Special Exhibitions
LIVE THE CITY
จัดโดย สถาบันเกอเธ่ประเทศไทย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ และเครือข่ายคอนเนคติงซิตี้ส์
ศิลปิน
จุน ออง
นิธิพัฒน์ หอยสังข์ทอง
เอกภาพ สุขสุดไพศาล พรรณธร เอี้ยวศิวิกูล และสุธีนี โปร่งเมฆ
LIVE THE CITY ค้นหาแนวทางการหลอมรวมศิลปะดิจิตอลเข้ากับบริบทเมืองใหญ่ พร้อมหาคำตอบว่าศิลปะดิจิตอลในบริบทเมืองส่งผลอย่างไรต่อการสร้างเมือง เครือข่ายผู้คนและสร้างพื้นที่สำหรับนำเสนอวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ อย่างไรบ้าง เป้าหมายของโครงการนี้คือการใช้สื่อใจกลางเมืองเป็นพื้นที่สำหรับร่วมสร้างสรรค์และวางแนวทางให้กับชีวิตผู้คนในเมืองดิจิตอลของเรา ซึ่งจะแตกต่างกับการใช้ในทางธุรกิจอย่างสิ้นเชิง รูปแบบการมีส่วนร่วมและการสร้างพื้นที่ดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่นี้มีลักษณะอย่างไร คือคำถามที่เราต้องยกขึ้นมาอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในกรุงเทพ ที่ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานของสื่อขยายตัวอย่างรวดเร็วและพื้นที่โฆษณาดิจิตอลแบบถาวรส่งอิทธิพลต่อประสบการณ์การใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้นทุกขณะ โครงการนี้มีมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อการใช้สื่อในบริบทเมือง ซึ่งในยุคแห่งการสื่อสารดิจิตอลและสมาร์ทซิตี้นี้ศักยภาพการสื่อสารบนพื้นที่สาธารณะจะถูกตีความใหม่ได้อย่างหลากหลาย สภาพแวดล้อมของสื่อในบริบทเมืองจะเป็นตัวเชื่อมพื้นที่เมืองกับโลกดิจิตอลเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้คนในเมืองร่วมกันเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างสถาบันเกอเธ่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สยามเซ็นเตอร์และ ESIC Lab มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี โดยความร่วมมือจาก Connecting Citiesและจะถูกจัดแสดงพร้อมกันในสามสถานที่ในกรุงเทพฯ ดังนี้
PLASTIC PARTITION
จุน ออง
สยามเซ็นเตอร์ ชั้น 1 ใกล้จุดประชาสัมพันธ์
ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล มีข้อมูลทะลักล้นจำนวนมากทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เสียงของเราจึงเริ่มซ้อนทับกันโลกวัตถุจะได้ยินเสียงของเราหรือเปล่า
เราสามารถแสดงความเห็นได้ไหม
แสงสังเคราะห์สามารถใช้แสดงอารมณ์ได้หรือไม่
“Plastic Partitions” (ฉากกั้นพลาสติก) มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่เอกเทศเป็นเวทีทางกายภาพในพื้นที่สาธารณะเพื่อยกย่องการแสดงออกของเสียงแต่ละเสียง ในฐานะปัจเจกและกลุ่มได้รับแรงบันดาลใจจากกระดานความเห็นซึ่งเป็นเครื่องมือทางสังคมท้องถิ่น การจัดวางนี้จึงใช้แสงสังเคราะห์เพื่อแสดงความเห็น พร้อมกับการรวบรวมข้อมูลและแสดงอารมณ์ในเวลาเดียวกัน แต่ละพิกเซลมีลักษณะเฉพาะของแสงสามแบบ กดหนึ่งครั้ง ได้แสงสลัว กดสองครั้งได้แสงเป็นจังหวะ และกดสามครั้งได้แสงกระพริบถี่ แต่ละครั้งแสดงอารมณ์บางอย่าง ใช้แอปพลิเคชันมือถือต่อไร้สายแสดงข้อความ ผลคือแสงในระดับต่างๆ ที่จะระบายสีการตอบสนองของผู้ชมต่อหัวข้อต่างๆ
THE HIDDEN SOUND OF BANGKOK
นิธิพัฒน์ หอยสังข์ทอง
หอศิลปกรุงเทพฯ บริเวณลานด้านหน้า
น้ำเป็นปัจจัยหลักในการอยู่รอดของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้น การบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในสินค้าบริโภคยังเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างต้นทุนของสังคม ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากสังคมเกษตรกรรมกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ความต้องการน้ำและการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นสร้างมลภาวะทางน้ำและทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ที่ตั้งทางภูมิศาสตรของกรุงเทพฯ ไม่เหมาะในการรับมือกับภัยธรรมชาติ การใช้อำนาจรัฐในทางผิด จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาและการวางแผนและพัฒนาเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ปัญหาการเติบโตของเมืองแบบไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) แหล่งน้ำในและรอบกรุงเทพฯเสียหายอย่างหนัก การขยายตัวอย่างไม่หยุดของโรงงานและโครงการก่อสร้างต่างๆ กำลังสร้างผลเสียไม่แพ้กัน ผลจากการละเลยสิ่งแวดล้อมนี้สร้างผลเสียต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ โครงการ “The Hidden Sound of Bangkok” (เสียงที่ซ่อนเร้นของกรุงเทพฯ) พยายามปลุกจิตสำนึกในเรื่องนี้ โดยการทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำโดยใช้การจัดวางสื่อมัลติมีเดียในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการนี้เชิญชวนให้ผู้ชมสัมผัสและแลกเปลี่ยนกับน้ำผ่านแสงและเสียง
TALES OF A TREE (เรื่องเล่าของต้นไม้)
เอกภาพ สุขสุดไพศาล พรรณธร เอี้ยวศิวิกูล และสุธีนี โปร่งเมฆ
สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย บริเวณสวนด้านหน้า
“เรื่องเล่าของต้นไม้” เป็นโครงการจัดวางสื่อ-ศิลป์แบบอินเตอร์แอคทีฟ เป้าหมายเพื่อศึกษาความคิดสามข้อในเชิงวิจารณ์ไปพร้อมกัน: (1) บทบาทของต้นไม้ในการจัดเมืองใหญ่ และความสัมพันธ์ของต้นไม้กับชีวิตประจำวันของคนในเมือง (2) ต้นไม้ในฐานะสื่อและข้อความผ่านการปฏิสัมพันธ์ของเรากับต้นไม้ และ (3) ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปและการบูรณาการของมนุษย์กับเทคโนโลยีที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งและมากมายในสิ่งแวดล้อมของเรา การเวิร์คชอปที่สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ ทำให้เกิดจุดตัดของแนวคิดทั้งสามเพื่อจะบอกเล่าเรื่องราวของเมืองนี้ให้เป็นที่รู้จัก
ต้นไม้ถูกเลือกเป็นตัวละครหลักของโครงการ ซึ่งเป็นผลจากการสังเกตชีวิตประจำวันของชาวกรุงเทพฯ ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของ “ฉากหลัง” ในชีวิตประจำวันของคนเช่นเดียวกับของประดับเมืองต่างๆ เช่น เสาไฟฟ้า ม้านั่งหรือตู้โทรศัพท์ ซึ่งมักถูกลืมและมองข้าม ดังนั้น เราจึงขอเสนอให้นำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มาเป็นสื่อในการสื่อสาร ให้เมืองได้สื่อสารกับผู้อยู่ ให้เมืองได้บอกเล่าเรื่องของตนเอง
ต้นไม้ได้กลายเป็นผู้แปลข้อความให้แก่เมืองที่มันอยู่
ต้นไม้เป็นเพื่อนของเรา
เล่นและเต้นไปกับมัน
กอดมัน
กระซิบเล่าความลับให้มันฟัง
แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 02 214 6630-8
โทรสาร 02 214 6639
อีเมล [email protected]
สถาบันเกอเธ่ประเทศไทย