Main Exhibition
นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน: ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงฮานอย)
โครงการสัญจร: โดยฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถาบันเกอเธ่ฯ ณ กรุงฮานอย
พิธีเปิดนิทรรศการ: 17 มิถุนายน 2558 เวลา 18.00 น.
ระยะเวลาจัดแสดง: 18 – 30 มิถุนายน 2558
การแสดงสดซึ่งสาธารณชนมีส่วนร่วม โครงการต่างๆ และ กลุ่มอภิปราย: 17-18 มิถุนายน 2558
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันเกอเธ่ฯ ณ กรุงฮานอย นำเสนอนิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน: ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงฮานอย) ซึ่งเป็นโครงการสัญจรที่มุ่งสรรสร้างบทสนทนาระหว่างผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางด้านความคิด วัฒนธรรม รวมทั้งวิวาทะของศิลปะร่วมสมัยทั้งในภูมิภาคแห่งนี้และพื้นที่อื่นๆ
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และสถาบันเกอเธ่ฯ ณ กรุงฮานอย ร่วมกันพัฒนา นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน ณ กรุงฮานอย เป็นนิทรรศการสัญจรระดับนานาชาติซึ่งต่อยอดจากนิทรรศการต้นแบบคือนิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน: ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดแสดงครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2556 นิทรรศการต้นแบบนี้ ดำเนินการโดยหอศิลปกรุงเทพฯ ได้เชิญภัณฑารักษ์รับเชิญผู้เชี่ยวชาญศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามท่านที่พำนักในภูมิภาคนี้ โดยนิทรรศการดังกล่าวซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะมากกว่า 70 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานทรงอิทธิพลหรือผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อนิทรรศการครั้งนี้ ได้แจกแจงให้เห็นว่าศิลปินหลายรุ่นทั้งจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งเจ็ดประเทศใช้แนวทางการสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ที่เน้นมโนทัศน์อย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างศิลปะที่ทั้งเกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่สังคมเห็นร่วมกันอย่างไร
ขณะนี้ นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน กำลังเดินทางไปยังเมืองสำคัญ ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้ผู้ชมในประเทศอื่นๆ ได้เห็นผลงานชิ้นสำคัญของนิทรรศการ รวมถึงเติมต่อความหมายให้แก่นิทรรศการต้นฉบับที่กรุงเทพฯ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยแก่นของนิทรรศการสัญจรครั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งแนวคิดเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างอุดมการณ์ทางสังคมและภาษาในการแสดงออกด้านการสร้างสรรค์ของศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลงานศิลปะที่จะสัญจรไปในนิทรรศการครั้งนี้มาจากประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า และกัมพูชาที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณของนิทรรศการ ผ่านทัศนะของเหล่าศิลปินที่วิพากษ์สังคม ซึ่งบ่อยครั้งจะแสดงออกผ่านเรื่องเล่าทางการเมือง อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ชมจะได้เห็นผลงาน ศิลปะที่น่าตื่นตาและความลึกซึ้งด้านประวัติศาสตร์ศิลปะผ่านผลงานที่คัดสรรและนำไปจัดแสดง ณ กรุงฮานอยแล้ว นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน: ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงฮานอย) ยังได้ผสานการริเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ของภูมิภาค โดยมีกรอบคิดของนิทรรศการที่มุ่งเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป้าหมายนี้จะบรรลุได้จากการทำงานร่วมกันในพื้นที่จริงระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ และประชาคมศิลปะ รวมถึงสาธารณชน ณ กรุงฮานอย นิทรรศการสัญจรและความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ให้สัมพันธ์กับพื้นที่ของฮานอยจะทำให้เห็นถึงแนวทางการสร้างสรรค์ที่เน้นความคิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นระเบียบวิธีในการแสดงออกของศิลปินและของชุมชนศิลปะ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกและกลายเป็นวิธีการที่เด่นชัดที่สุดได้อย่างไร ซึ่งระเบียบวิธีที่เน้นมโนทัศน์ในการสร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นก่อนตัวผลงานศิลปะเสียด้วยซ้ำ นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน: ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงฮานอย) จะเสนอการอภิปรายถกเถียงด้วยภาษาแห่งการสร้างสรรค์ศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมุมมองของฮานอย ผ่านผลงานที่สร้างขึ้นในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งคัดสรรมาจากนิทรรศการต้นฉบับ จัดแสดงร่วมกับงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งหมด รวมถึงโครงการกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ กรุงฮานอย ด้วย ศิลปินทั้ง 13 ท่าน ภัณฑารักษ์ 3 ท่าน ทีมงานฝ่ายนิทรรศการและเจ้าบ้านซึ่งเป็นผู้ที่เล่นเรื่องวัฒนธรรมของเวียดนามและศิลปินเวียดนามจะร่วมกันพัฒนา นิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน: ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงฮานอย) (Hanoi Re-Focus CCC) ผ่านความร่วมมือและกิจกรรมและโครงการความร่วมมือต่างๆ รวมถึงผลงานที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด อันได้แก่ศิลปะจัดวาง ศิลปะภาพถ่าย วีดิโอ ภาพลายเส้น รวมถึงสื่อประเภทต่างๆ
เนื่องจากนิทรรศการ มโนทัศน์ บริบท และการต่อต้าน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการจัดแสดงครั้งแรก โครงการสัญจรจึงเป็นความตั้งใจของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่จะขยายเนื้อหาของนิทรรศการออกไปนอกเหนือจากบริบทของประเทศไทย เพื่อแบ่งปันทัศนะในด้านสังคมและประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีร่วมกัน ด้วยความร่วมมือกับสถาบันเกอเธ่ฯ ณ กรุงฮานอยซึ่งมีพันธกิจร่วมกัน โครงการครั้งนี้มุ่งจะกระตุ้นความคิดและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าศิลปิน นักคิด และผู้ชมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภัณฑารักษ์รับเชิญ:
อิโอลา เลนซี (สิงคโปร์)
อากุง ฮูจานิกาเจนนง (อินโดนีเซีย)
วิภาช ภูริชานนท์ (ไทย)
ศิลปินผู้ร่วมแสดงงาน ณ กรุงฮานอย:
1. อามันดา เฮง (สิงคโปร์)
2. อัง เหมียนท์ (พม่า)
3. บุ๋ย ค๊อง ข่าน (เวียดนาม)
4. ชลูด นิ่มเสมอ (ไทย)
5. ไมเคิล เชาวนาศัย (ไทย)
6. แน็ง เลย์ (พม่า)
7. ปพนศักดิ์ ละออ (ไทย)
8. สุธี คุณาวิชยานนท์ (ไทย)
9. เท เวย ลิง (สิงคโปร์)
10. ตาว เหงียน ฟาน (เวียดนาม)
11. ตุง มัย (เวียดนาม)
12. วรรณดี รัตนา (กัมพูชา)
13. วู ด่าน ตาน (เวียดนาม)
ศิลปินชาวเวียดนามผู้ร่วมโครงการ:
Nha San Collective
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Tel: 02 214 6630 ต่อ 533
Email: [email protected]
Website: www.bacc.or.th
Facebook: www.facebook.com/baccpage
Ms. Đặng Thị Thu Hà
Culture Department
Goethe-Institut Hanoi
56-58 Nguyen Thai Hoc, Ba Đinh, Hanoi
Tel: +84 4 3734 2251/52/53 (Ext. 14)
Email: [email protected]
Website: www.goethe.de/vietnam
Facebook: www.facebook.com/Goethe.Institut.Hanoi