Arts Network Exhibitions

นิทรรศการ “YUAN-SIKHIO VERNADOC” ภาพลายเส้นงานสถาปัตยกรรมและงานช่างฝีมือพื้นถิ่นแห่งยวนสีคิ้ว


จัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ตะวันออก วข.อุเทนถวาย, ภาคีอนุรักษ์สีคิ้ว,สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์, ASA VERNADOC และ สมาคมอิโคโมสไทย 
สนับสนุนโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  


ชุมชนชาวยวนสีคิ้ว 
เป็นชุมชนชาวยวนเก่าแก่ที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมลำตะคองในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชาวยวนเหล่านี้มีบรรพบุรุษมาจากเมืองเชียงแสนด้วยเหตุผลของสงครามในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันชุมชนชาวยวนในอำเภอสีคิ้วถือเป็นชุมชนชาวไทยเหนือที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน โดยยังสามารถพบมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ยวนเอาไว้หลายประการ อย่างไรก็ตาม สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สะท้อนเอกลักษณ์และความชัดเจนให้กับภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชน กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในขั้นวิกฤติ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายและสูญเสียบูรณภาพของชุมชนดั้งเดิม ในขั้นต้น จึงสมควรดำเนินการสร้างฐานข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนต่อไป
 
ภาคีอนุรักษ์สีคิ้ว เกิดจากการร่วมมือของภาคีชุมชนในการสืบค้นและเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้โครงการบริการวิชาการ “โครงการอุเทนถวายอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ตะวันออก วข.อุเทนถวาย ในปี พ.ศ.2557 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชน วัด สถานศึกษา องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้เกิดแนวร่วมในการทำงานร่วมกันนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา ในขั้นต้น กลุ่มภาคีฯได้ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยวนเป็นกลุ่มแรกเพื่อเป็นการนำร่อง โดยได้ดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อเสริมสร้างแนวคิดการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่กับการสำรวจ จัดทำฐานข้อมูล และถอดองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พร้อมกับพัฒนาสื่อนำเสนอคุณค่าทางวัฒนธรรม และสนับสนุนการสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชน หนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสร้างกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในของชุมชน ก็คือ กิจกรรมการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมและงานช่างฝีมือพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้น (ค่าย Vernadoc)
 
ปัจจุบัน “ภาคีอนุรักษ์สีคิ้ว” กลายเป็นกลุ่มภาคีชุมชนที่มีแนวร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ซึ่งยังดำเนินกิจกรรมด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมของชุมชนหลากชาติพันธุ์ในอำเภอสีคิ้วมาจนถึงปัจจุบัน 
 
 
Yuan-Sikhio Vernadoc #season 1
ค่าย Vernadoc ; ภาคีเครือข่ายการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม 
คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย โดยอาจารย์นราธิป ทับทัน และอาจารย์พู่กัน สายด้วง ได้จัดกิจกรรม “ค่าย Vernadoc ; ภาคีเครือข่ายการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม” ระหว่างวันที่ 10–16 สิงหาคม 2558 ณ ชุมชนชาวยวนสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา (ภายใต้โครงการบริการวิชาการโครงการอุเทนถวายอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน) โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดจิต สนั่นไหว จากมหาวิทยาลัยรังสิต และอาจารย์ณธทัย จันเสน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการจัดค่ายฯ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน โครงการมีจุดประสงค์ในการสร้างเครือข่ายเก็บข้อมูลสำหรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโดยนักศึกษาและภาคีชุมชนเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน 
 
การดำเนินการได้เลือกเรือนที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในชุมชนจำนวน 2 หลัง ได้แก่ เรือนนางไอ่ ค่ำสูงเนิน และเรือนนางศรีนวล เมืองจันทึก เพื่อนำร่องการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการ Vernadoc โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จากมหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่งคณาจารย์ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการหรือมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงความร่วมมือจากชุมชนยวนสีคิ้ว โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” เทศบาลเมืองสีคิ้ว และวัฒนธรรมอำเภอสีคิ้ว โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพที่ส่งคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมสังเกตการณ์
 
ผลการดำเนินการสามารถเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของเรือนพื้นถิ่นเอาไว้ในรูปแบบลายเส้นสถาปัตยกรรม จำนวน 31 ชิ้นงาน ซึ่งถือเป็นการนำร่องการสร้างฐานข้อมูล (Document) มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยวิธีการ Vernadoc ในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับสร้างกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์อาคารเก่าในชุมชนและทัศนคติที่ดีในการเล็งเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนได้ตามสมควร นอกจากนี้ยังสร้างภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและชุมชนในการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภายใต้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น 
 
Yuan-Sikhio Vernadoc #season 2
ค่าย Vernadoc ; ภาคีเครือข่ายเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมและงานช่างฝีมือพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้น 
เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการปี 2558 ในระหว่างวันที่ 4–18 มกราคม 2559 มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเก็บข้อมูลสำหรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและงานช่างฝีมือพื้นถิ่นโดยนักศึกษาและภาคีชุมชนให้เข้มแข็ง โดยได้เลือกเก็บข้อมูลอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในชุมชนจำนวน 5 หลัง ได้แก่ เรือนนางทองหลอม ปันจันทึก (โรงสี 1 หลัง และยุ้งข้าว 2 หลัง) และอุโบสถวัดถนนคต และนำร่องการเก็บข้อมูลงานช่างฝีมือพื้นถิ่นอีก 4 ชิ้น โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จากมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่งคณาจารย์ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการหรือมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม 
 
ผลการดำเนินการสามารถเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของเรือนพื้นถิ่นเอาไว้ในรูปแบบลายเส้นสถาปัตยกรรม จำนวน 34 ชิ้นงาน ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการสร้างฐานข้อมูล (Document) มรดกสถาปัตยกรรมและงานช่างฝีมือพื้นถิ่นด้วยวิธีการ Vernadoc ในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับสร้างกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์อาคารเก่าในชุมชนและทัศนคติที่ดีในการเล็งเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดความเข้มแข็งในภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและชุมชนในการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภายใต้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดำเนินการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือจากภาคีสถานศึกษาในท้องถิ่นต่อไป

Image Gallery