People's Gallery
นิทรรศการผู้หญิงประหลาด
โดย ริญญาภัทร นิธิภัทรอนันต์, วิลาวัณย์ เวียงทอง, สุทธามน วรพงษ์, อมรา ยาวิลาส
คัดสรรโดย ดร.เตยงาม คุปตะบุตร
ฉันรู้สึกดี เพราะว่าฉันประหลาด
ผู้หญิงในสังคมไทยสมัยใหม่มีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อ เสน่ห์ที่ว่าไม่ได้มาจากการมีหน้าตาสวยหรือแต่งกายงาม แต่มาจากการที่พวกเธอมีประเด็นที่จะพูดกับสาธารณะอย่างสุภาพและฉลาดเฉลียว พวกเธอมีความมั่นใจ, มั่นคงที่จะไม่ตามกระแส, และไม่เสีย Self กับเรื่องหยุมหยิมอีกต่อไป ผู้หญิงไทยแท้รุ่น Baby Boom และ Generation X มักจะสงวนความคิดเห็นและยอมอยู่ภายใต้วาทกรรมที่เหนือกว่า เพราะมองเห็นว่า มันเป็นวิธีการประนีประนอมที่จะทำให้สังคมสงบสุข ไม่เกิดความขัดแย้ง หากเปรียบเทียบกับผู้หญิงยุคดังกล่าว ผู้หญิงยุคใหม่จัดว่า ประหลาด เพราะพวกเธอพูดเยอะและหาทางดิ้นหลุดจากวาทกรรมที่ทรงอำนาจเหล่านั้นได้เสมอ เราลองมาฟังว่าศิลปินหญิงรุ่นใหม่กำลังจะเสนออะไรและดิ้นหลุดจากอะไรกันดีกว่า
วิลาวัณย์ เวียงทอง นำเสนอให้เราเห็นครอบครัวประหลาดที่ประกอบไปด้วยสมาชิกผู้หญิงทั้งหมดสี่คน สมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวจริงๆของเธอ ซึ่งมีตั้งแต่คุณแม่, ลูกพี่ลูกน้องสองคน, และตัวเธอเอง ตั้งแต่ยังเล็ก เครือญาติและเพื่อนบ้านมักบอกว่าครอบครัวของเธอประหลาด มักทำในสิ่งที่คนอื่นๆไม่ทำกัน เช่น แทนที่จะหาบันไดไม้ไผ่มาพาดเพื่อขึ้นไปซ่อมหลังคาบ้าน คุณแม่ของเธอก็ต่อโต๊ะ, ตู้, และวัตถุอื่นๆที่มีอยู่แล้ว สูงมากพอที่จะปีนขึ้นไปบนหลังคาได้ เธอไม่ได้ให้ความสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนรอบข้างมากนัก แต่เมื่อโตขึ้น เธอเริ่มเข้าใจว่า ความประหลาดของครอบครัวมีที่มา นั่นคือ ข้อจำกัดทางการเงินที่ทำให้คุณแม่ต้องปรับประยุกต์ของใช้รอบๆตัว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ แน่นอนว่าสาวๆต่างก็เรียนรู้และสร้างวิธีการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคของชีวิต ด้วยวิธีการที่คนทั่วไปไม่ทำกัน จะเห็นได้ว่า ความประหลาดที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินเชิงคุณค่าจากคนอื่น ไม่ได้เริ่มต้นจากการคิดเองสร้างเองของเธอ เธอมองเข้าไปในทัศนะของเขาเหล่านั้นอย่างตื่นเต้น และพบว่าทัศนะของพวกเขาช่างน่าสนใจ! เธอจึงทำให้ความประหลาดแบบไม่มีใครเขาทำกันเป็นรูปร่างเสียเลย ทำให้มันน่ารักปนน่ากลัว, และน่าดูปนน่าขนลุกขนพอง ด้วยเทคนิคสื่อผสมระหว่างประติมากรรม, เซรามิค, และ Performance นี่คือวิธีการที่แสนสร้างสรรค์ที่เธอดิ้นหลุดจากวาทกรรมของเครือญาติและเพื่อนบ้าน
ริญญาภัทร์ นิธิภัทรอนันต์ ไม่รู้สึกลังเลที่จะบอกว่าตัวตนของเธอสามารถเคลื่อนหรือเปลี่ยนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะทางสังคม เราคุ้นกันว่า ผู้หญิงเป็นลูกของแม่, เป็นแม่ของลูก, เป็นภรรยาของสามี, และเป็นลูกจ้างให้กับองค์กร บางสถานะก็ตายตัว แต่บางสถานะก็เปลี่ยนแปลงได้ จากตัวอย่าง สถานะของผู้หญิงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระบวนการทางสังคม ในเอกสารทางราชการจึงมีการระบุว่าผู้หญิงเป็นลูกของใคร, สมรสกับใคร, และมีลูกกี่คน อาจกล่าวได้ว่า ตัวตนของผู้หญิงถูกสร้างจากกระบวนการทางสังคม เพื่อให้ง่ายต่อการแยกแยะและง่ายต่อการรักษาสังคมในเป็นระเบียบ แต่..ริญญาภัทร์ก็สะท้อนให้เห็นเราเห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ผู้หญิงฉลาดเฉลียวมากพอที่จะหาทางดิ้นหลุดจากสถานะที่ถูกบันทึกไว้ในระบบราชการ เธอเคลื่อนจากริญญาภัทร์อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นผู้หญิงคนอื่นๆที่ระบบราชการไม่สามารถตามไประบุได้ Video Performance เป็นเครื่องมือที่ช่วยระบุตัวตนใหม่ๆของเธอ มันแสดงให้เห็นการเคลื่อน, การเปลี่ยน, และการเหลื่อมซ้อนกันของหลายๆตัวตน ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่น, หลากหลาย, และ organic เธอบอกว่า มันอาจจะง่ายกว่า มีความสุขกว่า ที่จะไม่เป็นริญญาภัทร์ตลอดเวลา การเป็นคนอื่นบ้าง หรืออีกนัยหนึ่ง การไม่ยึดติดกับตัวตนทางสังคม ก็อาจจะทำให้ปัญหาไม่เป็นปัญหาในบางสถานการณ์
การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายและศีลธรรม ทั้งๆที่รู้ว่า มันเป็นวาทกรรมขนาดใหญ่ที่ดิ้นหลุดยาก แต่สุทธามน วรพงษ์ ก็มั่นใจที่จะถามเราว่า การทำแท้งควรเป็นสิทธิ์ของผู้หญิงหรือไม่ หลายๆคนก็คงมีคำถามนี้อยู่ในใจ สาวแรกรุ่นจำนวนมากไม่ได้เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และไม่มีความรู้เพียงพอที่จะรับมือกับโรคร้ายของสังคมบริโภคนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กสาวจำนวนแสนกว่าคนต่อปี คือ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และตามมาด้วยการทำแท้ง อันที่จริงแล้ว สุทธามนไม่ต้องการคาดคั้นเราให้ตอบคำถาม เพราะคำตอบก็คงไม่ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริง เช่นเดียวกับการออกกฎหมายห้ามทำแท้ง ก็เป็นการดำเนินการที่ปลายเหตุ ในเมื่อสถานการณ์ของ “เด็กสาวพร้อมครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์” ยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆในสังคมปากว่าตาขยิบแห่งนี้ เธอจึงนำเสนอสถานการณ์หนึ่งด้วยกระบวนการของวิดีโอและPerformance โดยการทำให้เราเผชิญหน้ากับร่างกายที่มีเลือด เนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึก ตั้งแต่สนุกสุดเหวี่ยง, ท้าทาย, ครุ่นคิด, เสียใจ, และ สับสน บางครั้งเราเห็นชัดเจนว่าร่างกายยืนอยู่ที่ตรงไหนของสังคม ริมถนน, ห้องน้ำสาธารณะ, และโถงทางเดินในอาคารห้องชุด แต่ในบางฉากก็ไม่สามารถบอกได้ว่า มันคือพื้นที่ตรงไหน เธอต้องการให้ผู้ชมเดินเข้าไปสู่พื้นที่นั้น เพื่อพิจารณาเรือนร่างที่กำลังต่อสู้และทุกข์ทรมานกับบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในร่างกาย ท้ายที่สุด เรือนร่างนั้นต้องลุกขึ้นมา กอบกู้วิญญาณที่แตกสลายเพียงลำพัง เธอค่อยๆสร้างศรัทธาในตัวเองและเดินหน้าไปต่ออย่างเงียบๆ แล้วปล่อยให้คำถามในเรื่องสิทธิ์ในร่างกายของผู้หญิงยังล่อยลอยอยู่ในใจเราต่อไป
สลาลี สมบัติมี กำลังเฝ้ามองเหตุการณ์ทางการเมืองด้วยความสนใจ เธอไม่ได้สนใจแถลงการณ์ของแกนนำมากเท่ากับคนที่มาร่วมชุมนุมโดยเฉพาะผู้ชุมนุมเพศหญิง ธรรมชาติของผู้หญิงอย่างหนึ่งเวลาเผชิญกับสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย คือ การใช้วิธีอ้อม เช่น การฝากบอกหรือการนินทา ซึ่งจะแตกต่างจากธรรมชาติของผู้ชายที่ใช้วิธีการที่ตรงไปตรงมา นี่เป็นสัญชาตญาณที่ธรรมชาติมอบให้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในกรณีของการชุมนุมทางการเมือง (ช่วง พ.ศ. 2556-2557) สลาลีลงพื้นที่เก็บข้อมูลและพบว่าผู้ชุมนุมเพศหญิงไม่ใช้วิธีดึกดำบรรพ์ แต่เป็นวิธีการที่ผสมผสานระหว่างเพศหญิงและชาย ธรรมชาติอีกอย่างของผู้หญิงคือ พวกเธอสามารถรวมเป็นกลุ่มได้โดยไม่ขัดเขินและง่ายกว่าผู้ชาย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในกลุ่มชุมนุมผู้หญิง พวกเธอมาจากคนละพื้นที่, วัฒนธรรม, สายงาน, และชนชั้นทางสังคม แต่ก็มารวมกันได้โดยมีจุดร่วม คือ ทัศนคติทางการเมือง สิ่งที่สลาลีเห็นไปยิ่งกว่านั้น คือ พวกเธอเหล่านั้นเข็มแข็งและชัดเจนในการแสดงออกซึ่งทัศนคติอย่างตรงไปตรงมาเหมือนผู้ชาย สลาลีเฝ้าสังเกตการเฉลิมฉลอง “ตัวตนหมู่” ของผู้หญิงไม่ว่าพวกเธอจะเป็นใคร, มาจากไหน, และอายุเท่าไหร่ สลาลีจึงสร้าง “ตัวตนหมู่” ด้วยเทคนิคสื่อผสมระหว่างแฟชั่น, ประติมากรรม, และวิดีโอ ชุดยาวที่สร้างจากเครื่องประดับและเครื่องแบบหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ หรือ ชาวนา เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น เพราะเธอกำลังบอกเป็นนัยว่า วาทกรรมที่เคยกำหนดประเภทของคนว่าสูง-กลาง-ต่ำ ใช้ไม่ได้ในสถานการณ์นี้ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน และปัญญาของทุกคนต่างหากที่สามารถนำไปสู่ทางออกที่แท้จริงของปัญหาได้
สาวๆทั้งสี่คนมีความสุขที่ตัวเองประหลาดและแตกต่าง และอยากแบ่งปันความสุขนี้ให้กับผู้ชมของเธอทุกคน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 089 915 9150 คุณส้ม