Literature
เทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1
เทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ครั้งแรกของเทศกาลหนังสือในประเทศไทย
งานครั้งนี้มุ่งเสนอมิติทางศิลปะ งานฝีมือ และความพิถีพิถันในการผลิตหนังสือ คัดสรรสำนักพิมพ์อิสระที่มีแนวทางในการผลิตหนังสือที่ชัดเจนมีเอกลักษณ์และให้ความสำคัญทั้งรูปเล่มและเนื้อหา จำนวน 20 สำนักพิมพ์ เพื่อร่วมจัดแสดงผลงาน โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่การขายหนังสือ แต่เน้นการนำเสนอตัวตนอันโดดเด่น และความใส่ใจในการผลิตหนังสือ
งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากต่างประเทศมาร่วมพูดคุย ได้แก่ อุเมะ คาโยะ ช่างภาพร่วมสมัยที่โด่งดังของญี่ปุ่น มีผลงานหนังสือภาพซึ่งขายดีเป็นปรากฏการณ์ รวมทั้ง Kenny Leck เจ้าของร้านหนังสืออิสระ BooksActually จากประเทศสิงคโปร์
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบปกหนังสือ "ในช่วงปก" ของ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติชาวไทยอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปและงานเสวนาที่น่าสนใจอีกมากมายหลายรายการ
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokbookfestival.com
ตารางกิจกรรมเสวนา
วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558
BOOKSACTUALLY: SMALL BOOKSHOPS IN BIG CITIES
ร้านหนังสือเล็กในเมืองใหญ่จากสิงคโปร์
เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
บนเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ร้านหนังสือเล็กๆ ชื่อ BooksActually ดึงดูดผู้รักการอ่านจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือน ที่นี่ไม่ได้เพียงขายหนังสือ แต่เป็นชุมชนที่เปลี่ยนการอ่านให้กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ที่แข็งแรงและประสบความสำเร็จเกินขนาดของร้านหนังสืออินดี้
Kenny Leck คือผู้ร่วมก่อตั้งและมันสมองของร้าน BooksActually ร้านหนังสืออิสระที่เปิดกิจการมาเกือบ 10 ปี เป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดา เพราะมีไอเดียดึงดูดคนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมสนุกๆ ในร้านเสมอ เช่น กิจกรรม 24-Hour Bookstore ที่ใจถึงเปิดร้านหนังสือกันโต้รุ่ง ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ BooksActually ยังเป็นสถานที่ที่นิตยสารชื่อดังอย่าง Monocle เลือกมาเปิดป๊อบอัพช็อปด้วย และในปี 2009 Kenny ได้รับเลือกให้เป็น Top 20 Most Powerful People in the Arts in Singapore นอกจากนี้ ประสบการณ์ในร้านหนังสือทำให้ Kenny ใกล้ชิดเครือข่ายนักเขียนมากขึ้น จนกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งสำนักพิมพ์ Math Paper Press เพื่อพิมพ์งานนักเขียนหน้าใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมออกไปสู่นักอ่านร่วมสมัย
Kenny Leck เปลี่ยนความคลั่งไคล้การอ่านให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้อย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ในงาน BBF 2015
ผู้ร่วมสนทนา
KENNY LECK เจ้าของร้านหนังสือ BOOKSACTUALLY
Kenny คลุกคลีกับหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มต้นธุรกิจจากการเช่าโต๊ะสองตัววางหนังสือขายภายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ทั้งที่มีหนังสือกองเต็มโต๊ะ กลับมีนักศึกษาถามเขาว่าขายอะไรอยู่ คำตอบกระอักกระอ่วนในวันนั้นที่ว่า "Actually, we sell books." จึงกลายเป็นชื่อกิจการร้านหนังสือมาจนถึงบัดนี้
ดำเนินรายการ: ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรและนักวิชาการผู้มีความสนใจหลากหลาย
สนับสนุนโดย JAPAN FOUNDATION THAILAND
—
สร้างภาพ สร้างเรื่อง:
บทสนทนาของคนเล่าเรื่องด้วยภาพ
เวลา 13.30-15.00 น. ณ BOOKMOBY, ชั้น 4
พูดคุยกับสองหนุ่ม ตะวัน วัตุยา ศิลปินนักวาดรูป และ ศุภชัย เกศการุณกุล ช่างภาพมืออาชีพ ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน ร่วมค้นลึกไปถึงศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่องด้วยภาพ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเติมเต็มหนังสือเล่มหนึ่งๆ ให้สมบูรณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างเพื่อนกับเพื่อนจากประสบการณ์การทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นที่ขุดลึกโดยนักสัมภาษณ์มือพระกาฬของเมืองไทย วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ผู้ร่วมสนทนา
ตะวัน วัตุยา ศิลปินนักวาดรูปที่ฝากผลงานสีน้ำสะท้อนสังคมไว้มากมาย และยังวาดภาพประกอบในนิตยสารไรท์เตอร์ รวมถึงภาพหน้าปกหลายๆ เล่ม เช่น ความมืดกลางแสงแดด ปรารถนา และ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ศุภชัย เกศการุณกุล ช่างภาพมืออาชีพประจำนิตยสารไรต์เตอร์ GM และ IMAGE
ดำเนินรายการโดย: วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ นักเล่าเรื่อง ที่ขายคุณภาพเป็นลายเซ็น ฝากงานเขียนไว้ในนิตยสารหัวใหญ่มากมายอย่าง IMAGE และ GM ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองชื่อ บางลำพู (banglumpoo)
—
เสวนาหนังสือ THE LEMON TREE
สันติวิธี มิตรภาพ และความขัดแย้ง:
จากตะวันออกกลางถึงสามจังหวัดภาคใต้
เวลา 15.00-17.00 น. ณ BOOKMOBY, ชั้น 4
The Lemon Tree: An Arab, a Jew, and the Heart of the Middle East เขียนโดย Sandy Tolan เป็นหนังสือเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล เล่าผ่านตัวละคร Bashir Al-Khayri ชาวปาเลสน์วัย 25 ปี ซึ่งกลับมายังบ้านเก่าในพื้นที่อิสราเอลที่หลังบ้านมีต้นเลมอนอยู่ เขาจากบ้านหลังนี้มาเป็นเวลา 19 ปี และครั้งนี้ได้พบ Dalia Ashkenazi Landau นักศึกษาชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ ความสัมพันธ์จึงได้เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ
สำนักพิมพ์ Way of Book จะจัดพิมพ์เล่มนี้ในภาษาไทย แปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ เช่นเดียวกับที่เคยฝากผลงานแปล ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) มาก่อนหน้านี้
ผู้ร่วมสนทนา
ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง เคยมีงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Routledge
งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
ดำเนินรายการโดย: กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้เขียนหนังสือ Global Report / ผู้ดำเนินรายการเช้าทันโลก คลื่น 96.5
—
—
วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2558
โอเอซิสแห่งโลกหนังสือ:
นิตยสารวรรณกรรมในสังคมไทย
เวลา 11.00-12.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
วารสารวรรณกรรมไทยเป็นเสมือนพื้นที่ให้เมล็ดพันธุ์วรรณกรรมได้งอกงามมาหลายทศวรรษ เสมือนโอเอซิสที่คนเขียนหนังสือต้องเข้าหาและพึ่งพิง ทั้งในแง่การเป็นเวทีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ และเป็นแหล่งทางปัญญาเปิดหูเปิดตาสู่โลกวรรณกรรมโลก แต่เรื่องราวการดิ้นรนและยืนหยัดของวารสารวรรณกรรมเหล่ามีอะไรที่เข้มข้นน่าศึกษาอีกมาก และการเสวนานี้ได้นำพาพวกเขามาแลกเปลี่ยนบนเวทีเดียวกัน
ผู้ร่วมเสวนา
สุชาติ สวัสดิ์ศรี – ช่อการะเกด
ช่อการะเกด เป็นวารสารเรื่องสั้นที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับนิตยสารโลกหนังสือ เมื่อ 2521 ก่อตั้งโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ ‘สิงห์สนามหลวง’ มีการเปลี่ยนผ่านถึง 4 ยุค ถือเป็นพื้นที่ให้นักเขียนเรื่องสั้นทั้งหน้าใหม่และเก่าได้แสดงผลงานวรรณกรรมเนื้อหาเข้มข้น แม้จะมีอุปสรรคติดขัดจนหยุดไปหลายช่วง แต่ก็ถือว่าได้อยู่คู่สังคมนักเขียนมากว่า 30 ปี โดยฉบับล่าสุด ‘รัฐประหารในสังคมไทย’ ซึ่งตีพิมพ์จำกัดเพียง 500 เล่ม ขายหมดอย่างรวดเร็วภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
อุทิศ เหมะมูล – WRITER
WRITER นิตยสารวรรณกรรมที่มีอายุกว่า 20 ปี ที่มีลำดับการเปลี่ยนผ่านมาถึง 3 ยุค นับแต่ขจรฤทธิ์ รักษา (ปี 2535-2540), กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (ปี 2540-2541) ก่อนหยุดหายใจไปนับสิบปี และได้รับการชุบชีวิตกลับมาอีกครั้งในปี 2554 โดย บินหลา สันกาลาคีรี และส่งไม้ต่อให้ อุทิศ เหมะมูล เข้ามาทำหน้าที่บรรณาธิการจนถึงปัจจุบัน โดยยังคงแนวคิด “โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน ห้องเรียนนักฝัน” ไว้เป็นเข็มทิศนำทาง WRITER นับเป็นนิตยสารวรรณกรรมที่สดชื่นกระปรี้ประเปร่าที่สุดเล่มหนึ่งในยุคปัจจุบัน
วาด รวี – UNDERGROUND BULETEEN
Underground Buleteen วารสารที่ประกาศปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากทำมาเป็นเวลา 11 ปี วาด รวี คือนักเขียนคนสำคัญที่เป็นกำลังของวงการวรรณกรรมในทศวรรษที่ผ่านมา เขามีบทบาทสำคัญทั้งการบรรณาธิการและการวิจารณ์งานเขียนนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อนแก่วงการนักเขียนอยู่เสมอ สายตาดุจเหยี่ยวของวาด รวี ที่มีต่อต้นฉบับที่น่าสนใจปรากฏให้เห็นจากการที่เขาเป็นคนแรกๆ ที่ชื่นชมนวนิยาย เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงทอง ถึงขั้นพิมพ์ออกมาเผยแพร่ ตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันเขามีสำนักพิมพ์ Shine ยังคงตีพิมพ์งานอย่างสม่ำเสมอ
นิวัต พุทธประสาท – นิตยสารเรื่องสั้น
นิวัต พุทธประสาท คือนักเขียน บรรณาธิการและหัวเรือใหญ่กลุ่ม Alternative Writers เขาเป็นผู้มองหาความเป็นไปได้ใหม่อยู่เสมอ จาก “สนามหญ้า” นิตยสารเรื่องสั้นรวมเล่มนักเขียนอัลเทอร์เนทีฟไทย มาสู่ นิตยสารเรื่องสั้น ในรูปแบบอีบุ๊กเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของนักอ่านร่วมสมัยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ นิตยสารนี้อ่านฟรี รายสามเดือน รับทั้งเรื่องสั้น ภาพถ่าย งานศิลปะหลายสาขา ไม่จำกัดเนื้อหา แม้พื้นที่นี้จะไม่มีค่าตอบแทน แต่ก็ถือเป็นสนามที่เหล่านักเขียนนิวเวฟทั้งหลายกระหายจะเข้ามาพิสูจน์ตัวเอง
—
POETRY ON THE ROCK:
อ่านชีวิตกวีร็อกแอนด์โiรลล์
เวลา 13.00-14.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
ตุล ไวฑูรเกียรติ สร้างบทกวีให้มีทำนองและทำให้ดนตรีมีระหว่างบรรทัด หนังสือเล่มล่าสุดของเขา เพลงที่คุณไม่เคยได้ฟัง คือหลักฐานยืนยันถึงที่มาจากตัวตนในวัยหนุ่ม เพราะรวมเนื้อเพลงจากลายมือที่เขาเคยเขียนไว้ในวัยระห่ำ ช่วงชีวิตที่ตั้งคำถามและก่อกบฏเพื่อค้นหาตัวเอง ตุลคือนักแต่งเพลงและนักใช้ชีวิตที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในยุคของเรา
ผู้ร่วมสนทนา
ตุล ไวฑูรเกียรติ นักดนตรี และนักเขียน ผู้ทลายเส้นพรมแดนระหว่างกลอนเปล่าไร้ฉันทลักษณ์กับเนื้อเพลงจังหวะร็อกแอนด์โรลล์ เขาเป็นที่รู้จักดีในนามวงอพาร์ตเม้นต์คุณป้า
ดำเนินรายการโดย: วรัษฐา พงษ์ธนานิกร ดีเจเปิ้ลหน่อย แห่งคลื่น Cat Radio และสมาชิกคนสำคัญแห่งวงติ๋วเดย์
—
แปลเซนให้พ้นเซน
เสวนาหนังสือ “ไม่เสมอไป: จิตวิญญาณการฝึกตนแห่งเซน”
โดย ซุนริว ซูซูกิ
เวลา 14.00-15.00 น. ณ BOOKMOBY, ชั้น 4
คำสอนของ ซูซูกิ โรชิ ข้ามพ้นพรมแดนทางภาษาและวัฒนธรรม พุ่งตรงไปยังการสื่อสารแก่นคำสอนจากใจสู่ใจ เขาเป็นหนึ่งในคนบุกเบิกแนวหน้าผู้วางรากฐานความเข้าใจพุทธธรรมในโลกตะวันตก ช่วงทศวรรษที่ 1960 หนังสือรวบรวมคำสอนที่ชื่อ Zen Mind's, Beginner's Mind ถือเป็นหนังสือธรรมะคลาสสิกที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล
งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ไม่เสมอไป: จิตวิญญาณการฝึกตนแห่งเซน (Not Always So: Practicing the True Spirit of Zen) โดย ซุนริว ซูซูกิ แปลโดย อุษณี นุชอนงค์ เล่มนี้คือการลอกเปลือกนอกความเป็นญี่ปุ่นของเซน เพื่อข้ามพ้นความเป็นเซนไปสู่การไม่ยึดมั่นในเซน ดังข้อความหัวใจของหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า “อาจจะใช่ แต่ก็ไม่เสมอไป” (It may be so. But not always so.)
ผู้ร่วมสนทนา
อุษณี นุชอนงค์ ผู้แปลหนังสือ ไม่เสมอไป: จิตวิญญาณการฝึกตนแห่งเซน (Not Always So: Practicing the True Spirit of Zen) โดย ซุนริว ซูซูกิ
คงกฤช ไตรยาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) นักเขียน พิธีกร และเจ้าของสำนักพิมพ์ KOOB
ดำเนินรายการโดย: วิจักขณ์ พานิช นักเขียน นักแปล และนักวิชาการด้านพุทธศาสนา เจ้าของสำนักพิมพ์ปลากระโดด (Jumpingfish Books)
—
THE COVER DESIGNERS
ความสร้างสรรค์ของนักออกแบบปกหนังสือ
เวลา 15.00-16.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
ทุกวันนี้ ธุรกิจหนังสือที่แข่งขันกันเข้มข้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้อีกแล้วว่า เปลือกปิดหุ้มห่อเนื้อหาภายในอย่าง "ปกหนังสือ" นั้นช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่หนังสือเล่มหนึ่งเพียงใด นักออกแบบปกหนังสือ คือหนึ่งในปัจจัยการผลิตสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มหนึ่งขายดีและเป็นที่จดจำของคนอ่าน พวกเขาทุ่มเทฝีมือ เวลา และความสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้หนังสือเล่มหนึ่งออกมาเป็นที่จดจำของนักอ่าน
นี่คือการแลกเปลี่ยนบทสนทนาครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างกับคนทำปกหนังสือรุ่นใหญ่ที่มากระทบไหล่รุ่นใหม่ ประสบการณ์ ทักษะ และเทคโนโลยีที่แตกต่างกันสะท้อนตลาดหนังสือไทยอย่างไรบ้าง นี่คือเวทีที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ผู้ร่วมสนทนา
ทองธัช เทพารักษ์
ตั้งแต่สมัยประถมศึกษา ทองธัชได้ทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนวัด จึงมีใจใฝ่รักการอ่านมาตลอด เมื่อเรียนจบโรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ เขาก็วนเวียนอยู่ในวงการหนังสือมาร่วมสามสิบปี ทั้งในฐานะหัวหน้าฝ่ายศิลป์ บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ การ์ตูนนิสต์ นักออกแบบปก และนักวาดภาพประกอบ มีผลงานออกแบบปกมานับพันปก และปกนิตยสารการะเกด ฉบับรัฐประหารในสังคมไทย ซึ่งเป็นรูปกล่องไม้ขีดไฟเด่นสะดุดตา ก็เป็นหนึ่งในผลงานของเขา
กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล
Wrongdesign คือกราฟิกดีไซเนอร์และนักออกแบบปกที่มาแรงในยุคนี้ เขากระโดดจากงานสายโฆษณา และเริ่มเข้ามาในวงการหนังสือจากการได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์ Openbooks เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เมื่อพัฒนาแนวทางของตัวเองได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นสไตล์และน้ำเสียงที่น่าจับตามอง เขาเป็นมือออกแบบหน้าปกให้กับหลายสำนักพิมพ์ แทบจะไม่จำกัดแนว ผลงานโดดเด่นของเขาคือหนังสือชุดต่างๆ จากสำนักพิมพ์ Openworlds ที่ออกมาหลายปก แต่กลับมีเอกภาพ โดดเด่นในด้านการสื่อสารและความสวยงามควบคู่กัน
ดำเนินรายการโดย: อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข แสตมป์นักร้อง นักแต่งเพลง ที่เขียนหนังสือได้น่าอ่าน เคยมีผลงานหนังสือ ก่อนความฝันจะล่มสลาย บอกเล่าเรื่องราวของเขาในเส้นทางสายดนตรี
—
ช่างภาพแนวสตรีท มีชื่อเสียงโด่งดังในญี่ปุ่น ผลงานหนังสือภาพของเธอที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายด้วยยอดขาย 130,000 เล่ม ทั้งนี้เป็นเพราะผลงานภาพของเธอจับอารมณ์ สีหน้า และท่วงท่าที่น่าสนใจของผู้คนในบริบทสังคมญี่ปุ่น ชวนให้เพ่งพินิจ ระคนประหลาดใจ บางครั้งก็มีอารมณ์ขันแฝงอยู่ในภาพที่ดูจะหม่นหมอง เช่น รูปคนชรา 5 คนพยายามช่วยกันเปิดล็อกเกอร์ในสถานีรถไฟ หรือรูปชายคนหนึ่งนอนราบไปในขบวนรถไฟอย่างหมดสภาพ รางวัล Ihei Kimura Photography Award ของญี่ปุ่นอีกด้วย
—
วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2558
ดอกไม้หนึ่งมิติของฟ้า
เสวนาหนังสือ ดอกไม้หนึ่งมิติ ของฟ้า พูลวรลักษณ์
เวลา 12.30-13.30 น. ณ BOOKMOBY, ชั้น 4
"สยองขวัญ 31 หากคุณปรับตัวตามโลกยุคใหม่ไม่ได้ คุณจะกลายเป็นความว่างเปล่า และเป็นทางผ่านของสิ่งอื่น" บางส่วนจาก ดอกไม้หนึ่งมิติ เล่มที่ 1 โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์
ผู้ร่วมสนทนา
ฟ้า พูลวรลักษณ์ กวีผู้บุกเบิกงานเขียนแคนโต้ในสังคมไทย มีงานเขียนหลากหลายแนวทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และภาพยนตร์
อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน นักแปล และอาจารย์ประจำภาควิชา Media Art and Designs คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำเนินรายการโดย: นิวัต พุทธประสาท นักเขียนและบรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
—
BOOKMOBY PRESS & KNOW SERIES
เปิดตัวสำนักพิมพ์ BOOKMOBY PRESS และหนังสือแนะนำนักเขียนโลกชุด KNOW SERIES
เวลา 13.30-15.00 น. ณ BOOKMOBY, ชั้น 4
Bookmoby คือกลุ่มผู้สร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนและการอ่านหนังสือ เกิดจากการรวมตัวกันของนัก นักแปล นักออกแบบ บรรณาธิการ รวมถึงผู้มีความหลงใหลสนใจในการเขียนและการอ่านหนังสือ ปัจจุบันดำเนินกิจการหลากหลาย อาทิ ร้านหนังสือ Bookmoby Readers’ Cafe (หอศิลปกรุงเทพฯ ชั้น4) ร้านหนังสือออนไลน์ bookmoby.com เป็นผู้จัดพิมพ์ผู้วารสาร Bookmoby Review และจัดโครงการอบรม Bangkok Creative Writing Workshop (ปี 2555-ปัจจุบัน)
ในปี 2015 นี้ นอกจาก Bookmoby จะเป็นผู้จัดงานหลัก Bangkok Book Festival 2015 แล้วยังถือโอกาสเปิดสำนักพิมพ์ Bookmoby Press เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมและวัฒนธรรมร้านหนังสือ จัดพิมพ์พ็อกเกตบุ๊กชุดแรกในนาม “Know Series” หนังสือเล่มเล็ก แนะนำนักเขียนชื่อดังระดับโลก ได้แก่ วลาดีเมียร์ นาโบคอฟ, อกาธา คริสตี, จอร์จ ออร์เวลล์ และฟรันซ์ คาฟคา
ผู้ร่วมเสวนา
บัญชา สุวรรณานนท์ ผู้เขียน Know Orwell ในชุด Know Series (มีผลงานแปลเรื่องอื่นๆ ได้แก่ พม่ารำลึก และ แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฏของสรรพสัตว์ )
ปราบดา หยุ่น ผู้เขียน Know Nabokov และผู้ออกแบบปกหนังสือชุด Know Series
ดำเนินรายการโดย รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bookmoby Press
—
จากการแปล(ง) สู่การแปล:
ประวัติศาสตร์การสร้างและลบตัวตนของนักแปลไทย
จากยุคอาณานิคมถึงยุคสมัยใหม่
เวลา 15.30-17.00 น. ณ BOOKMOBY, ชั้น 4
กรอบการเสวนาครั้งนี้อ้างอิงจาก Plagiarism, Irony and Incense Stick: A Sketch of Thai Translation Traditions และ วรรณลักษณ์อันก่อร่าง: ปัญหาเรื่องการแปล พลวัตในขนบวรรณกรรมแบบฉบับ และสมสัจจวิสัยในวรรณกรรมร้อยแก้วไทยยุคแรก ผลงานเขียนของ ดร.แพร จิตติพลังศรี เป็นฐานความคิด เพื่อใช้ต่อยอดในการพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของการแปลวรรณกรรมตะวันตกสู่ภาษาไทย โดยพยายามเหลียวมองย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคสมัยที่ไทยเริ่มเปิดรับความรู้และวัฒนธรรมตะวันตก ในช่วงแรกๆ ที่งานแปลของไทยยังอยู่ในลักษณะแปลงงานของตะวันตก มาถึงสมัยที่การแปลเป็นความรู้ในสถาบันการศึกษา
ผู้ร่วมสนทนา
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์, นักเขียน นักแปล นามปากกา "สิงห์ สนามหลวง" และบรรณาธิการวารสารเรื่องสั้น ช่อการะเกด
แพร จิตติพลังศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย วรงค์ หลูไพบูลย์ เจ้าของสำนักพิมพ์บทจร และผู้จัดโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด
—
THE ART OF PHOTOGRAPHY IN BOOKS
ศิลปะของภาพถ่ายและหนังสือภาพ ในงานของ UME KAYO
เวลา 15.30-17.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
ผู้ร่วมสนทนา
คาโยะ อูเมะ
ช่างภาพแนวสตรีท มีชื่อเสียงโด่งดังในญี่ปุ่น ผลงานหนังสือภาพของเธอที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายด้วยยอดขาย 130,000 เล่ม ทั้งนี้เป็นเพราะผลงานภาพของเธอจับอารมณ์ สีหน้า และท่วงท่าที่น่าสนใจของผู้คนในบริบทสังคมญี่ปุ่น ชวนให้เพ่งพินิจ ระคนประหลาดใจ บางครั้งก็มีอารมณ์ขันแฝงอยู่ในภาพที่ดูจะหม่นหมอง เช่น รูปคนชรา 5 คนพยายามช่วยกันเปิดล็อกเกอร์ในสถานีรถไฟ หรือรูปชายคนหนึ่งนอนราบไปในขบวนรถไฟอย่างหมดสภาพ รางวัล Ihei Kimura Photography Award ของญี่ปุ่นอีกด้วย
ดำเนินรายการโดย อรรถ บุนนาค นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดังสัญชาติไทย-ญี่ปุ่น และคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร WRITER และอื่นๆ
สนับสนุนโดย JAPAN FOUNDATION THAILAND
—