Special Exhibitions
อนุพงศ์ เจริญมิตร: DEPTH PERCEPTION
พิธีเปิด: วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 เวลา 19:00 น.
ภัณฑารักษ์: Emilia Orzechowska
Depth Perception เป็นการทดลองที่นำภาพต้นฉบับมารื้อเพื่อสร้างสถานการณ์ใหม่สำหรับผู้ชม ให้เป็น “ผู้ที่กำลังจับตาดู” ศิลปินใช้เทคนิคที่พิถีพิถันและกลไกการมองเห็นของมนุษย์สร้างผลลัพธ์ดังกล่าว กระบวนการซ้อนทับภาพลงบนระนาบสองมิติ เน้นให้ภาพดูมีความลึกยิ่งขึ้น ผู้ชมจึงเป็นทั้งผู้สังเกตและผู้มีส่วนร่วมในประสบการณ์ อนุพงศ์กล่าวไว้ว่า “ผมสร้างการมองเห็นแบบใหม่ผ่านการรื้อภาพต้นแบบ ดังนั้น ผู้ชมจึงสามารถมองเห็นเหตุการณ์เดิมได้ด้วยมุมมองใหม่ ผู้ชมจะได้ค้นพบว่าตนเองมองเห็นสิ่งเดียวกันตามประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน กระบวนการสร้างการมองเห็นแบบสามมิติบนระนาบสองมิติ เกิดขึ้นจากการซ้อนทับกันของแสงในภาพที่แสงและสีตรงกับความเป็นจริง (positiveimage) และภาพที่แสงและสีตรงข้ามกับความเป็นจริง (negative image) ส่งผลให้วัตถุที่เรามองเห็นดูมีความลึกยิ่งขึ้น ภาพของแสงที่ซ้อนทับกันนั้นอาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ (…) ผมใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อจัดเรียงพื้นที่ในภาพใหม่ และนำผู้ชมเข้าไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ”
อนุพงศ์ใช้ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Bestia (The Polish Dancer) กำกับโดย Aleksander Hertz ในปี 2460 เป็นภาพยนตร์ประโลมโลกตามแบบฉบับดั้งเดิม เกี่ยวกับโลกของชนชั้นสูงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของชนชั้นล่างในวอร์ซอ เรื่องราวเล่าถึงโศกนาฏกรรมรักสามเส้าระหว่างศิลปินสาวและชู้รัก 2 คน คนเก่าและคนใหม่ที่แต่งงานอยู่กับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ตัวละครเอกฝ่ายหญิงแสดงโดย Pola Negri ดาราผู้โด่งดังที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์โปแลนด์ในสมัยนั้น จะคอยกระตุ้นจินตนาการของผู้ชมยุคปัจจุบัน
ผลงานของอนุพงษ์มีพื้นฐานมาจากความสนใจส่วนตัวและประสบการณ์ในอดีต ประกอบกับข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นจริง ปัจจัยแวดล้อมของมนุษย์สมัยใหม่ และปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมซึ่งส่งผลต่อความทรงจำร่วมและความทรงจำของแต่ละบุคคล ภาพและความทรงจำเพิ่มจำนวนขึ้น ทบทวีคูณ และเข้าแทนที่กัน ทำให้เกิดแสงบนพื้นผิวใหม่ๆ ย้ายเส้นเค้าโครงต่างๆ และทดสอบการรับรู้ของผู้ชม
อนุพงศ์ เจริญมิตรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย จากมหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพฯ และระดับปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน อนุพงศ์สอนการสร้างเทคนิคพิเศษด้านภาพ (visual effects) ที่คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต
นิทรรศการชุดนี้เป็นผลงานจากโครงการศิลปินพำนัก ณ เมืองสเชเซน ซึ่งอนุพงศ์ได้เข้าร่วมเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยความร่วมมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
TRAFO CENTER FOR CONTEMPORARY ART
ศูนย์ศิลปะร่วมสมัย TRAFO
ศูนย์ศิลปะร่วมสมัย TRAFO เปิดตัวในปี 2556ตั้งอยู่ที่เมืองสเชเซน เมืองหลวงของจังหวัดพอเมอเรเนีย ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนประเทศเยอรมนีในประเทศโปแลนด์
TRAFOเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้ศิลปินและผู้ชมได้พบปะกัน เราแนะนำให้ผู้ชมรู้จักเครื่องมือต่างๆ ทางศิลปะ โดยให้ผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในบริบทที่แตกต่างหลากหลายและได้เห็นความเชื่อมโยงกันข้ามสาขา งานทัศนศิลป์อยู่เคียงคู่กับวรรณคดี ดนตรี การละคร สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ
TRAFO ทำหน้าที่เป็น “ล่าม”ผู้สนับสนุนและนำเสนอศิลปะในพื้นที่ทางความคิดที่มีความซับซ้อน ทั้งในแง่วัฒนธรรม การเมืองและสังคม เศรษฐกิจ และปรัชญา
TRAFO เป็นการรวมตัวกันโดยไม่ใช่สถาบันศิลปะแบบดั้งเดิม และไม่ได้ทำตามกฎเกณฑ์ตายตัวอะไรในโลกศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
TRAFO เป็นห้องทดลองสำหรับประวัติศาสตร์ศิลป์เราเปิดพื้นที่สำหรับการทดลองและนำเสนอกระบวนการ การสร้าง และการลองใช้ความรู้ทางศิลปะ
กิจกรรมของ TRAFO ประกอบด้วย นิทรรศการ งานวิจัยและโครงการศิลปินพำนัก การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์การจัดประชุม คอนเสิร์ต และการบรรยาย รวมถึงกิจกรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญคือ กิจกรรมการศึกษาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ศิลปะทดสอบ / ขยายขีดจำกัดของการยอมรับทางสังคม
ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ยืดหยุ่นและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มันฉวยโอกาสปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ในฐานะที่ศิลปะเป็นวิธีการรับรู้ที่ปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ และเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลัง ศิลปะจึงมักจะเป็นเครื่องมือให้เลือกใช้ เมื่อความรู้แขนงอื่นๆ ไม่กล้าเสี่ยงกับการทดลอง หรือโดนจำกัดด้วยหลักเหตุผล ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่
สถาบันทางศิลปะ ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และสมาชิกต่างๆ ในระบบแห่งโลกศิลปะสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารและโน้มน้าวที่ทรงพลังได้ อย่างไรก็ดีคนในวงการศิลปะยังไม่ได้ใช้กลไกอันทรงพลังที่ตนเองมีอย่างเต็มที่ ทุกคนกลับใช้ศิลปะไปในทิศทางเดียวกัน คือ ใช้เพื่อโน้มน้าวคนอื่นว่าปริศนาที่ไม่มีคำตอบเป็นวิธีตั้งโจทย์แบบเดียวเท่านั้นที่ยอมรับได้ และการวางสองสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันไว้คู่กันเป็นวิธีตอบโจทย์แบบเดียวเท่านั้น แต่เครื่องมือทางศิลปะ เช่นเดียวกับชุดความคิดในเชิงวิชาการ มีอิทธิพลที่ทรงพลังมาก และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมถกเถียง หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ริเริ่มการถกเถียงเกี่ยวกับความจริงและวิธีสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ในโลกได้
ผมขอเชิญชวนให้ทุกคนกล้าที่จะใช้ภาษาแห่งศิลปะโดยไม่มีข้อผูกมัด ถ้าเราคิดจะสร้างหรือสนับสนุนศิลปะอย่างจริงจังแล้ว เราควรจะยอมรับและประยุกต์ใช้ความรู้จากศิลปะในชีวิตของเรา
Stanisław Ruksza
ผู้อำนวยการ ศูนย์ศิลปะร่วมสมัย TRAFO