24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ
วันศิลปินแห่งชาติ ได้รับการกำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (24กุมภาพันธ์ 2310) เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลากหลายสาขา ทั้งด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมแกะสลักบานประตูไม้พระวิหาร วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม ด้านวรรณกรรม ทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมาก เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้านวรรณกรรมนี้เอง ทำให้ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมต่างๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้คัดเลือก และมอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นปประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ศิลปินแห่งชาติทุกท่าน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า เป็นปราชญ์ด้านศิลปะที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้ที่อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันล้ำค่าไว้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษย์ชาติ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษาส่งเสริม สนับสนุน การสร้างสรรค์ศิลปะ
และเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้สืบทอดเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทย ซึ่งศิลปินผู้จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะเป็นอย่างดี และเป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักวิชาชีพของตน ละพัฒนาศิลปะของตนมาจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงความเป็นนักปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปิน ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมากมาย ใน ๓ สาขา ได้แก่
1. สาขาทัศนศิลป์ คือ ศิลปะที่สัมผัสได้ด้วยการมอง เป็นงานศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แบ่งออกเป็น
1. วิจิตรศิลป์ ประเภทงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อประสม และภาพถ่าย
2. ประยุกต์ศิลป์ ประเภทงานสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ การออกแบบผังเมือง ภูมิสถาปัตย์ การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์
2. สาขาวรรณศิลป์ คือ บทประพันธ์ที่ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
3. สาขาศิลปะการแสดง คือ ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย
2. ดนตรีไทย หมายถึง การบรรเลงเครื่องดนตรี และการขับร้อง ทั้งที่เป็นมาตรฐานกลางของชาติ เช่น ปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี ดนตรีในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการของชาวบ้าน ทุกภูมิภาค รวมทั้ง การดนตรี การขับร้องพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ตลอดจนการพากย์ เจรจา เสภา เห่ กล่อมต่าง ๆ
3. นาฏศิลป์ไทย หมายถึง การแสดงนาฏศิลป์ของไทย ทั้งที่เป็นของราชสำนัก ของส่วนราชการ และการแสดงทั่วไป เช่น โขน ละคร ฟ้อนรำ ระบำ ลิเก และการแสดงพื้นบ้านของภาค ต่าง ๆ ในประเทศไทย
3.1 ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล
3.2 ดนตรีสากล หมายถึง การบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับร้อง ซึ่งในที่นี้แบ่งออกเป็น ๓ สาขาย่อย คือ ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยสากล และดนตรีลูกทุ่ง
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกจากการระดมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศิลปะทุกสาขา ดังนี้
หลักเกณฑ์ที่ 1 คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
2. เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
หลักเกณฑ์ที่ 2 คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะ
1. ผลงานสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ของชาติ
2. ผลงานสร้างสรรค์แสดงออกถึงแนวคิด กระตุ้นและพัฒนาทางสติปัญญาแก่มนุษยชาติด้านศิลปะสาขานั้น ๆ
3. ผลงานสร้างสรรค์ให้ความรู้สึกสะเทือนใจ ให้พลังความรู้ และส่งเสริมจินตนาการ
4. ผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่นหรือมีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์
หลักเกณฑ์ที่ 3 การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ
1. ผลงานได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงาน
ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด
2. ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการ
พิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ
ศิลปินแห่งชาติ ๔ ท่านแรกที่ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ได้แก่
1. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
2. ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)
3. นายเฟื้อ หริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
4. นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)
ปัจจุบันประเทศไทยมีศิลปินแห่งชาติแล้วทั้งสิ้น 268 ท่าน แบ่งออกเป็น สาขาทัศนศิลป์ 72 ท่าน สาขาศิลปการแสดง 143 ท่าน และสาขาวรรณศิลป์ 43 ท่าน และศิลปินแห่งชาติประจำปี 2557 แก่ได้
1. นายชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
2. นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
3. นายจรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายในมัณฑนศิลป์)
4. นายบุญช่วย หิรัญวิทย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์)
5. นายนิจ หิญชีระนันท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบผังเมือง)
6. นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงสด (หนังตะลุง)
7. นางดุษฎี บุญทัศนกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงสด (ดนตรีสากล)
8. นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงสด (ดนตรีไทยลูกทุ่ง)
9. นางภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงสด (ละครเวทีและภาพยนตร์)
10. นายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงสด (โทรทัศนและภาพยนตร์)
11. นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงสด (ดนตรีไทย)
12. นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
เครดิตภาพ : mthai.com, www.wefinn.com, www.manager.co.th, www.l3nr.org