Arts Network Exhibitions

การนำเสนอโครงการวิจัยด้านการสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ ของผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ.2559


เปิดให้ชมผลงานสร้างสรรค์  วันพฤหัสที่ 22 และศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2560 เวลา 10:00-21:00 น.
นำเสนอโครงการวิจัย วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน2560 เวลา 13:15-16:30 น.


“การนำเสนอโครงการวิจัยด้านการสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ของผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2559” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่สู่สาธารณะของกลุ่มผู้วิจัยสร้างสรรค์ อันประกอบด้วยธีรพล หอสง่าวิจิตร อภิชาตเกรียงไกร และ ดร.เตยงาม คุปตะบุตร กลุ่มผู้วิจัยจะนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นการต่อยอดความรู้เดิมที่มีอยู่   แสดงให้เห็นความเข้มแข็งทางวิชาการและความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์  โดยมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
 
โครงการแรก “ศิลปะติดล้อ : ประติมากรรมสื่อใหม่” โดยธีรพล หอสง่า  ธีรพลต้องการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมสื่อใหม่ที่ใช้เค้าโครงของรถมอเตอร์ไซค์มาตกแต่งดัดแปลงด้วยกระบวนการหยิบยืมและการผสมผเส(Assemblage) รูปแบบของรถสามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) และรถจักรยานยนต์  เขาได้ศึกษาแนวคิดและกระบวนการสร้างรูปแบบและรสนิยม  พร้อมกับการสํารวจการใช้งานรูปแบบของการสร้างสรรค์บนยานพาหนะเหล่านี้  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างอัตลักษณ์เชิงปัจเจกและอัตลักษณ์เชิงกลุ่ม ผลของงานวิจัยคือผลงานประติมากรรมชื่อ “Street Fighter” (2017) ซึ่งสร้างขึ้นจากรูปแบบและรสนิยมแบบคิทช์(Kitsch) ที่เห็นจนชินชาในชีวิตประจำวันมานำเสนออย่างล้นเกินเพื่อสะท้อนภาพการสร้างพื้นที่เฉพาะของวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ที่ซ้อนอยู่ในกระแสวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) อีกขั้นหนึ่ง
 
โครงการที่สอง “ภาพยนตร์การสร้างสรรค์สาธารณศิลป์ :นาข้าวนิเวศ” โดย วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร  ภาพยนตร์อ้างอิงแนวคิดสุนทรียเชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetic) โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างบรรยากาศเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลายทั้งความคิด การศึกษา เพศ วัย และประสบการณ์เดิมที่มีต่อวัฒนธรรมข้าว ศิลปินเป็นผู้กำหนดรูปแบบ ชาวนาทำหน้าที่ให้ข้อมูล ส่วนผู้มีส่วนร่วมนั้นมีบทบาทเป็นผู้เรียนรู้ รับแรงกระตุ้น และสะท้อนคิด ภาพยนตร์แสดงการใช้แนวคิดสุนทรียสนทนา (On dialoque)โดยให้ผู้มีส่วนร่วมเป็นตัวแปรแม้ผลสัมฤทธิ์จะไม่สมบูรณ์แบบตามเป้าหมาย แต่กลับได้ความเหมาะสมใหม่ (New Appropriate) กระบวนการก่อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดจากการบูรณาการระหว่างสุนทรียเชิงสัมพันธ์ที่เป็นแนวคิดด้านศิลปะและสุนทรียสนทนาที่เป็นแนวคิดทางสังคมศาสตร์ ผลคือ “ปรากฏการณ์กลุ่ม” เป็นตัวขับเคลื่อน เกิดสุนทรียภาพทางมโนทัศน์ สามารถเปลี่ยนแปลงความคิด และกระตุ้นเตือนให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวัฒนธรรมข้าวร่วมกัน
 
โครงการสุดท้าย “ศิลปะเสียงมนุษย์” โดย ดร.เตยงาม คุปตะบุตรเป็นหัวหน้าโครงการ และมี ภัทรพงศ์ศรีปัญญา และทศธิป สูนย์สาทรเป็นผู้วิจัยร่วมกลุ่มผู้วิจัยต้องการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเสียง โดยมีเสียงมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เสียงมนุษย์นี้ทำงานร่วมกับภาพและพื้นที่ได้อย่างมีเอกภาพ  เพื่อนำเสนอการรับรู้ จินตนาการ และทัศนคติของกลุ่มผู้วิจัยที่มีต่อเสียงมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงกายภาพและความหมายของเสียง และเพื่อนำเสนอสุนทรียะในลักษณะ Sublime อันเกิดจากองค์ประกอบของภาพ เสียง และพื้นที่ โดยที่ผู้ชมสามารถรับรู้ภาวะเลอเลิศ (Sublime) ผ่านประสาทรับรู้ทางหูที่ทำงานร่วมกับตาและกายสัมผัสเป็นสำคัญ ผลของงานวิจัยคือ ศิลปะเสียง "The Art of Human Voice: A Reflection of Contemporary Sublime" (2017) ซึ่งประกอบไปด้วยภาพ เสียงมนุษย์ และพื้นที่ของสามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน กลุ่มผู้วิจัยทำให้เสียงมนุษย์เป็น ตัวแปรสำคัญที่ทำให้สามสถานการณ์รวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะ Sublime ที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทยในเวลาปัจจุบัน
 
ข้อมูลเพิ่มเติม: ธีรพล  089-056-7867 / วิจิตร  089-447-3947 / เตยงาม 061-115-1521