Main Exhibition

รยางค์สัมพันธ์ (ขยายเวลาจัดแสดง)


จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่นเอเชียเซ็นเตอร์
ร่วมสนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ผู้สนับสนุนหลัก: บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ผู้สนับสนุนโครงการ: บริษัทฟาย เปเปอร์ ทาเคโอะ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด
พิธีเปิดงาน วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 เวลา 18:30 น.


ภัณฑารักษ์
พิชญา ศุภวานิช
 
ภัณฑารักษ์ร่วม
ออง หมัด เทม
บายู เจนี คริสบี้
นากามูระ ฟูมิโกะ
 
ศิลปิน
นิทรรศการ:
กรกฤต อรุณานนท์ชัย/อเล็กซ์ กวอจิค
ซินดิแคท แคมเพอซารี
ซูซีอะดี วิโบโว – แล็บทันยา
     ณัฐพล สวัสดี
     ธนภณ อินทร์ทอง
     บูกะ วะรุง
     ยิ่งยศ เย็นอาคาร
     อาเรีย ซารีฟูดิง
ไซ คุนิง
มิยางิ ฟุโตชิ
มาร์ค เทห์  อาลี อลาศรี  ฟาอิค สยาซวาน คุฮิริ และวง เต ซี
ยูนิเวิร์ส บัลโดซ่า
ทามูระ ยูอิจิโระ
รอสลิแซม อิสมาอิลล์ (อิเสะ) ร่วมกับ ปาร์คกิ้ง โปรเจค ซุปเปอร์เฟรนด์ส
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช
อัลเบิร์ต สัมเรท
อุกฤษณ์ สงวนให้
เอา โซว-ยี
โฮ รุย อัน
การแสดงสด:
ฟิลิปปินส์ เอ็ดดูเคชั่นแนล เธียเตอร์ แอสโซซิเอชั่น (PETA)
 

 
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่นเอเชียเซ็นเตอร์ (The Japan Foundation Asia Center) นำเสนอนิทรรศการ “รยางค์สัมพันธ์ (Mode of Liaisons)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Condition Report” โครงการศิลปะเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างภัณฑารักษ์ทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกันกับภัณฑารักษ์ผู้มีประสบการณ์ โครงการ Condition Report ประกอบไปด้วยโครงงานของภัณฑารักษ์ 2 ส่วน ซึ่งดำเนินการภายใต้หัวข้อที่เป็นร่มใหญ่ คือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออะไร?” ส่วนแรกเป็นนิทรรศการจัดขึ้นที่ 4 เมืองจาก 4 ประเทศ ได้แก่ จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา และกรุงเทพฯ โดยภัณฑารักษ์รุ่นใหญ่นำเสนอแนวคิดและผลงานที่แสดงถึงปรากฏการณ์และเนื้อหาทางศิลปะในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันได้ประยุกต์ใช้นิทรรศการดังกล่าวเป็น โอกาสในการฝึกการทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ ส่วนที่สอง เป็นการจัดแสดงงานย่อย 14 โครงการโดยภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ซึ่งจะจัดการและนำเสนอโครงการของตนต่อสาธารณะอย่างเป็นอิสระ
 
นิทรรศการสุดท้ายโดยภัณฑารักษ์รุ่นใหญ่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ นำเสนอภายใต้ชื่อ “รยางค์สัมพันธ์ (Mode of Liaisons)” ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิดเชิงชีววิทยา ปรับใช้เพื่อผสมผสานผลงานศิลปะและเนื้อหาจากภัณฑารักษ์ที่ได้จัดขึ้นในเมืองอื่นมาแล้วก่อนหน้า ผนวกเข้ากับกับการคัดสรรผลงานขึ้นมาใหม่ อันจะสะท้อนภาพรวมในการทำงานของภัณฑารักษ์และศิลปะในปัจจุบัน หัวข้อ “รยางค์สัมพันธ์ (Mode of Liaisons)” อันเป็นแนวคิดจากภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบ พิชญา ศุภวานิช มุ่งตรงไปที่การมองหาความหมายที่ไม่ใช่เพียงความหมายของผลงานศิลปะอย่างเป็นเอกเทศ หากยังรวมไปถึงระบบนิเวศในผลงาน เช่น แหล่งที่มาของศิลปิน ชุมชนที่ศิลปินผลิตผลงานขึ้น และระบบเครือข่ายที่สนับสนุนให้ผลงานดำรงอยู่และเคลื่อนตัวด้วย ความสัมพันธ์ของผลงานที่มีกับทั้งเวลา พื้นที่ และบุคคล โดยแนวคิดนี้ จุดประสงค์คือการมองเห็นผลงานศิลปะเป็นดั่งสิ่งมีชีวิตด้วยส่วนยื่นออกจากแกนกลางที่สามารถเคลื่อนตัวและปรับเปลี่ยนความหมายด้วยวิวัฒนาการของการดำรงอยู่ รวมถึงการดึงระนาบความคิดออกจากผลงานศิลปะไปสู่ระบบเครือข่ายของผลงานเพื่อย้อนกลับมายังงานศิลปะอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมุ่งให้เห็นถึงสาระที่แฝงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบเครือข่ายในแต่ละผลงานที่แตกต่างกัน ที่สามารถเชื่อมโยงและร้อยเรียงกัน และนำไปสู่การสำรวจความสัมพันธ์ที่มีความหมาย
 
ในขณะที่ “รยางค์สัมพันธ์ (Mode of Liaisons)” เน้นการทำงานแบบประสานรวมความหมายมากกว่าการแยกตีความผลงานเดี่ยว ยังเป็นโครงการที่ผสมผสานความคิดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอผ่านภัณฑารักษ์และศิลปินในมุมมองที่ตีความความซับซ้อนในภูมิภาคร่วมกับภาวะของความเป็นพลเมืองโลก ภายในนิทรรศการเป็นการนำเสนอผลงานศิลปะเช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพยนตร์และวิดีโอ ศิลปะการจัดวางและการแสดง นอกจากนี้ยังมีโครงการเฉพาะโดยภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ 4 ท่าน นากามูระ ฟูมิโกะ, ออง หมัด เทม, บายู เจนี คริสบี้ และวิธวินท์ ลีลาวนาชัย ซึ่งนำเสนอผ่านรูปแบบของปฏิบัติการเสวนา ข้อเขียน และการบรรยายในรูปแบบการแสดงสด ในระหว่างที่นิทรรศการจัดแสดง โครงการยังนำเสนอ “ฟอรั่มภัณฑารักษ์ (Curators Forum)” ซึ่งเปิดต่อผู้สนใจในระหว่างช่วงระยะเปิดนิทรรศการในวันที่ 1 เมษายน ตั้งแต่เวลา 12:30 น ถึง 16:30 น ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
รยางค์สัมพันธ์ ร่วมสนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และสนับสนุนโดย บริษัท ฟาย เปเปอร์ ทาเคโอะ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด นิทรรศการและกิจกรรมทั้งหมดจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งอยู่ที่ 939 ถนนพระราม 1 สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดทำการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10:00 น. ถึง 21:00 น. ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนิทรรศการและกิจกรรมล่าสุดได้ที่ Mode of Liaisons Facebook (www.facebook.com/ModeOfLiaisons) และ BACC Facebook (www.facebook.com/baccpage) หรือโทรศัพท์ได้ที่ +66 (02) 214 – 6630 ext. 533
 
ดำเนินงานโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
ติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายนิทรรศการ 
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 ต่อ 533
 
เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 02 260 8560 – 4 โทรสาร 02 260 8565
 
 
เกี่ยวกับเจแปนฟาวน์เดชั่นเอเชียเซ็นเตอร์
 
เจแปนฟาวน์เดชั่นเป็นหน่วยงานจากประเทศญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่ส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติให้ครอบคลุมไปทั่วโลก Asia Center จัดตั้งขึ้นในเจแปนฟาวน์เดชั่น เมื่อ พ.ศ.2557 เพื่อเป็นหน่วยงานพิเศษ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อกับผู้คน ขยายเครือข่าย และพัฒนาโครงการทางด้านวัฒนธรรมทั่วเอเชีย Asia Center ประสานงานกับสำนักงานต่างๆ ของเจแปนฟาวน์เดชั่นที่อยู่ในต่างประเทศ จัดโครงการในสาขาต่างๆอย่างหลากหลาย อาทิ ดนตรี ละครเวที ภาพยนตร์ กีฬา การศึกษา ภาษาญี่ปุ่น และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการอื่นๆ รวมทั้งติดตามและให้การสนับสนุนกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ระหว่างประชาคมอาเซียน
 
เกี่ยวกับฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ
 
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเป็นส่วนหนึ่งของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่สร้างสรรค์กิจกรรมการจัดแสดงทางศิลปะ โครงการที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมรวมถึงการศึกษา ฝ่ายนิทรรศการมีความมุ่งหวังที่จะจัดหาพื้นการพบปะกันระหว่างมุมมองแนวคิดที่หลากหลายของทั้งภัณฑารักษ์ ศิลปิน นักวิชาการ นักเรียนศิลปะ และผู้ชม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์และเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ ขอบข่ายงานของฝ่ายครอบคลุมตั้งแต่กิจกรรมทางศิลปะสำหรับชุมชนไปจนถึงการเรียนศิลปะ งานของฝ่ายนิทรรศการมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทั้งในด้านของเนื้อหา การจัดแสดงผลงาน การจัดการทางวัฒนธรรม ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างแหล่งข้อมูลด้านศิลปะวัฒนธรรมใหม่ๆ