People's Gallery
ไตรภาคสมบูรณ์
โดย กาญจนา ชลศิริ, ณัฐภัทร ดิสสร และ วรัญญู ช่างประดิษฐ์
พิธีเปิดวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน เวลา 18.00 น.
“นิทรรศการครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโททั้งสามคน นัยยะหนึ่ง เพื่อแสดงเผยแพร่ผลงานของตนในเชิงหลักสูตรของการศึกษา อีกนัยยะหนึ่งนั้น เพื่อสื่อสารเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมจากศิลปินทั้งสาม ถ่ายทอดมุมมองจากเบื้องลึกของจิตใจ จากแรงบันดาลใจที่หาได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ สังคม หรือแม้กระทั่งความเชื่อ ที่กลั่นกรองและแปรสภาพเป็นการรับรู้ผ่านภาษาและอัตลักษณ์จากนิทรรศการเดี่ยว ปลีกย่อยจากสามศิลปิน”
ชื่อนิทรรศการ: ชีวิตในธรรมชาติ
ศิลปิน : กาญจนา ชลศิริ
“ความมีชีวิตของธรรมชาติ ปรากฏการณ์ ฤดูกาล หรือไม่ว่าจะเป็น เนื้อหาเรื่องเล็กๆในธรรมชาตินั้น เป็นแม่บทในการขับเคลื่อน กระตุ้นให้เกิดจินตภาพ สร้างปฏิสัมพันธ์กับความรู้สึกภายในใจ การเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงธรรมชาตินั้น นอกจากจะมอบสุนทรียภาพแล้วยังตกผลึกกลายเป็นวิสัยทัศน์ของความเป็น”สัจธรรม” ที่ข้าพเจ้าสามารถเทียบเคียงกับเรื่องราวของการดำเนินชีวิต และทำความเข้าใจได้โดยความเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมอบพื้นที่แห่งความสุข จินตนการ อิสระ ผ่อนคลาย เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเติมต็มของชีวิต ข้าพเจ้าประทับใจในความงามที่สัมผัสได้จากกายภาพของธรรมชาติ และความลึกซึ้งซ่อนอยู่เบื้องลึกแต่สว่างไสว คล้ายแสงหิงห้อยในพุ่มไม้เวลากลางคืน เป็นสาระในธรรมชาติที่ข้าพเจ้าต้องการนำมาสื่อในผลงานศิลปะโดยเทคนิคส่วนตัว ที่ยืดหยุ่นผ่อนปรน และใช้ความเป็นทัศนธาตุซึ่งเป็นธรรมดาสามัญพื้นฐาน ในงานศิลปะ สื่อออกมาโดยอ้างอิงจากปรากฏการณ์ของธรรมชาติผ่านกระบวนการภายใน ภาพที่สื่อออกมาจึงเป็นการบิดเบือนไปจากความจริงที่ปรากฏต่อสายตาเบื้องหน้า แต่เป็นภาพความจริงของความรู้สึกของสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในจิตใจ”
ประเภทของงาน: ศิลปะจัดวาง /จิตรกรรมสองมิติ/ เทคนิคผสม
ชื่อนิทรรศการ : “ดี/ดีกว่า/ดีที่สุด”
ศิลปิน : ณัฐภัทร ดิสสร
“พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “มนุษย์” ไว้ดังนี้ มนุษย์ หมายถึง สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง ส่วนคำว่า “คน” น. มนุษย์, สัตว์โลกพันธุ์หนึ่ง ต่างจากสัตว์เดียรัจฉาน”
โดยความมุ่งหวังมนุษย์เราอยากสร้างให้สังคมที่ตนอาศัย เป็นสังคมในอุดมคติ มีแต่ความดีงาม และสันติสุข จึงก่อตั่งบทบัญญัติพัฒนา “คน” ให้เป็น “มนุษย์” ผ่านกาลเวลาจนปัจจุบันคนหลายคนกลายเป็นมนุษย์มากขึ้น และด้วยความเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน มันก็เกิดคำถามที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ตัดสินกันที่ตรงไหน” จาก การกระทำ,คำพูด,ความรู้,จิตใจ,ความจริง หรือ ศักดิ์ศรี ใครที่มีอะไรที่มากกว่า คนผู้นั้นควรถูกให้ค่าของความเป็นมนุษย์ที่มากกว่า หรือ เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความจริงมากกว่าที่ตัดสินทุกอย่าง แล้วถ้าสิ่งที่ทำและคิดมันคือคนละเรื่องกัน คำถามคือควรเชื่อสิ่งใด ถ้าใจเป็นนายกายเป็นบ่าวแล้วความกำหนัดที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจนั้นมนุษย์เรามุ่งหวังสิ่งใดล้วนเป็นเรื่องนามธรรมแทบทั่งสิ้น หากศาสนาและกฎหมายพยายามทำให้คนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นแล้วคำตอบทุกวันนี้คืออะไร หากเนื้อแท้โดยเผ่าพันธุ์แล้วเราทั่งหลายคือ “คน”แล้วสิ่งใดที่ทำให้ “คน”ทั่งหลายทั่งมวลนี้กลายเป็น “มนุษย์”
ประเภทของงาน : จิตรกรรมผสมบนแผ่นไม้,วัสดุสำเร็จ, ศิลปะจัดวาง / Mixed Painting on wood, Ready Made, Installation
ชื่อนิทรรศการ : แดนพรหมจรรย์
ศิลปิน : วรัญญู ช่างประดิษฐ์
แนวความคิดที่ก่อให้เกิดนิทรรศการครั้งนี้ :
“แดนพรหมจรรย์ คือโลกทัศน์ในอุดมคติของข้าพเจ้า ที่ซึ่งไร้กฎเกณฑ์หรือการยึดติดบรรทัดฐานใดๆ เพื่อคัดกรอง ทบทวนและพิจารณาถึงสภาวะจิตที่แท้จริงของข้าพเจ้าผ่านการค้นหาสุนทรียะใหม่ในการสื่อสาร ทั้งเชิงสอดคล้องหรือขัดแย้ง ความงามและความสบายใจที่ได้รับจากกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ อันมีปลายทางเดียวกันกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง”
ประเภทของงาน : จิตรกรรมผสมบนเปเปอร์มาเช่, ศิลปะจัดวาง / Mixed Painting on Papermache, Installation