Meeting & Seminars
ศิลปะสนทนา 2559: BACC Art Talk 2016 ครั้งที่ 1 : “Residency: การเดินทางของศิลปะและศิลปิน”
เวลา 14.00-16.00 น.
เสวนาโดย อานูป แมทธิว โทมัส, ลลินธร เพ็ญเจริญ และเฮนรี่ แทน
ร่วมเสวนาโดย
1. อานูป แมทธิว โทมัส ผู้ชนะรางวัล ‘Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art’ ครั้งที่ 2 และเมลานี โพค็อก ภัณฑารักษ์จาก The Institute of Contemporary Arts (ICA) ประเทศสิงค์โปร์
2. ลลินธร เพ็ญเจริญ
3. เฮนรี่ แทน
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลปกรุงเทพฯ) ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านร่วมเสวนาในกิจกรรมศิลปะสนทนา 2559 : BACC Art Talk 2016 ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการเดินทาง และการเติบโตของงานศิลปะ และศิลปิน ผ่านประสบการณ์ในต่างแดน ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ และถ่ายทอดไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะ รู้จักกันในนามโครงการ “Residency” หรือ ศิลปินพำนัก
นอกจากการเติบโตของศิลปินในรูปแบบสถาบันแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่เรียกว่า “Residency” (ศิลปินพำนัก) ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญของศิลปินหลายคน เพราะเป็นการเดินทางไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ และเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาความคิด และการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งในปัจจุบันมีสถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนโครงการ “Residency”เป็นจำนวนมาก
หอศิลปกรุงเทพฯ จึงเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้กระบวนการ “Residency” โดยการเชิญศิลปินผู้มีประสบการณ์ ในการเดินทางไปพำนักยังต่างประเทศ ด้วยโครงการ “Residency” มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเรียนรู้ต่างๆ ให้กับผู้สนใจ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาของศิลปินรุ่นใหม่ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจงานศิลปะได้เข้าใจถึงกระบวนการ สร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ ที่ต่างออกไป
*** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
*** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
*** ดำเนินการเสวนาเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย
สำรองที่นั่งและติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายการศึกษา โทร. 02-214-6630-8 ต่อ 519 Email. [email protected]
ศิลปินร่วมเสวนา
อานูป แมทธิว โทมัส เป็นศิลปินภาพถ่ายชาวอินเดีย ผลงานของเขามักจะพูดถึงเรื่องราวในชุมชนท้องถิ่น เป็นชุดภาพถ่ายที่สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นเมือง ของ รัฐเกรละ บ้านเกิดของเขา ภาพถ่ายของโทมัสจะพาผู้ชมเข้าไปรับรู้เรื่องราวที่อาจจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา ผ่านรูปแบบการถ่ายทอดที่ก้ำกึ่งระหว่างสารคดีและงานศิลปะ อานูป แมทธิว โทมัส เดินทางนำผลงานศิลปะไปจัดแสดงในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ โปแลนด์ สเปน รวมทั้งประเทศไทย โดยเขาได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ‘Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art’ ใน ปี พ.ศ. 2558 จากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์ (Han Nefkens Foundation) ประเทศสเปน
ลลินธร เพ็ญเจริญ อาจารย์ประจําภาควิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินผู้สนใจในจุดบรรจบกัน (intersection) ระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ที่นําเสนอผ่านภาพวาดลายเส้นเชิงแนวความคิด (Conceptual Drawing) มีผลงานสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและระดับสากลอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี พ.ศ.2559 ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนศิลปินไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองควิเบก (Quebec) ประเทศแคนาดา โดยเครือข่ายศิลปินเมืองควิเบกร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2558 ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนศิลปินไทยเข้าร่วมโครงการศิลปินนานาชาติในพํานัก (International Residency) หัวข้อ “The Undivided Mind Part II : Art + Science Residency” โดยองค์กรศิลปินนานาชาติโคจ (Khoj International Artists' Association) ประเทศอินเดีย ปีพ.ศ. 2557 ร่วมสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมดินดิบขนาดใหญ่กับองค์กรบุนเทคู (Bunte Kuh e.V.) และสาธารณชน ในโครงการ“Räume durch Erleben entwerfen” (Creating Rooms through Experience) ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ ยังมีผลงานศิลปะวิชาการต่างๆ อีกด้วย
เฮนรี่ แทน สนใจเกี่ยวกับการทำงานศิลปะในเชิงปฎิสัมพันธ์ และความเชื่อที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีของการสื่อสารที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังทางสังคมและเทคโนโลยี และวิธีการบริโภคสื่อในปัจจุบัน ตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในยุคที่ข้อมูลและขอบเขตและบริบททางวัฒนธรรมเลื่อนไหลไปอย่างไร้ขีดจำกัด
เฮนรี่ แทน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Tentacles เมื่อ ปี พ.ศ. 2557 เป็นองค์กรศิลปะที่เปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม และบุคคลทั่วไป เป็นที่แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด และขับเคลื่อนองค์ความรู้ งานวิจัย ทดลอง และนำเสนอผลงานและประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม
Tentacles ยังได้ร่วมงานและขยายเครือข่ายกับองค์กรศิลปะในไทยและต่างประเทศและมีโครงการชุมชนศิลปินที่เปิดโอกาสให้ศิลปินต่างชาติได้เข้ามาทำงานและค้นคว้า และแลกเปลี่ยนมุมมองกับศิลปินไทย ในปี พ.ศ. 2559 นี้ มีเป้าหมายจะขยายเครือข่าย และความรู้เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ประวัติศาสตร์ศิลป์ ประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาเชิงเปรียบเทียบ