คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ (THE JAPAN FOUNDATION, BANGKOK) เสนอ งานประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “ละคอนร่วมสมัยในอาเซียน : แนวโน้มและพัฒนาการ” (Contemporary Theatre and Performance in ASEAN : Trends and Development)
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ (THE JAPAN FOUNDATION, BANGKOK) จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “ละคอนร่วมสมัยในอาเซียน : แนวโน้มและพัฒนาการ” (Contemporary Theatre and Peformance in ASEAN : Trends and Development) ระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิชาการและศิลปินชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงาน
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการแสดงและงานประชุมวิชาการจากนักวิชาการและศิลปินต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งจะเปิดให้เห็นมุมมองอย่างกว้างขวางและหลากหลายเกี่ยวกับศิลปะการแสดงร่วมสมัยในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กัมพูชา ไทย รวมทั้งญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีผลงานการแสดงชุดใหม่จากศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ตลอดจนการแสดงชุดพิเศษจากนักศึกษาสาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับผู้กำกับการแสดงรับเชิญอีกด้วย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนการให้การสนับสนุน ด้านเงินทุนและด้านการนำผลงานร่วมสมัยไปจัดแสดงในเทศกาลต่างๆ ได้ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ รวมทั้งผลงานข้ามวัฒนธรรมที่หลากหลาย จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของศิลปะการแสดงร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะที่มีความมั่งคั่งทางความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนความหลากหลายของแนวคิดและการนำเสนอผลงาน
ผศ.ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานดังกล่าวจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อันหลากหลาย และมีคุณค่ายิ่งของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิลปะการแสดงร่วมสมัยในภูมิภาคอาเซียน “งานนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรทางการศึกษา และศิลปินในประเทศไทย ที่จะได้รู้จักศิลปะการแสดงของประเทศเพื่อนบ้านให้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้สร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านศิลปะให้มีความแนบแน่นยิ่งขึ้นภายในภูมิภาค”
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
งานประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้นำเสนอแนวโน้มและพัฒนาการทางศิลปะการแสดงในภูมิภาคอาเซียน ในมิติที่หลากหลาย รวมทั้งยังมีการแสดงร่วมสมัยที่น่าตื่นเต้น เป็นงานประชุมวิชาการที่เหมาะสำหรับนักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรในแวดวงศิลปะ และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในการแลกเปลี่ยนทัศนะต่างๆ ผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเพื่อสำรองที่นั่งในการเข้าฟังการบรรยายทางวิชาการ และสามารถจองบัตรเข้าชมการแสดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
กิจกรรม
กิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ งานประชุมวิชาการจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากไทยและต่างประเทศ และ งานแสดง 3 ชุดจากศิลปิน ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
งานประชุมวิชาการ
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 นำเสนอโดยนักวิชาการซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งสหราชอาณาจักร และไทย โดยจะนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ (สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมชาวไทย สามารถฟังการแปลสดเป็นภาษาไทยได้ผ่านหูฟังแปลภาษาซึ่งบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ซึ่งมีรายชื่อ และหัวข้อในการนำเสนอ ดังนี้
• Dr Paul Rae (University of Melbourne): “What’s New: Understanding Contemporary Performance In Southeast Asia”
• Mr Daisuke Muto (Gunma Prefectural Women's University, Japan): “Double Helix Of Modernity: Matters And Situations Of Japanese Dance”
• Dr Lim How Ngean (Thammasat University): “Moving in Uncertainty: Choreographing Modern (Dancing) Bodies in Cambodia”
• Ms Sarah Salazar & Mr JK Anicoche (Sipat Lawin Ensemble, Philippines): “Sipat Lawin Ensemble: Developing Contemporary Community Performance, And Performance Communities In The Phillipines”
• Dr Matthew Cohen (Royal Holloway University of London): “Tradition And Post-Tradition In Indonesian Performing Arts”
• Dr Sir Anril Pineda Tiatco (University of Philippines Diliman): “Mapping The Discipline Of Theatre Studies In The Contemporary Philippines: Routes And
Reroutes”
• Dr Charlene Rajendran (Nanyang Technological University, Singapore): “Critical Pedagogy; Dialogue; Difference; Transition, Collaboration”
• Dr Parichat Jungwiwattanaporn (Thammasat University): “Contemporary Theatre & Performance In Thailand: Reflexive Resonances In The Modern World”
การแสดง
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน มีการแสดงทั้งหมด 3 ชุด จำนวน 4 รอบการแสดง ทุกชุดได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ และแสดงภายในงานนี้เป็นครั้งแรกของโลก โดยฝีมือของศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะสะท้อนแก่นแท้ของสุนทรียศาสตร์ร่วมสมัย มีรายละเอียด ดังนี้
1. Daunt in Soya-Soya
ออกแบบท่าเต้นโดย Eko Supriyanto จากประเทศอินโดนีเซีย
จัดแสดง วันที่ 25 มิถุนายน 2558 เวลา 19.30 น. ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนักเต้นผู้มีท่วงท่าอันสง่างามของนาฏศิลป์ชะวา(Java)ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจศิลปะการป้องกันตัวที่ฉับไวและเข้มแข็งอย่าง Silat สิ่งที่ Eko Supriyanto สนใจคือการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ของ North Malaku ที่เรียกว่า Soya Soya กับ Silat ผลที่ได้คือพลังแห่งนาฏศิลป์ของการต่อสู้ และพลังของการต่อสู้ในนาฏศิลป์ เป็นการส่งทอดความอ่อนโยน เข้มแข็ง ปราดเปรียว และงดงามในเวลาเดียวกัน
2. วิ่งเล่นในเส้นศูนย์ (Playing on the Zero Line)
การแสดงโดย สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำกับการแสดงโดย ธีรวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรับเชิญ
จัดแสดง วันที่ 26-27 มิถุนายน 2558 เวลา 19.30 น. ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ
ความเท่าเทียมคืออะไร เรารู้จักกับความเท่าเทียมในมิติอะไรบ้างโอกาสในชีวิตเกี่ยวอะไรกับความเท่าเทียมในสังคม นักศึกษาจากสาขาการละคอน ได้พยายามแสวงหาคำตอบจากการอภิปราย ถกเถียง ค้นคว้าหาความรู้จากข้อมูลด้านต่างๆ พวกเขาจะสะท้อนการค้นพบของตนเองด้วยการวิ่งเล่นบนเส้นกราฟที่มีทั้งเลขศูนย์ เลขบวกและเลขลบ ตลอดจนทดลองหาคำตอบผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายในรูปทรงและสัญลักษณ์อีกหลายๆแบบ
3.ถอดความเทพพนม (Freedoms of Movement)
โดย Pichet Klunchun Dance Company
จัดแสดง วันที่ 28 มิถุนายน 2558 เวลา 19.30 น. ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ
สิ่งที่นักเรียนนาฏศิลป์ไทยได้รับการถ่ายทอดส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นนั้นคือการสืบทอดท่ารำและตำนานความเชื่อทางวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่ยังไม่มีงานวิชาการทีสามารถถอดความรู้นาฏศิลป์ไทยให้เกิดเป็นทฤษฎีด้านการเต้นที่จริงจัง ผลงาน “ถอดความเทพพนม” ชิ้นนี้ จึงเป็นการค้นหา “ความจริงของการเคลื่อนไหวและการใช้ร่างกาย” แบบนาฏศิลป์ไทยในเชิงหลักการด้วยการยืนอยู่บนเหตุผลทางศิลปะการเต้น ผลงานชิ้นนี้เป็นผลที่เกิดจากงานวิจัยของ พิเชษฐ กลั่นชื่น ที่สนใจที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงระบบโครงสร้าง พลังงาน และการเคลื่อนไหวของท่ารำแม่บทใหญ่ ที่ไม่เคยถูกเขียนหรือบันทึกมาก่อน เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่เป็นลักษณะเฉพาะของนาฏศิลป์ไทย
ผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียบเพื่อสำรองที่นั่งในการเข้าฟังการบรรยายทางวิชาการและเข้าชมการแสดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 061-462-2630
หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์
www.finearttu.com