Main Exhibition 789

อินสนธิ์ วงศ์สาม : จิตวิญญาณอิสระ


จัดโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เปิดนิทรรศการ 11 กันยายน 2557 เวลา 18:30 น.


เป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินอาวุโสวัย 80 ปีจากจังหวัดลำพูนได้ทุ่มเทและพิสูจน์ให้เห็นถึง ความศรัทธาและการยืนหยัดของศิลปินในฐานะผู้สร้างสรรค์ งานศิลปะนามธรรมตามคติแบบตะวันออกมาอย่างยาวนาน โดยไม่เคยหวนกลับไปสร้างสรรค์งานแบบ เหมือนจริง ในวัย 28 ปี ศิลปินหนุ่มล้านนานักผจญภัยขี่รถสกู๊ตเตอร์คู่ใจจากประเทศไทย สู่จุดหมายอันยาวไกลในทวีปยุโรป เพื่อแสวงหาประสบการณ์ทางศิลปะ
  
การแสดงงานและการพบปะศิลปินนักวิจารณ์ต่างวัฒนธรรมขับเคลื่อนให้ประติมากรไทยผู้มีไฟสร้างสรรค์สามารถพัฒนาผลงานของตนสู่งานแบบนามธรรมในระดับสากลได้ เมื่อเดินทางกลับมายังบ้านเกิด   ศิลปินอิสระผู้มุ่งมั่นไม่ได้นำสิ่งใดติดตัวกลับมาด้วยนอกจากประสบการณ์ด้านศิลปะจากต่างแดนร่วม 12 ปี เต็ม ด้วยจิตวิญญาณแห่งนักสร้างสรรค์ผู้แสวงหาและการได้กลับมาพบ อินสนธิ์ วงค์สาม ได้ผูกโยงวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่นทางภาคเหนือเข้ากับศิลปะนามธรรมได้อย่างกลมกลืน 
 
นิทรรศการ “อินสนธิ์ วงค์สาม : จิตวิญญาณอิสระ” จัดแสดงผลงานประติมากรรม (2517- ปัจจุบัน) ภาพพิมพ์แกะไม้ (2542-ปัจจุบัน)  และงานจิตรกรรมชุดใหม่ (2556-ปัจจุบัน)  ของ อินสนธิ์ วงค์สาม ร่วมร้อยชิ้น ผลงานมักถ่ายทอดลักษณะพิเศษหลายอย่างที่ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับความล้ำลึกจากจิตใจภายในของมนุษย์  รวมถึงศิลปกรรมชิ้นสำคัญอื่นๆ เช่น ประติมากรรมไม้ชุดห้วยไฟ (2517-2520)  ที่สร้างสรรค์จากเศษซากตอไม้สักขนาดใหญ่ แสดงถึงการโหยหาความบริสุทธิ์ในสภาวะธรรมชาติ  ช่วยโน้มนำชุมชนให้ระลึกถึงต้นไม้และผืนป่า ที่สูญเสีย ผลงานประติมากรรมโลหะจำลอง ขนาดเล็กชุดใต้ทะเล  (2511-2517) ที่แสดงถึงความตระหนักในปัญหา สิ่งแวดล้อมและวิกฤตทางธรรมชาติ  ซึ่งผลงานบางส่วนจะได้รับการถ่ายทอดให้เป็นจินตภาพที่สมบูรณ์ในรูปแบบวิดีโออาร์ตโดยศิลปินร่วมสมัย  จิรศักดิ์ แสงพลสิทธิ์ และผลงานประติมากรรมถอดได้ (2540-ปัจจุบัน) ที่นำเศษไม้รูปทรงแปลกมาประกอบกันด้วยวิธีการเข้าไม้สลักเดือย  สามารถจับปรับขยับทิศทางรูปทรงได้ เป็นต้น

ศิลปินผู้เป็นต้นแบบของนักสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงคติ และวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้สัมพันธ์กับศิลปะนามธรรม ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะตะวันตกอย่าง อินสนธิ์ วงค์สาม นั้นเป็นบุคลิกพิเศษที่จะปรากฏอยู่น้อยนักในปัจจุบัน เรื่องราวของท่านได้ให้แรงบันดาลใจกับศิลปินรุ่นใหม่ วชร กัณหา ในการสร้างงานภาพยนตร์เชิงสารคดีจากชีวิต  การแสวงหา การฝึกตน  การค้นพบตนเองของอินสนธิ์ วงค์สาม ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ ในวงการศิลปกรรมของไทย

 
 
ภัณฑารักษ์รับเชิญ: ทักษิณา พิพิธกุล
ศิลปินรับเชิญ: จิรศักดิ์ แสงพลสิทธิ์ และ วชร กัณหา
 
ริเริ่มและดำเนินงานโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ติดต่อสอบถาม: [email protected]