Meeting & Seminars
ศิลปะสนทนา 2558 : BACC Art Talk 2015 กิจกรรมครั้งที่ 2 “หลักประกันทางจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์”
เสวนาโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น
เวลา 14.00 น.
ศิลปะ คือกระบวนการสร้างสรรค์ที่ตอบสนองความต้องการทางสังคม เริ่มต้นจากประโยชน์ใช้สอย รับรู้ถึงความงาม จนไปถึงการรับรู้จริยธรรมความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ศิลปะจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแยกไม่ออก ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือตอบสนองคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น อันนำไปสู่รสนิยม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้การพัฒนาสังคมต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนได้
สวัสดิการสังคม คือระบบการจัดการบริหารสังคม ซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน แก้ไข พัฒนา และส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม ตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพ อนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงาน การมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรมและบริบททางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ ซึ่งมีองค์ประกอบทางสังคม คือ การศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ ความมั่นคงทางสังคม บริการสังคม และนันทนาการ (พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม 2546 แก้ไขเพิ่มเติม 2550)
ศิลปะจึงมีบทบาทในฐานะ "สวัสดิการสังคม" ที่มีบทบาทสำคัญต่อจิตใจและอารมณ์ในการระงับยับยั้ง ความต้องการแห่งจิต และการตื่นรู้แห่งจิตใจในความเป็นมนุษย์ ที่คิดเป็น สร้างเป็น พัฒนาเป็น เพื่อการดำรงอยู่ของบุคคลหรือมนุษย์ที่มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงไปของโลก และจิตใจของตัวเองในอนาคต
*ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
*บรรยายเป็นภาษาไทย
สำรองที่นั่งและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายการศึกษา 02-214-6630-8 ต่อ 519 Email. [email protected]
ประวัติ พิเชษฐ กลั่นชื่น
พิเชษฐ กลั่นชื่น จบการศึกษาสาขานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษา ได้ก้าวสู่การเป็นศิลปินด้านการแสดงสู่เวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ จากความสามารถในการประดิษฐ์ท่าเต้นอันวิจิตร โดยการรวมท่วงท่าของศิลปะการร่ายรำแบบนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิม มาประยุกต์เข้ากับการเต้นรำร่วมสมัยหรือที่เรียกว่า "Contemporary Dance" พิเชษฐ มีผลงานด้านการกำกับการแสดง การออกแบบท่าเต้นและการเต้น ทั้งในเวทีไทย และเวทีระดับสากล มีผลงานในเทศกาลศิลปะการแสดง ในระดับนานาชาติในหลายประเทศทั้งเอเชีย อเมริกาและยุโรปอย่างต่อเนื่องในฐานะศิลปินนักเต้นจากประเทศไทย เช่น การแสดงชุด “พญาฉัททันต์ : ความเสียสละคือการให้ที่ยิ่งใหญ่”, การแสดงชุด “พระคเณศร์เสียงา”, การแสดงชุด “ฉุยฉาย”, การแสดงชุด “Black & White”, “Nijinsky Siam”, “I’m a demon” เป็นต้น
นอกจากนี้ พิเชษฐ กลั่นชื่น ยังเป็นเจ้าของรางวัลมากมายทั้งจากองค์กรใน และต่างประเทศ อาทิเช่น รางวัลศิลปาธร ด้านศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2549 รางวัล 'Routes' ECF Princess Margriet Award for Cultural Diversity จาก European Cultural Foundation ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ศิลปิน หรือนักคิดที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อช่วยสร้างให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างผู้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในปี
พ.ศ. 2551 รางวัล “พลเมืองคนกล้า” จาก สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตยปี พ.ศ. 2552 ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัล จาก The French Ministry of Culture "Chevalier of the French Arts and Literature Order" สำหรับผลงานที่เขาสรรค์สร้าง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะทั้งในฝรั่งเศส ประเทศไทย และทั่วโลก ล่าสุด พ.ศ. 2557 เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล John D. Rockefeller 3rd. จาก Asian Cultural Council ในฐานะศิลปินผู้ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของศิลปะประจำชาติบนเวทีศิลปะระดับโลก
ปัจจุบันพิเชษฐ กลั่นชื่น ยังคงเป็นนักเต้นและก่อตั้งคณะการแสดง “Pichat Klunchun Dance Company” เพื่อการทำงานด้านศิลปะการเต้นและสร้างนักเต้นมืออาชีพ โดยเน้นค้นหาและพัฒนาองค์ความรู้ทางนาฏศิลป์ไทย และได้สร้างโรงละครช้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานในการเต้นและการแสดงร่วมสมัยทั้งจากไทยและต่างประเทศ