Arts Network Exhibitions

ศิลปินชาวอินเดีย อานูป แมทธิว โทมัส คว้ารางวัล ‘Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art’ ครั้งที่ 2



หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์ (Han Nefkens Foundation) ประเทศสเปน ได้ร่วมกันประกาศมอบรางวัล ‘Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art’ ซึ่งเป็นรางวัลด้านศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ ครั้งที่ 2 ให้แก่ ศิลปินชาวอินเดีย อานูป แมทธิว โทมัส (Anup Mathew Thomas) โดยทั้ง 2 องค์กรได้ตกลงที่จะร่วมกันส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยในเอเชีย ด้วยการมอบรางวัล ’Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art’ เป็นประจำทุก  2 ปี ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ไม่จำกัดสัญชาติ สร้างผลงานอยู่ในทวีปเอเชีย มีอาชีพเป็นศิลปินเต็มตัว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างระดับสากล  โดยศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัล 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสร้างสรรค์ผลงานในระยะเวลา 2 เดือนที่อยู่ที่กรุงเทพฯ และแสดงผลงานที่หอศิลปกรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 เดือน 
 
คำกล่าวจากคณะกรรมการตัดสิน
คณะกรรมการตัดสินให้เหตุผลในการคัดเลือก อานูป แมทธิว โทมัส ศิลปินจากประเทศอินเดีย ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลนี้ว่าเป็นการลงมติโดยเอกฉันท์ เนื่องจากความโดดเด่นของผลงานภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ฉีกกรอบ ขนบ และข้อจำกัดของศิลปะการถ่ายภาพ คณะกรรมการประทับใจแนวทางและรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนของอานูป ตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมเสาะหาและค้นคว้าข้อมูล ไปจนถึงการเดินทางไปบันทึกภาพตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องใช้ความอดทนในการบันทึกภาพผ่านช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน และปล่อยให้ภาพถ่ายเล่าเรื่องราวด้วยตัวมันเอง เขาสามารถทำให้ ‘สถานที่’ กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพอย่างเป็นธรรมชาติ แทนที่จะเป็นเพียงแค่ภูมิทัศน์ที่ ‘แปลกแตกแยก’ ในขณะที่เรื่องราวที่เขาต้องการสื่อก็ได้รับการถ่ายทอด พิจารณาและสะท้อนออกมาในรูปแบบที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกและข้อสงสัยต่างๆ อันจะนำไปสู่การตีความ ย้อนคิด และก่อให้เกิดประเด็นพูดคุย พิจารณา และถกเถียงต่อไป
 
คณะกรรมการเชื่อมั่นว่าอานูปเป็นศิลปินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรางวัลนี้ และการให้ศิลปินท่านนี้มาพำนักที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและแสดงงานนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวศิลปินและเมือง คณะกรรมการมั่นใจว่าศิลปินจะได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจากกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคมและอิทธิพลด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานของเขาอีกด้วย
 

 
อานูป แมทธิว โทมัส (Anup Mathew Thomas) 
 
อานูป แมทธิว โทมัส เป็นศิลปินภาพถ่าย ผลงานของเขามักจะพูดถึงเรื่องราวในชุมชนท้องถิ่น ผลงานของเขาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะเป็นชุดภาพถ่ายที่สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นเมืองของรัฐเกรละ บ้านเกิดของเขา ภาพถ่ายของโทมัสจะพาผู้ชมเข้าไปรับรู้เรื่องราวที่อาจจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา ผ่านรูปแบบการถ่ายทอดที่ก้ำกึ่งระหว่างสารคดีและงานศิลปะ โดยโทมัสใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ผสมผสานระหว่างความรู้สึกส่วนตัวเข้ากับการถ่ายทอดข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ผลที่ได้คือผลงานภาพถ่ายพอร์ตเทรตบุคคลที่ผ่านการจัดวางอย่างรอบคอบ แนวทางการถ่ายภาพของเขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจับภาพและความรู้สึกในชั่วขณะนั้นของศิลปะการถ่ายภาพ และความน่าทึ่งของภาพถ่ายในฐานะสื่อศิลปะที่สามารถการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างไร้ขีดจำกัดและกระตุ้นให้เกิดความคิดและความรู้สึกต่างๆ ได้มากมาย
อานูป แมทธิว โทมัส ใช้ชีวิตและทำงานที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย
 
ผลงานการแสดงงานแบบนิทรรศการกลุ่มที่ผ่านมา อาทิ Kochi Muziris Biennale เมืองโกชิ ประเทศอินเดีย (2555); The Matter Within, Yerba Buena Center for the Arts ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (2554); Generation in Transition, Zacheta National Gallery of Art วอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ (2554); The Self and the Other, La Virreina Centre de la Imatge บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน (2552-53); และ Lapdogs of the Bourgeoisie, Arnolfini บริสตอล ประเทศอังกฤษ (2552) ผลงานการจัดแสดงงานเดี่ยวได้แก่ นิทรรศการที่ Gasworks Gallery ลอนดอน ประเทศอังกฤษ (2550); The Contemporary Image Collective ไคโร ประเทศอียิปต์ (2553) และนิทรรศการ Lothringer13 มิวนิค ประเทศเยอรมัน (2556) นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัล The Abraaj Group Art Prize ในปีพ.ศ. 2557 อีกด้วย
 
คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย:
ลักขณา คุณาวิชยานนท์ (Luckana Kunavichayanont) ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ประเทศไทย)
ฮิลด้า เทียร์ลิงค์ (Hilde Teerlinck) ประธานมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์  (ประเทศฝรั่งเศส) 
ศจ. อูเท่ เมทา บาวเออร์ (Prof. Ute Meta Bauer) ผู้อำนวยการ Centre for Contemporary Art Singapore – Nanyang Technological University (ประเทศสิงค์โปร์)
ดร. ยูงวู ลี (Dr. Yoonwoo Lee) ประธาน International Biennial Association (IBA) (ประเทศเกาหลีใต้)
โบซ กฤษณะมาชาริ (Bose Krishnamachari) ประธาน Kochi Biennial Foundation (ประเทศอินเดีย)
ฮาน เนฟเก้นส์ (Han Nefkens)

 
ลักขณา คุณาวิชยานนท์
ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
ลักขณา คุณาวิชยานนท์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี (เอกภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีพ.ศ. 2532 และปริญญาโท มหาบัณฑิตเอเชียศึกษาจาก University of New England ประเทศออสเตรเลีย ในปีพ.ศ. 2536 จากนั้นทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ โครงการนิทรรศการศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างปีพ.ศ. 2538-2539 โครงการนี้นำไปสู่การก่อตั้งเว็บไซต์ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นทั้งเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลศิลปะ และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงที่จัดแสดงผลงานของศิลปินชื่อดังหลายร้อยท่าน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การก่อตั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครในปีพ.ศ. 2551 ระหว่างพ.ศ. 2540- 2546 ลักขณาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดู ซึ่งเป็นหอศิลป์เอกชนที่มุ่งสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ของไทย ก่อนจะออกไปเป็นภัณฑารักษ์อิสระและที่ปรึกษาส่วนนิทรรศการและกิจกรรมหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ต่อมาในปีพ.ศ. 2547 ได้ร่วมเป็นภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการไตรสูรย์ของถวัลย์ ดัชนี ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 เป็นภัณฑารักษ์ร่วมกับสุธี คุณาวิชยานนท์และปัญญา วิจินธนสาร คัดสรรศิลปินไทยแสดงผลงาน ณ ศาลาไทย ในมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 51 ณ กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี พ.ศ.2551-2552 เป็นภัณฑารักษ์รับเชิญร่วมกับอภิศักดิ์ สนจด คัดเลือกและจัดแสดงนิทรรศการ “กรุงเทพฯ 226: ศิลปะจากยุคสร้างบ้านแปงเมืองสู่กรุงเทพฯ ในฝัน” นำเสนอผลงานของศิลปินชั้นนำของไทยและต่างประเทศกว่า 90 ท่าน ผลงานศิลปะกว่า 220 ชิ้น ซึ่งเป็นนิทรรศการเปิดตัวหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ หลักสูตรการบริหารจัดการศิลปะในภาคอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยากรบรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท วิชาภัณฑารักษ์ศึกษา ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมาลักขณาได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ จากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส


 

ฮิลด้า เทียร์ลิงค์
ประธานมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์ 
 
ฮิลด้า เทียร์ลิงค์จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และการสื่อสารจากประเทศเบลเยี่ยมและสเปน เธอเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศิลป์ Mies van der Rohe Pavilion เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน จากนั้นเธอย้ายไปที่เมือง Perpignan ประเทศฝรั่งเศส และได้ก่อตั้งศูนย์ศิลปะซึ่งอยู่ภายใต้สถาบันศิลปะของเมือง ปีพ.ศ. 2545 เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการสถาบัน CRAC Alsace ในเมือง Altkirch ประเทศฝรั่งเศส และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 จนถึง 2557 เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Frac Nord-Pas de Calais ในเมือง Dunkirk ซึ่งเป็นเครือข่ายสถาบันศิลปะร่วมสมัยอันโด่งดังของประเทศฝรั่งเศส โดยหนึ่งในผลงานของเธอคือการควบคุมดูแลการสร้างอาคารใหม่ของ Frac ที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของสถาบันอย่าง “AP2” ซึ่งเป็นอดีตโรงต่อเรือขนาดกว่า 9,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ท่าเรือของเมือง Dunkirk และออกแบบโดย Lacaton & Vassal ในปีพ.ศ. 2556 เธอได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส  เธอเป็นสมาชิกของสถาบัน CNAP และ FRAC (ปารีส) เป็นที่ปรึกษาของพิพิธภัณฑ์ Middelheim Museumเมืองแอนท์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม และเป็นคณะกรรมการบริหาร Koning Boudewijnstichting กรุงบรัสเซลส์ ล่าสุดเธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ของเทศกาล Biennale ‘Beaufort’ 2015 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศเบลเยี่ยม
 

 

ศจ. อูเท่ เมทา บาวเออร์ 
ผู้อำนวยการก่อตั้ง NTU Centre for Contemporary Art Singapore (CCA)
 
อูเท่ เมทา บาวเออร์ เป็นภัณฑารักษ์ศิลปะร่วมสมัย โดยเน้นที่การผสมผสานสื่อต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ วิดีโอและเสียง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 เป็นต้นมา อูเท่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการก่อตั้ง Centre for Contemporary Art (CCA) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของ Nanyang Technological University (NTU) ประเทศสิงค์โปร์ โดยเธอดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ School of Art, Media and Design ด้วย ระหว่างปีพ.ศ. 2555-2556 บาวเออร์เป็นอาจารย์และคณบดี School of Fine Art ที่ Royal College of Art กรุงลอนดอน ก่อนหน้านั้นเธอเป็นรองศาสตราจารย์ที่ Massachusetts Institute of Technology ซึ่งเธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยก่อตั้ง Program in Art, Culture and Technology (2552–2555) และผู้อำนวยการ MIT Visual Arts Program (2005–09), School of Architecture and Planning นอกจากนี้เธอยังเป็นศาสตราจารย์และหัวหน้าแผนก Institute of Cultural Studies ที่ Academy of Fine Arts Vienna ประเทศออสเตรียเป็นเวลา 10 ปี (2539–2549) ระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการก่อตั้ง Office for Contemporary Art Norway ที่เมืองออสโล (2545-2548) เธอเป็นผู้ดูแล Nordic Pavilion ในมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ครั้งที่ 50 (2546) และเป็น Norwegian contributor งาน Bienal de São Paulo (2547) นอกจากนี้ยังเป็นผู้อำนวยการร่วม (ร่วมกับ Hou Hanru) เทศกาล World Biennial Forum No. 1 เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ (2555) บาวเออร์ดำรงตำแหน่ง Artistic Director เทศกาล Berlin Biennale for Contemporary Art ครั้งที่ 3 (2547) และภัณฑารักษ์ร่วมนิทรรศการ Documenta11 (2544–2545) บาวเออร์ยังเขียนหนังสือด้านศิลปะร่วมสมัยมากมาย อาทิ Intellectual Birdhouse: Artistic Practice as Research (2555), World Biennale Forum No 1 – Shifting Gravity (2555) และ AR – Artistic Research (2556)

 
ดร. ยูงวู ลี 
ประธานสมาพันธ์เบียนนาเล่นานาชาติ (IBA) 
 
ดร. ยูงวู ลี เป็นนักเขียน ภัณฑารักษ์ และนักประวัติศาสตร์ศิลป์จากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และทฤษฎีวิเคราะห์ที่ Korea University และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เขาเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งวารสารวิจารณ์ศิลปะ NOON (ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2552) ปีพ.ศ. 2538 ดร. ลีดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการก่อตั้งเทศกาล Gwangju Biennale ซึ่งการจัดงานในปีแรกภายใต้ธีม Beyond the Borders มีผู้เข้าร่วมถึง 1.63 ล้านคน ต่อมาในปีพ.ศ. 2547 เขาได้รับเชิญให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ Gwangju Biennale ในวาระครบรอบสิบปีของเทศกาล ก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร Centre for New Media Art ที่นิวยอร์ค ในวาระครบรอบ 30 ปี Gwangju Uprising ที่เกิดขึ้นเมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2523 เขาเป็นภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการ The Flower of May (2553) ซึ่งจัดแสดงผลงานของศิลปินอย่าง Ai Weiwei, Alfredo Jaar, Michelangelo Pistoletto, Dora García, Ryan Gander, Candice Breitz, Lee Bul, Kader Attia และ Baptist Coelho นอกจากนี้ยังเป็นภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการ Nam June Paik ที่ Korean National Museum of Contemporary Art และเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์งาน  Whitney Biennial ที่กรุงโซลในปีพ.ศ. 2536 และนิทรรศการ Tiger’s Tail  ในมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ (2538) ผลงานหนังสือของเขาได้แก่ Information และ Reality (Fruitmarket Gallery Edinburgh), Nam June Paik (Samsung Publication) และ The Origins of Video Art (Munye Madang) ปัจจุบันดร. ลี ดำรงตำแหน่ง President of the International Biennial Association (IBA) และ President of the Gwangju Biennale Foundation ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551-2557

 
โบซ กฤษณะมาชาริ 
ประธานมูลนิธิโคชิเบียนนาเล่ 
 
โบซ กฤษณะมาชาริ เป็นศิลปินนักวาดภาพและภัณฑารักษ์ชาว Malayali ที่อาศัยอยู่ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เขาเกิดเมื่อพ.ศ. 2506 ที่หมู่บ้าน Magattukara ใกล้กับ Angamaly รัฐเกรละ เขาจบจาก GHSS Puliyanam และปริญญาตรีจาก Sir JJ School of Art ที่มุมไบเมื่อพ.ศ. 2534 ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโทในปีพ.ศ. 2543 ที่ Goldsmiths College, University of London เขาได้รับรางวัล Kerala Lalithakala Akademi Award (2528), รางวัล British Council Travel Award (2536), รางวัล Mid-America Arts Alliance Award (2539), รางวัล Charles Wallace India Trust Award (2542–2543) และทุน Akademi Fellowship จาก Kerala Lalithakala Academy และรองอันดับหนึ่งรางวัล Bose Pacia Prize for Contemporary Art ที่นิวยอร์คเมื่อปีพ.ศ. 2544 โบซเป็นศิลปินที่ทำงานหลากหลายแนว ตั้งแต่ภาพวาดแนวนามธรรมที่มีสีสันฉูดฉาด ภาพวาดแนว figurative ประติมากรรม ภาพถ่าย งานสื่อผสม และสถาปัตยกรรม ตั้งแต่พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา โบซอาศัยและทำงานที่เมืองมุมไบ เขาเป็นผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ Kochi Biennale Foundation และดำรงตำแหน่ง Biennale Director ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Kochi-Muziris Biennale 

 
ฮาน เนฟเก้นส์
 
ฮาน เนฟเก้นส์  เป็นนักเขียนและผู้ให้การสนับสนุนวงการศิลปะชาวดัตช์ที่พำนักอยู่ในบาร์เซโลน่า เขาเริ่มสะสมงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 คอลเล็กชั่นศิลปะ Han Nefkens H+F Collection ของเขาถูกยืมไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วยุโรป นอกจากจะสะสมและบริจาคงานศิลปะแล้ว เนฟเก้นส์ยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนวงการศิลปะทั่วโลกด้วยการสนับสนุนและพัฒนากิจกรรมและโครงการร่วมกับศิลปินและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ  ฮาน เนฟเก้นส์ให้การสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ นักเขียนและภัณฑารักษ์ ด้วยการจัดการประกวดและให้รางวัลต่างๆ อาทิ รางวัล Han Nefkens Foundation MACBA Award และทุน Creative Writing Grant ที่จัดขึ้นในประเทศสเปน และในประเทศไทยกับรางวัล BACC Award for Contemporary Art ในขณะเดียวกัน Han Nefkens Fashion on the Edge ก็ให้การสนับสนุนและจัดนิทรรศการแฟชั่นของศิลปินทั้งที่มีชื่อเสียงและศิลปินรุ่นใหม่ที่ Museum Boijmans Van Beuningen ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี เนฟเก้นส์ยังริเริ่มจัดทำโครงการ ArtAids ซึ่งเป็นโครงการที่นำศิลปะไปใช้รณรงค์ต่อสู้กับโรคเอดส์ ArtAids ไม่เพียงแค่ให้การสนับสนุนศิลปินเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับโรคเอดส์เท่านั้น แต่ยังให้เงินสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคเอดส์อีกด้วย ในปีพ.ศ. 2554 ฮาน เนฟเก้นส์ ได้รับรางวัล Silver Carnation Award จากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์สำหรับการอุทิศตนให้กับวงการศิลปะ
 
รางวัล Han Nefkens Foundation – BACC Award for Contemporary Art เป็นการร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
มูลนิธิฮานเนฟเก้นส์เป็นองศ์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินรุ่นใหม่ ด้วยการให้ความสนับสนุนด้านการเงินและการช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านการร่วมมือกับสถาบันและองค์กรด้านศิลปะทั่วโลก
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ไลลา บุนนาค ฝ่ายกิจกรรมเครือข่ายต่างประเทศ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร. 02 214 6630-8 ต่อ 528 โทรสาร 02 214 6639