Main Exhibition 789

เปิดรับสมัครผลงาน EARLY YEARS PROJECT #2 โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่


จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ประกาศรับผลงานศิลปะ
 
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครขอประชาสัมพันธ์โครงการ Early Years Project ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่หรือศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานและศักยภาพของตน ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
 
ในปีนี้ โครงการ Early Years Project ครั้งที่ 2 ดำเนินงานสืบเนื่องจากครั้งแรก เพื่อเปิดรับผลงานจากศิลปินรุ่นใหม่จากวันที่ 17 กรกฎาคม ไปจนถึงภายในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560 โดยคัดเลือกศิลปิน 8 ท่าน เข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 ศิลปินเจ้าของผลงานทั้ง 8 ท่านที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องนำเสนอผลงานและกระบวนการสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาผลงานบนพื้นที่ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติการ สัมมนา หรือกิจกรรมพิเศษต่างๆ ของโครงการที่จะจัดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อบ่มเพาะความรู้และเสริมสร้างทักษะเฉพาะสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ 
 
เมื่อสิ้นสุดโครงการทางคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงาน จากการนำเสนอผลงานและโครงการของศิลปินเพื่อรับทุนสนับสนุนการเดินทางของศิลปิน (mobility funding) จำนวน 1 ทุนสนับสนุน และทุนในการเป็นศิลปินในพำนัก (artist residency) จำนวน 1 ทุนสนับสนุน
 
ความเป็นมา
 
ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันได้ขับเคลื่อนให้สังคมเติบโตและพัฒนาไปในทิศทางใหม่ๆ ดังนั้นเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องต่อการเติบโตเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกวันนี้ โครงการ Early Years Project เป็นโครงการมุ่ง สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ โดยเน้นกระบวนการในการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพให้พวกเขาได้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความสามารถในการประยุกต์การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้สอดคล้องไปกับเส้นทางอาชีพศิลปินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตผลงาน การจัดแสดงผลงานในพื้นที่สาธารณะ การคิดวิเคราะห์-วิพากษ์ถึงความหมายของผลงาน การทำงานร่วมกับเครือข่ายศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น ภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์นักวิชาการ เพื่อศึกษาผลงานของศิลปินเพื่อให้เห็นถึงวาทกรรมหรือแนวคิดรวมถึงประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของศิลปินรุ่นใหม่ อีกหนึ่งหลักการสำคัญในโครงการนี้คือ การเป็นฐานเพื่อสร้างเครือข่ายของศิลปินในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลและภาคส่วน โดยผสานศาสตร์และองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ศิลปินได้นำความรู้และทักษะดังกล่าวไปพัฒนาศักยภาพในการทำงานของตนเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในภาคศิลปะ ภาคธุรกิจ และภาคสาธารณะประโยชน์ โครงการนี้ยังมุ่งหวังทั้งในด้านการค้นคว้า การตีความ การทบทวนโลกทัศน์ และการสนับสนุนให้เกิดบทสนทนาระหว่างศิลปะต่างแขนง เพื่อที่จะได้ช่วยเพิ่มพูนความรู้และบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้สามารถเติบโตและพัฒนาการทำงานศิลปะของตนได้อย่างมีคุณภาพ
 
ลักษณะของโครงการ
 
ลักษณะโครงการเป็นการคัดเลือก 8 ศิลปิน จากจำนวนผลงานที่ส่งมาทั้งหมดเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยศิลปินแต่ละท่านเริ่มร่วมโครงการจากการแสดงกระบวนการทางความคิด การพัฒนาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อทำงานบนพื้นที่หลักบนชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นทั้งพื้นที่จัดแสดงผลงาน (exhibition space) และพื้นที่จัดสรรเพื่อแสดงกระบวนการความคิดระหว่างแสดงงาน (concept developing space) โดยศิลปินมีโอกาสในการแสดงกระบวนการทั้งหมดอย่างต่อเนื่องต่อสาธารณะตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 – 30 มกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดการสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นที่ และจัดแสดงผลงานเสร็จสมบูรณ์ไปจนถึงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561
 
ในระหว่างการทำงาน ศิลปินจะเป็นผู้เลือกที่ปรึกษา (mentor) เพื่อเป็นผู้ให้คำปรึกษาต่อศิลปิน โดยทำงานร่วมกับทีมงานตลอดระยะเวลาโครงการ ทางโครงการฯ จะคัดเลือกผลงานจำนวน 2 ผลงานก่อนโครงการสิ้นสุด เพื่อเข้ารับ 2 ทุนรางวัล อันประกอบไปด้วย ทุนในการสนับสนุนการเป็นศิลปินในพำนักต่างประเทศ (artist residency) จำนวน 1 ทุนสนับสนุน และทุนในการสนับสนุนการเดินทางของศิลปิน (mobility funding) จำนวน 1 ทุนสนับสนุน โดยเกณฑ์ในการตัดสินนั้น พิจารณาจากการนำเสนอโครงการเพื่อรับทุนดังกล่าว การนำเสนอ portfolio ของศิลปิน ประสิทธิผลของผลงานที่แล้วเสร็จจากโครงการ และความสามารถในการสื่อสารและนำเสนอผลงานต่อสาธารณะ โดยทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของศิลปินในการพัฒนาความรู้และทักษะจากการเข้าร่วมโครงการ
 
Early Years Project เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ดังนั้นศิลปินควรเข้าร่วมทุกกิจกรรมที่จะดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการ ซึ่งคือกิจกรรมบ่มเพาะศิลปิน และ กิจกรรมวิเคราะห์วิพากษ์ผลงาน (Critic Session) เพื่อส่งเสริมศักยภาพ สร้างทักษะและความสามารถในการเป็นศิลปินอาชีพ กิจกรรมนี้ประกอบไปด้วยการพัฒนาการนำเสนอตัวของศิลปินและผลงาน การให้ความรู้และความเข้าใจถึงพื้นที่และกลไกในโลกศิลปะ ความเข้าใจในกรอบคิดและงานต่างสาขา และการเชื่อมต่อเครือข่ายการทำงานโดยการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทางศิลปะ ฯลฯ
 
องค์ประกอบในโครงการเพื่อการสนับสนุน
 
1. พื้นที่เพื่อการแสดงงานและประสบการณ์ในการนำผลงานออกสู่ผู้ชมฐานสาธารณะขนาดใหญ่
2. ทุนสนับสนุน :
– ทุนในการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ 8 ทุนสนับสนุน
– ทุนสนับสนุนการเดินทางต่างประเทศสำหรับผู้ได้รับการคัดเลือก 1 ทุนสนับสนุน
– ทุนสนับสนุนการเป็นศิลปินพำนัก 1 ทุนสนับสนุน
3. กิจกรรม บ่มเพาะศิลปิน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และโลกทัศน์ในการเป็นศิลปินโดยอาชีพ 
4. กิจกรรม “Critic Session และ “Mentoring Process” เพื่อพัฒนาผลงานและศิลปินผ่านการเปิดโอกาสให้ผลงานของศิลปินได้รับการพัฒนาผ่านวิธีวิเคราะห์ ถกเถียง จากภัณฑารักษ์ ศิลปินและนักวิชาการเพื่อให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ ตามหลักเกณฑ์และหลักการของศิลปะ ทั้งในด้านสุนทรียศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสาระอื่นๆ 
5. ฐานเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนตัวของศิลปินหลังโครงการโดยการทำงานร่วมกับภาคส่วนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
 
แนวคิดกำหนด “ความร่วมสมัย” ของผลงาน 
 
ความร่วมสมัยในที่นี้หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงประเด็นทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม สังคม และความหลากหลายทางความคิดที่ดำเนินอยู่ในเวลาเดียวกัน โดยทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงประเด็นอ้างอิงเพื่อนำเสนอผลงานที่ตอบสนองเวลาและความฉับพลันเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแสดงจุดต่อเนื่องหรือจุดเปลี่ยนผันทางศิลปะทั้ง รูปแบบ วิธีการ วัสดุ ความคิด และเนื้อหาที่วิเคราะห์ วิพากษ์ที่เห็นชอบหรือเห็นต่างจากขอบเขตความคิดเดิม การทบทวนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์หรือเพื่อนำเสนอสมมติฐานสิ่งใหม่จากสิ่งเดิม การนำเสนอคุณค่าใหม่จากบริบทเดิมด้วยภาวะเงื่อนไขในเวลาร่วมสมัย รวมถึงการมองเห็นความร่วมสมัยจากการสนทนาประเด็นเฉพาะในบริบทที่เคลื่อนตัวข้ามพรมแดนทางพื้นที่ 
 
กำหนดการดำเนินงาน
 
17 ก.ค. 2560:  เปิดรับสมัครผลงาน
3 ก.ย 2560:  ปิดรับสมัครผลงาน
4-10 ก.ย. 2560:  รวบรวมข้อมูล
11-21 ก.ย. 2560: สัมภาษณ์ศิลปินเพื่อคัดเลือกผลงาน semi final 
22-24 ก.ย. 2560: ประชุมคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกศิลปินช่วง final
25 ก.ย. 2560:  ประกาศผล 8 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือก
26 ก.ย.- 19 พ.ย. 2560 สร้างสรรค์ผลงานและเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ
30 พ.ย. 2560:  เปิดนิทรรศการและพื้นที่ปฏิบัติงาน***
11 มี.ค. 2561: ประกาศผล 2 ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการเป็นศิลปินในพำนัก และทุนในการสนับสนุนการเดินทาง
 
***เนื่องจากโครงการเน้นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเป็นสำคัญ วันเปิดนิทรรศการต่อสาธารณชนจึงเป็นการแสดงกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาต่อเนื่องบนพื้นที่จนถึงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นวันที่คาดหวังในความสมบูรณ์ 100% ของผลงาน)
 
คุณสมบัติของศิลปินที่มีสิทธิในการเข้าร่วมโครงการนี้
 
1. มีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทยและพำนักอยู่ในประเทศไทย
2. มีอายุระหว่าง 23-40 ปี
3. ไม่เคยมีผลงานการแสดงงานในระดับนานาชาติ 
4. มีการสร้างสรรค์ผลงานในแขนงงานศิลปะร่วมสมัย หรืองานที่เป็นฐานจากงานสาขาอื่นๆ โดยมีศิลปะเป็นแกนกลางในการสร้างผลงาน
5. สามารถเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้ในเวลาต่างๆ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 และหากได้รับทุนเมื่อจบโครงการสามารถเดินทางพำนักได้เป็นเวลาอย่างน้อยติดต่อกันในเวลา 1 เดือน
 
*** สำหรับผู้ที่ต้องการส่งผลงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินมากกว่า 1 คนขึ้นไป หรือ การทำงานเป็นกลุ่ม (collective) ซึ่งกลุ่มศิลปิน ดังกล่าวจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันอย่างน้อย 3 ผลงานขึ้นไป 
 
ประเภทของผลงาน
 
โครงการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ หรือศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้ เปิดรับผลงานศิลปะร่วมสมัยโดยไม่จำกัดรูปแบบ อาทิเช่น
– ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม
– ผลงานสื่อศิลปะ อุปกรณ์เทคโนโลยี ศิลปะทางด้านเสียง (sound arts) วีดีโอ ศิลปะทางด้านภาพยนตร์ (film arts) ภาพถ่าย
– ผลงานศิลปะ และ/หรือ การทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับพื้นที่ 
– ผลงานศิลปะที่มีรูปแบบของการทำงานเกิดจากการผสมผสานระเบียบวิธีที่หลากหลาย (mulitidisciplinary arts)
– ผลงานศิลปะที่ทำงานกับปฏิสัมพันธ์ของสังคมและผู้ชม (participation arts, social arts)
 
ขั้นตอนการส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ
 
1) ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการ
โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องกรอกรายละเอียด ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่และรายละเอียดอื่นๆ ในใบสมัครอย่างชัดเจนครบถ้วน
 
2) ส่ง CV และเอกสารแสดง 3 ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา ขนาดไม่เกิน 2 MB
 
3) ส่งเอกสารนำเสนอการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับโครงการ Early Years Project ขนาดไม่เกิน 8 MB โดยระบุข้อมูลดังต่อไปนี้
– ชื่อผลงานและแนวความคิดของผลงาน (ความยาวไม่เกิน 1 หน้า กระดาษ A4)
– ภาพสเก็ตช์ต้นแบบหรือภาพถ่ายผลงานที่ต้องการส่งเข้าร่วมโครงการ
– แบบแผนการนำเสนอกระบวนการทางความคิดและการสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเฉพาะสำหรับโครงการ Early Years Project โดยในขั้นตอนการนำเสนอจะต้องระบุรายละเอียดรูปแบบการสร้างงานและการจัดแสดงผลงาน บนพื้นที่ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
– แผนงานการใช้งบประมาณอย่างละเอียดในการสร้างสรรค์ผลงาน ในงบประมาณไม่เกิน 70,000 บาท
– แผนการสนับสนุนจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากทุนในการสร้างสรรค์ดังกล่าว (หากมี)
 
4) ส่งคลิปวิดีโอนำเสนอผลงานและตัวศิลปิน ความยาวไม่เกิน 1 นาที ขนาดไม่เกิน 5 MB บันทึกนามสกุลไฟล์เป็น mpeg หรือ mpg หรือ mp4 เท่านั้น
 
5) ข้อมูลทั้งหมด จะถูกส่งผ่านใบสมัครออนไลน์ ซึ่งประกอบไปด้วย a) ใบสมัครที่กรอกรายละเอียดข้อมูลและคำถาม b) CV และ 3 ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา c) โครงการศิลปะของผู้สมัครสำหรับ Early Years Project และ d) คลิปวิดีโอนำเสนอผลงานและตัวศิลปิน โดยสามารถแนบลิงค์จัดเก็บไฟล์ออนไลน์หรืออัพโหลดไฟล์ในใบสมัคร 
 
คลิก ที่นี่ เพื่อกรอกใบสมัคร 
 
*** ผู้สมัครสามารถส่งผลงานเข้าร่วมโครงการได้คนละ 1 ชิ้น เท่านั้นโดยผลงานและแนวความคิดจะต้องเป็นกรรมสิทธิของผู้สมัครโดยชอบธรรม และไม่เคยนำออกแสดง สร้างสรรค์เต็มรูปแบบ หรือส่งเข้าร่วมโครงการอื่นมาก่อน 
 
***ในกรณีที่เป็นโปรเจคทำร่วมกับผู้อื่น กรุณาระบุว่าโปรเจคนี้มีผู้ร่วมทำทั้งหมดกี่คน และระบุรายละเอียดของหน้าที่ของแต่ละคน
 
หลักการในการประเมินผลงานและเกณฑ์การตัดสินทุนสนับสนุน
 
กระบวนการตัดสินผลงานแบ่งเป็น 2 ช่วงโดยช่วงแรกเป็นการคัดเลือก 8 ศิลปินซึ่งจะพิจารณาจาก CV ผลงานที่ผ่านมา และคุณภาพของโครงการที่ส่งเข้าร่วม รวมถึงทักษะในการนำเสนอและสื่อสารถึงผลงาน และช่วงที่สองเป็นการพิจารณาจากประสิทธิผลของการเข้าร่วมโครงการ ผ่านการนำเสนอผลงานที่แล้วเสร็จและโครงการของศิลปินนำเสนอเพื่อรับทุนการเดินทางและการเป็นศิลปินพำนัก โดยทุกขั้นตอน ศิลปินควรแสดงให้เห็นถึงคุณภาพในผลงานโดยการให้คะแนนตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 
 
1) (Potentiality) ความสามารถในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในฐานะศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินอาชีพในอนาคต การแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดการปฏิบัติ รวมถึงการจัดแสดงผลงานที่สามารถนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์
 
2) (Relevance) การแสดงถึงสมมติฐานที่มีต่อความเป็นศิลปะร่วมสมัย หรือความเชื่อมโยงศิลปะต่อสภาพสังคมและความเป็นไปในปัจจุบัน รวมถึงการนำเสนอทักษะรูปแบบและความคิดที่ตอบสนองต่อยุคสมัย
 
3) (Public Access) ความเข้าใจในการเกิดขึ้นของการตอบสนองการรับรู้ พฤติกรรม ความคิด อิทธิพล และผลกระทบของงานศิลปะในเหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นผลมาจากการที่ผลงานมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม สังคม และสาธารณะ รวมถึงการทำงานที่เอื้อสู่การเชื่อมโยงต่อสังคม หรือการแสดงออกทางศิลปะที่กระจ่างแจ้งในการสื่อสารผลงานต่อผู้ชม
 
4) (Criticality/Self-Criticality) ความสามารถสื่อสารด้วยภาษาทางความคิดวิเคราะห์ การมีองค์ประกอบของความคิด การแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความคิดเข้าสู่ผลงาน รวมถึงคุณสมบัติของศิลปินในการเปิดกว้างให้ผลงานศิลปะสามารถถูกถกเถียง ศึกษา วิพากษ์วิจารณ์จากระเบียบวิธีที่หลากหลาย
 
5) (Practicality/Execution) การแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในขั้นตอนการทำงานของศิลปินโดยยึดถือความสมบูรณ์ของกระบวนการทั้งหมดในการสร้างสรรค์ผลงาน บนพื้นฐานของความเป็นไปได้จริงตั้งแต่การเขียนโครงการ การจัดการผลงาน การจัดการกับพื้นที่ เวลา งบประมาณ และการผลิตผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ

 
การประกาศผลผู้เข้าร่วม
 
การประกาศผลผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จะแจ้งผ่าน 3 ช่องทาง คือ ทางโทรศัพท์ ทางอีเมล และทางเว็บไซต์ www.bacc.or.th หรือ baccpage ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 และผลงานที่ได้รับทุนรางวัล 2 ทุนในวันสุดท้ายของโครงการในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561
 
โครงการ Early Years Project #2 ริเริ่มและดำเนินงานโดยฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
 
ติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 
โทร: +66 2 214 6630-8 ต่อ 531
อีเมล: [email protected]
 

 
เกี่ยวกับโครงการ Early Years Project
โครงการบ่มเพาะศิลปินที่อยู่ในช่วงการทำงานระยะเริ่มต้นโดยใช้รูปแบบการคัดเลือกผลงานจากสาธารณะชนเพื่อเข้าร่วมโดยมีจุดประสงค์ในการผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ให้สามารถพัฒนาเส้นทางการทำงานศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพโครงการนี้ตั้งเป้าหมายระยะยาวคือการสร้างฐานสนับสนุนศิลปิน 1 รุ่นในช่วงเวลาหนึ่งผ่านการเปิดโอกาสให้ศิลปินจากหลากหลายพื้นที่และประเภทของผลงานให้ได้เข้ารับการอบรมความรู้ทักษะและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการเติบโตตามสายอาชีพศิลปินเนื้อหาของโครงการครอบคลุมตั้งแต่การให้โอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการจัดแสดงผลงานการเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะศิลปินการมีประสบการณ์แลกเปลี่ยนการพัฒนากระบวนการทำงานและผลงานผ่านการนำเสนอการถูกวิเคราะห์ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์จากมุมมองที่หลากหลายโดยในท้ายสุดของโครงการคือการให้ทุนในการเป็นศิลปินพำนัก (Artist Residency) 1 ทุนสนับสนุนและทุนในการเดินทางต่างประเทศ (Mobility Funding) 1 ทุนสนับสนุนและการสร้างเครือข่ายสำหรับศิลปินในแต่ละรุ่น (Young Artists Network) เพื่อเคลื่อนตัวในการทำงานตามสาขาอาชีพ
 
เกี่ยวกับทุนศิลปินพำนัก (Artist Residency Funding)
ทุนArtist Residency Fundingมอบให้แก่ผู้ได้รับทุนจากผลงานและการทำงานของศิลปินที่แสดงถึงศักยภาพโดยเงื่อนไขของทุนนี้ประกอบไปด้วยการเดินทางเป็นศิลปินที่พำนักและทำงานต่างประเทศเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือนในสถานพำนักที่จัดเตรียมร่วมกับศิลปินด้วยความเหมาะสมในรูปแบบผลงานและความสนใจจุดประสงค์ของทุนคือเพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์ที่สะท้อนความหมายของศิลปะบนพื้นที่เฉพาะการทดลองทำงานบนฐานต่างจากสภาพแวดล้อมเดิมการแลกเปลี่ยนที่เชื่อมบริบทท้องถิ่นไปสู่บริบทโลกทุนศิลปินพำนักนี้เสริมสร้างศักยภาพของศิลปินข้ามพรมแดนและวัฒนธรรมเป็นสะพานเชื่อมกลไกระหว่างการทำงานศิลปะและบริบททางสังคมอื่นๆรวมถึงสร้างโอกาสในการพัฒนาทั้งส่วนบุคคลและทางสาขาอาชีพ
 
เกี่ยวกับทุนการเดินทางต่างประเทศ (Mobility Funding)
Mobility Funding คือทุนสนับสนุนการเดินทางต่างประเทศของศิลปินโดยขอบเขตของทุนมี 2 รูปแบบคือการมีโครงการและแผนการเดินทางอยู่เดิมภายในระยะเวลาของทุน (1 ปีนับจากวันที่ได้รับทุน) เพื่อการแสดงงานการทำโครงงานวิจัยหรือการเคลื่อนตัวในการทำงานของศิลปินหรืออีกรูปแบบคือการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมแหล่งศิลปะต่างประเทศ (Art Biennale, Art Festival, Art Fair) พื้นที่ศิลปะสตูดิโอศิลปินพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ทางศิลปะโดยทุนการเดินทางนี้โดยจุดประสงค์เป็นการเชื่อมศิลปินเข้าสู่พื้นที่และความเคลื่อนไหวของศิลปะและศิลปินในระดับนานาชาติเพื่อเปิดโลกทัศน์ในการทำงานการสร้างประสบการณ์และความรู้และความเข้าใจคุณภาพและมาตรฐานเพื่อเทียบเคียงรวมถึงการสร้างเครือข่ายที่สำคัญเพื่อการเคลื่อนตัว
 
เกี่ยวกับกิจกรรมบ่มเพาะศิลปิน (ศิลป์อยู่เป็น)
“ศิลป์อยู่เป็น” เป็นกิจกรรมบ่มเพาะศิลปินในโครงการสนับสนุนศิลปิน Early Years Project โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เกิดจากแนวคิดเพื่อต้องการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบและโครงสร้างต่างๆ ในโลกศิลปะ และการผลิตงานสร้างสรรค์ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมบ่มเพาะศิลปินนี้ประกอบไปด้วย การเสริมสร้างทักษะความรู้และโลกทัศน์ของศิลปินรุ่นใหม่ในการทำงาน และการพัฒนาศักยภาพผ่านรูปแบบกิจกรรมปฏิบัติการ การเสวนา การบรรยายการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ร่วมกับผู้คนในสาขาต่างๆ รวมถึงการทำความรู้จักกับเครือข่ายและกลไกในโลกศิลปะ กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์ในการบ่มเพาะและพัฒนาอาชีพของศิลปินบนพื้นฐานของความหลากหลายการดำรงอยู่และเคลื่อนตัวในสาขาอาชีพ รวมถึงการชี้แนะถึงแนวทางในการเสริมสร้างและพัฒนาโครงสร้างสนับสนุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับศิลปินรุ่นใหม่
 

Image Gallery