietnamese Network of Sex Workers (VNSW)
สปป ลาว – Sao Lao Laos
อินโดนีเซีย – P3SY/OPSI Indonesia
ประเทศไทย – Empower Thailand
อาเซียน + 1 – SW ASEAN Plus One; $carlet Timor Collective ($TK) Timor Leste
เกี่ยวกับเอ็มพาวเวอร์
เอ็มพาวเวอร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 จดทะเบียนเป็นมูลนิธิในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสิทธิและโอกาส ของพนักงานบริการ แนวคิดการทำงานของเอ็มพาวเวอร์ อยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ลดการเลือกปฏิบัติ และการทำร้าย และการตีตรา
แนวทางการทำงานของเอ็มพาวเวอร์ เป็นการสร้างหนทางให้พนักงานบริการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่นงานดี เข้าถึงความยุติธรรม และการมีสุขภาพดี รวมถึงการป้องกันเรื่องโรคเอชไอวี/เอดส์ และการเข้าถึงการรักษา เอ็มพาวเวอร์ เป็นศูนย์รวมของพนักงานบริการ เพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นชุมชน และการมีส่วนร่วมทาง สังคม และการเมือง เอ็มพาวเวอร์ มุ่งมั่นที่จะทำให้พนักงานบริการทุกคนเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในฐานะบุคคลที่ดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียม และสามารถที่จะคัดค้าน และต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ และการตีตรา อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ในสังคมเดียวกัน
ปัจจุบันนี้ เอ็มพาวเวอร์ มีศูนย์ชุมชนอยู่ที่ อ.แม่สอด, อแม่สาย, เชียงใหม่, มุกดาหาร, กรุงเทพ และนนทบุรี และได้ทำงานในพื้นที่อื่น ๆ โดยผ่านการสร้างเครือข่าย กับพนักงานบริการ และกลุ่มชุมชนท้องถิ่น อีกด้วย
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
57/60 ถนนติวานนท์
นนทบุรี 11000
www.empowerfoundation.org
โทร/แฟกซ์ 02-526-8311