Main Exhibition
สนามตรึก – Imply Reply: หวง หย่ง ผิง และ สาครินทร์ เครืออ่อน
จัดโดย: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ถัง คอนเทมโพรารี อาร์ต
สนับสนุนโดย: สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
งานแถลงข่าว: 22 มกราคม 2558 เวลา 15:00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5
พิธีเปิด: 11 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 18:30 น.
พิธีเปิด: 11 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 18:30 น.
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ถัง คอนเทมโพรารี อาร์ต ภูมิใจเสนอ "สนามตรึก – Imply Reply: หวง หย่ง ผิง และ สาครินทร์ เครืออ่อน" นิทรรศการศิลปะงานแรกที่รวบรวมผลงานของศิลปินอาว็อง-การ์ดชาวจีนจากกรุงปารีส หวง หย่ง ผิง และศิลปินไทยร่วมสมัยชั้นนำ สาครินทร์ เครืออ่อน โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานของศิลปินทั้งสองท่าน ได้ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แกลเลอรี่ชั้น 8 ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ถึง 26 เมษายน 2558
สืบเนื่องจากการแผ่ขยายของวงการศิลปะในทวีปเอเชีย เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าควรมีการแลกเปลี่ยนผลงานทางศิลปะระหว่างประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียและประเทศไทยเพื่อสำรวจถึงประเด็นความคิดวิเคราะห์ที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียและส่งผลกระทบต่อบริบทระดับโลกในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและถัง คอนเทมโพรารี อาร์ต จึงได้เชิญศิลปินชั้นนำชาวจีน จากประเทศฝรั่งเศส หวง หย่ง ผิง ให้มาร่วมงานกับศิลปินไทยที่มีผลงานมาแล้วทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่าง สาครินทร์ เครืออ่อน โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ ฝ่ายภัณฑารักษ์ของหอศิลปฯ ได้วิจัยทางด้านเนื้อหา และทำงานร่วมมือกับถัง คอนเทมโพรารี อาร์ตอย่างใกล้ชิดเพื่อรวบรวมผลงานชิ้นสำคัญของศิลปินทั้งสอง ก่อนจะนำมาจัดแสดงเป็นไฮไลท์ในนิทรรศการศิลปะครั้งนี้
ภายในงาน ท่านจะได้พบกับผลงานอันโดดเด่นของ หวง หย่ง ผิง ซึ่งรวบรวมมาจากคอลเลคชั่นงานศิลปะระดับโลกของทั้งนักสะสมงานศิลป์และสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมอย่างศูนย์ศิลปะ จอร์จ ปองปิดู ปารีส (Centre Pompidou) เพื่อประสานกันเป็นภาพรวมที่บ่งบอกถึงมุมมองทางศิลปะของ หวง หย่ง ผิง ในฐานะหนึ่งในศิลปินผู้ร่วมขับเคลื่อนแนวคิด “เซียะเหมินดาดา (Xiamen Dada Movement) ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เพื่อสร้างสรรค์ตัวตนทางวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ให้กับประเทศจีน ผ่านทางการประสานแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกเข้ากับมุมมองจากรากฐานของจีนบวกกับประเด็นทางสังคมร่วมสมัย โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ยังคงมีอิทธิพลต่อผลงานของเขาจวบจนปัจจุบัน สำหรับผลงานโดดเด่นของหวง หย่ง ผิง ที่จะนำมาจัดแสดงนั้น ได้แก่ Nightmare of King George V – 2002 งานประติมากรรมขนาดใหญ่รูปเสือขี่ช้าง ที่สื่อถึงการล่าอาณานิคมและการล่าสัตว์ป่าในสมัยนั้น Ombre Blanche – 2009 งานประติมากรรมช้างเผือกที่สื่อความหมายในบริบทท้องถิ่นและบริบทสากลอย่างลุ่มลึก และผลงานชิ้นใหม่อย่าง Tower – 2014 อีกหนึ่งชิ้นงานประติมากรรมที่มีรูปลักษณ์คล้ายอาคารร้าง อันเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงซาก ที่หลงเหลือจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ งานประติมากรรมและศิลปะจัดวางของหวง หย่ง ผิง ที่นำมาจัดแสดง เป็นการผสมผสานผลงานประติมากรรมและงานติดตั้ง โดยนำมรดกทางวัฒนธรรมและปรัชญา ของโลกตะวันออกและตะวันตกมาใช้อย่างกลมกลืน ก่อนจะสื่อออกมาในรูปแบบของวัตถุตามขนบหรือภาพ อันเป็นสัญญะแทนสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน
สำหรับผลงานของสาครินทร์ เครืออ่อน ศิลปินไทยที่โดดเด่นด้วยรูปแบบเฉพาะตัวแบบร่วมสมัย ที่จะร่วมจัดแสดงด้วยนั้น สะท้อนถึงพื้นฐานความสนใจในศิลปะไทยแบบดั้งเดิม ผลงานของเขาผสมผสานเรื่องราวตามตำนานอันเก่าแก่ของคนไทยเข้ากับความเข้าใจขนบ ทำให้ศิลปินสามารถวางแนวทางผลงานทางศิลปะหลายรูปแบบด้วยวิธีการอันมีเอกลักษณ์ โดยชิ้นงานที่เลือกมาจัดแสดงประกอบกับผลงานของหวง หย่ง ผิง นี้ เป็นงานศิลปะที่สะท้อนถึงความสนใจของสาครินทร์ในสังคมสมัยใหม่ อิทธิพลของแนวคิดแบบทุนนิยม ความเป็นวัตถุนิยมในสังคมศาสนาพุทธ และภาพลวงของสังคม รวมทั้งรากฐานของเรื่องเล่าสื่อถึงความไม่ธรรมดาในสังคมไทย ส่วนผลงานที่เป็นไฮไลท์ในนิทรรศการ ได้แก่ Yellow Simple– 2006 งานประติมากรรมรูปศีรษะมนุษย์ขนาดใหญ่ที่ดูคล้ายคลึงกับพระเศียรของพระพุทธเจ้า Upside Down– 2014 งานผ้าปักผืนใหญ่ที่เล่าเรื่องราวของนักล่าเสือจากบทละครพื้นบ้านของชาวไทยในภาคใต้ และ Rat House– 2014 ผลงานประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเล่นการพนันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเล่นกันในอดีต โดยมีการฉายภาพยนตร์เงียบอยู่ภายในตัวชิ้นงาน โดยผลงานทุกชิ้นล้วนเป็นการผสมผสานความงดงามกับแง่คิดทางศีลธรรม ทั้งยังสะท้อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์สังคมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
นิทรรศการ “สนามตรึก – Imply Reply: หวง หย่ง ผิง และ สาครินทร์ เครืออ่อน ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการจัดหาชิ้นงานศิลปะจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศจีนตามลำดับ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ทั้งในบริบทท้องถิ่น ภูมิภาค และโลก ด้วยผลงานที่สะท้อนโลกทัศน์อันหลายหลายผ่านการวิจารณ์และเสียดสีประเด็นสำคัญในสังคมจากศิลปินต่างรุ่นต่างวัฒนธรรมทั้งสองท่าน โดยชื่อนิทรรศการ “สนามตรึก – Imply Reply” นั้น สื่อถึงเป้าหมายในการกระตุ้นกระบวนการโต้ตอบทางความคิดระหว่างศิลปินและผู้เข้าชมนิทรรศการ และการบูรณาการหลากหลายชิ้นงานจัดแสดงที่ปลุกเร้า ท้าทายให้ผู้ชมได้ไตร่ตรองแนวคิดเบื้องหลังผลงาน ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และประเด็นเชิงวิเคราะห์ในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อสังคมยุคร่วมสมัย
ภัณฑารักษ์ : พิชญา ศุภวานิช
————-
EXHIBITION EDUCATION AND ACTIVITY : กิจกรรมการศึกษานิทรรศการ “สนามตรึก” หวงหย่งผิง และ สาครินทร์ เครืออ่อน
กิจกรรม : Artist Tour โดย อาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน
วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2558 เวลา 14.00 – 15.00 น.
ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ดอกไม้ เทพขุยซิง เศียรพระพุทธรูปกับผงกะหรี่ พรมผนัง บ้านหนู ลิงปลอม และ Lotus Pod ผลงานศิลปะของอาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน ในนิทรรศการ“สนามตรึก Imply > Reply” ผลงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการได้อย่างไร และทําไมถึงต้องเป็นสิ่งเหล่านี้ สามารถหาคําตอบได้ในกิจกรรม Artist Tour กิจกรรมพาชมนิทรรศการโดยศิลปิน อาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน ผู้เป็นเสมือนตัวแทนคนไทยในการสร้างเกมหมากรุกโต้ตอบกับศิลปินชาวจีน หวงหย่งผิง ผ่านงานศิลปะ
นิทรรศการ “สนามตรึก – Imply > Reply : หวงหย่งผิง และสาครินทร์ เครืออ่อน” ต้องการกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคําถามต่อสิ่งต่างๆในนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรือแม้กระทั่งการจัดวางงานศิลปะ ที่เปรียบเสมือนการผลัดกันวางหมากระหว่างอาจารย์สาครินทร์ และศิลปินชาวจีน หวงหย่งผิง
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งคําถาม ตั้งข้อสันนิษฐาน และนําเสนอความเห็นต่องานศิลปะ ผ่านกิจกรรม Artist Tour โดยอาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2558 เวลา 14.00 – 15.00 น. ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 02-214-6630-8 ต่อ 533 Email : [email protected]