Performance

ละครร้อง ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา


วันพฤหัสบดี และ วันศุกร์ รอบเวลา 19.00 น. / วันเสาร์ รอบเวลา 16.00 น. และ 19.00 น. / วันอาทิตย์รอบ เวลา 16.00 น.


ปี 2557 ครบรอบ 40 ปี การจากไปของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ 
สำนักพิมพ์ Writer ร่วมกับคณะละคร ‘อนัตตา’ สนับสนุนโดยสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกันจัดการแสดงละครร้องเรื่อง ‘บันทึกอิสรา’ ขึ้นอีกครั้ง ในชื่อ ‘ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา’ 
 
ละครร้อง ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา เกิดขึ้นเพื่อทำให้สังคมของเราเต็มไปด้วยบรรยากาศของการอ่านและการเขียน ด้วยการยืนยันในคุณค่าของงานเขียน และนักเขียนผู้มีคุณูปการต่อวงการวรรณกรรม นักเขียนผู้เป็นแบบอย่าง เป็นต้นธารของรสนิยมแห่งการอ่านและการเขียนอันทรงคุณค่า
 
โดย ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง คนแรกของประเทศไทย ผู้ผลักดันการละครในประเทศไทยอย่างเต็มตัว อย่าง ‘เครือข่ายละครกรุงเทพฯ’ และมี ‘เทศกาลละครกรุงเทพฯ’ อย่างต่อเนื่องทุกปี พร้อมกับการทำคณะละครอนัตตา ซึ่งเป็นคณะละครที่เป็นที่ผู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับอย่างสูง ในหมู่คนละครและผู้ชมละครทั่วประเทศ รวมถึงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
 
ละครศรีบูรพา เป็นละครว่าด้วยชีวิตของนักเขียนซึ่งเป็นต้นแบบของนักคิด นักสร้างสรรค์ นักเขียน และคนทำสื่อยุคบุกเบิกในเมืองไทย
 
ละครร้องเคยจัดแสดงครั้งแรกในวาระ100 ปีชาตะกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปี 2548 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘อิสราชน’ ต่อมาแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพปี 2551 ที่มะขามป้อมสตูดิโอ สะพานควาย  โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น ‘บันทึกอิสรา’ และปรับบทละครให้เล่าเรื่องผ่านสมุดบันทึกและมุมมองของ ชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของศรีบูรพา
 
"วันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2485 ขณะตื่นนอนอากาศยังขมุกขมัว ต้องเปิดไฟขณะดูหนังสือ ลงมือไปได้ประมาณ 5 นาที ได้ยินเสียงคนร้องเรียกมาจากภายนอกว่า คุณกุหลาบครับ คุณกุหลาบครับ คุณกุหลาบอยู่ไหมครับ เปิดประตูกระจกที่ระเบียงข้างบน ชะโงกหน้าออกไปดู แลเห็นตำรวจยืนเรียงรายอยู่หน้าบ้านหลายคน แต่ก็ไม่สู้ตื่นเต้นตกใจเท่าใดนักเป็นแต่นึกว่า ครั้งนี้เห็นจะประสบเคราะห์ร้ายที่รุนแรงนักก็เป็นได้เวลาบ่ายสองโมง เจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูห้องขังให้เรา เมื่อเราเข้าไปอยู่ภายในและได้ยินเสียงเขาลั่นกุญแจดังแกร๊ก เราก็รู้สึกว่า อิสรภาพของเราได้ถูกริบไปเสียแล้ว แต่เราโต้แย้งอยู่ในใจว่า ไม่เป็นไรดอก อิสรภาพทางใจของเรายังมีอยู่อย่างสมบูรณ์"
 
หลังจากวันนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ถูกจับอีกครั้งในข้อหา ‘กบฏสันติภาพ’ และละครร้องเรื่อง ‘ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา’ ก็เริ่มเรื่องตรงนี้ ในปี 2495 ไปจนถึงเมื่อเขาออกจากคุกในปี 2500 ตลอดเวลาที่ถูกคุมขัง ต้นฉบับงานเขียนของเขาไม่เคยติดคุกไปด้วย งานได้ตีพิมพ์เผยแพร่จัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอด้วยความช่วยเหลือ อย่างลับๆ ของชนิด สายประดิษฐ์ บทละครจะพาผู้ชมย้อนเวลาไปในชีวิตศรีบูรพาหลายเหตุการณ์ รวมทั้งบันทึกหน้าสุดท้ายที่เขียนต่อเติมโดยชนิด หลังจากกุหลาบเสียชีวิตไปแล้ว
 
ประดิษฐ ประสาททอง หยิบละครเรื่องนี้มาทำใหม่อีกครั้ง โดยปรับปรุงแต่งเติมต่อยอดจากประสบการณ์เดิมให้มาสมบูรณ์ที่สุดใน ‘ศรี บูรพา บันทึกแห่งอิสรา’ เวอร์ชั่น 2557 ประดิษฐจงใจนำเสนอละครเรื่องนี้ด้วยภาษาสละสลวยงดงามและแฝงด้วยแนวคิดลุ่ม ลึกซับซ้อน เช่นเดียวกับงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในรูปแบบละครร้อง ที่ต้องอาศัยบทขับร้องที่สร้างขึ้นด้วยภาษาประณีต  สื่อผ่านทำนองเพลงไพเราะกินใจมากกว่าการปลุกเร้าทางอารมณ์ ทำนองเพลงส่วนใหญ่ที่ใช้ในบทละครเป็นทำนองที่แต่งขึ้นเพื่อใช้แสดงละครร้อง ในยุคสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันถ่ายทอดมาจาก แม่ครูสุดจิต ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งถ่ายทอดมาจากคณะละครร้องย่านบางลำพูอีกทอดหนึ่ง ทำนองเพลงจึงมีความร่วมสมัยกับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง พร้อมด้วยดนตรีแสดงสดทุกรอบการแสดงจากเครื่องสากลผสมดนตรีไทย เรียบเรียงเสียงประสานโดย คานธี วสุวิชย์กิต หนึ่งในผู้สร้างสรรค์ดนตรีเพื่อการแสดงคุณภาพจำนวนมากของไทยในขณะนี้
 
นักแสดงนำ
กุหลาบ สายประดิษฐ์: คานธี วสุวิชย์กิต, นักแสดงละครเวที และผู้สร้างสรรค์ดนตรีเพื่อการแสดง
ชนิด สายประดิษฐ์: มนทกานติ รังสิพราหมณกุล, บรรณาธิการนิตยสาร Madam Figaro, พิธีกรรายการ Deva Café และนักแสดงละครเวทีอิสระ
บท/กำกับการแสดง: ประดิษฐ  ประสาททอง, คณะละครอนัตตา
ดนตรี: คานธี วสุวิชย์กิต

วันแสดง: 28 – 31 สิงหาคม 2557 (วันพฤหัสบดี และ วันศุกร์ รอบเวลา 19.00 น. / วันเสาร์ รอบเวลา 16.00 น. และ 19.00 น. / วันอาทิตย์รอบ เวลา 16.00 น.)
สถานที่: ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ราคาบัตร: 600 บาท
สำรองบัตรได้ที่: โทร 092-257-0667 หรือ Facebook Page : ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา 
 

Image Gallery