Main Exhibition 789
โครงการผลงานศิลปะระดมทุนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โครงการผลงานศิลปะระดมทุนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2562
สนับสนุนผลงานศิลปะโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์
ที่มาโครงการ
เนื่องด้วยสำนักงานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลปกรุงเทพฯ) มีหน้าที่จัดหาทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ จึงได้ริเริ่ม “โครงการผลงานศิลปะระดมทุนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2562” ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนผลงานศิลปะจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ประจำปี 2562 โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้บริจาคผลงานศิลปะ จำนวน 2 ชิ้นงาน ซึ่งจัดแสดงในเทศกาลบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561- 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ หอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อจำหน่ายหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดหาทุนสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ
2. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่ายสาขาต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนหอศิลปกรุงเทพฯ
3.เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนว่าหอศิลปกรุงเทพฯ คือหอศิลป์ของทุกคน
รูปแบบกิจกรรม
เป็นการจำหน่ายผลงานศิลปะที่มีหน่วยงานหรือศิลปินได้แจ้งความประสงค์จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ โดยการประกาศจำหน่ายผลงานผ่านสื่อต่างๆ ของหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งในโครงการครั้งที่ 1/2562 นี้ เป็นผลงานศิลปะจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์
ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ประกาศจำหน่ายผลงานศิลปะ ผ่านสื่อต่างๆ ระหว่างวันที่ 22 – 31 มกราคม 2562
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สามารถจัดหาเงินทุนเพื่อการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ประจำปี 2562
2. เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่ายสาขาต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนหอศิลปกรุงเทพฯ
3. องค์กรภาคเอกชนและประชาชนตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
ประกาศจำหน่ายผลงานศิลปะ 22 – 31 มกราคม 2562
รื้อถอน – ขนส่ง – ติดตั้งผลงาน 1 – 5 กุมภาพันธ์ 2562 (หรือตามกำหนดการของฝ่ายนิทรรศการ)
รับเงิน ส่งใบเสร็จรับเงินทำเอกสารขอบคุณ นับจากวันที่ประกาศจำหน่ายผลงาน – 15 กุมภาพันธ์ 2562
ที่ปรึกษาโครงการ
นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต
ผศ.ดร.อภิรดี เกษมศุภ
ผู้ประสานงาน
สนง.มูลนิธิหอศิลปฯ 02-214 6630-8 ต่อ 511
เกี่ยวกับผลงาน
1. Vexed + Voided
ผู้ออกแบบ: บี วิทยถาวรวงศ์, บิวท์บิวโร
Vexed + Voided, 2561
ไม้เผาไฟ และเหล็กเส้น, ขนาด: 3 x 3 x 3 ม.
อดีตของลูกบาศก์ดำ ทำหน้าที่เป็นสถาปัตยกรรมสำหรับจัดแสดงผลงานประกวดแบบนานาชาติประจำปี 2018 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงการแปลงร่างวัสดุไม้ ตัดคว้าน เผาไฟให้ดำด้วยกระบวนการทำมือ เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ของการประกวดแบบ ภายใต้หัวข้อ VEX : Agitated Vernacular ปัจจุบันลูกบาศก์ดำถูกนำมาชุบชีวิต เป็นวัตถุดำว่างเปล่าไร้พันธะในห้องขาว รอการตีความ ทำหน้าที่ที่ต่างไปท่ามกลางเพื่อนบ้านใหม่
2. Moving System Pavilion (ศาลาพาจร)
ผู้ออกแบบ: วีระ อินพันทังและ พิช โปษยานนท์
ศาลาพาจร, 2561
สถาปัตยกรรม, บากประกอบไม้ขนาด: 9 x 9x 6 ม.
“ไม้เป็นของขวัญ (วัสดุ) จากธรรมชาติชนิดเดียวที่มนุษย์เราสามารถสร้าง (ปลูก) คืนกลับสู่ธรรมชาติได้” จุดเริ่มต้นของการออกแบบคือข้อต่อไม้แบบเถรอดเพล (เถน-อด-เพน) ซึ่งประกอบขึ้นจากไม้หน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 6 ท่อนสอดขัดกันเข้าเป็นข้อต่อ 3 แกน (แกนละ 2 ท่อน) เข้าลักษณะกากบาท การนำข้อต่อไม้นี้มาขยายเป็นงานสถาปัตยกรรม ใช้วิธีการยืดข้อต่อแต่ละแกนให้ยาวออกไป แกนตั้งจะเข้าลักษณะเสา ขณะที่แกนนอนจะเข้าลักษณะคาน ปลายเสา/คานส่วนที่ยื่นออกไปเมื่อสร้างข้อต่อใหม่ขึ้นมา แล้วยืดข้อต่อใหม่ออกไปอีก ทั้งหมดก็เริ่มจะกลายสภาพเป็นโครงขึ้นมา
‘ศาลาพาจร’ หรือ‘Moving System Pavilion’ มีลักษณะเป็นโครงโปร่งบนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีรูปทรงโดยรวมไล่ลำดับจากต่ำค่อยๆสูงขึ้นมาบรรจบกันที่มุมด้านหนึ่ง เป็นลักษณะ 1 ใน 4 ของทรงพีระมิด ซึ่งแสดงนัยว่าโครงนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง ไม่ใช่รูปทรงสมบูรณ์ สามารถขยายต่อออกไปได้อีก สะท้อนคุณลักษณะของโครงที่ก่อรูปจากการนำท่อนไม้มาต่อประกอบกันตามระบบการประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ทั้งนี้ ความเป็นโครงโปร่งเอื้อให้การผ่านเข้า-ออกเป็นไปได้หลากทิศหลายทาง เปิดอิสระให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปมา
โครงของ‘ศาลาพาจร’ ก่อรูปขึ้นจากกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังนี้
– แผงด้านข้าง 2 ด้านค่อย ๆ ไล่ลำดับจากต่ำที่ปลายข้างหนึ่งสู่สูง ณ ตรงมุมที่มาบรรจบกัน เป็นเสมือนส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมรูปทรงทั้งหมด
– ชิ้นส่วนแกนตั้ง – เสา กำหนดตำแหน่งไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ โดยเสาแนวแผงด้านข้างตามข้อแรกมีความกว้างช่วงละ 1.50 เมตร เสาในตำแหน่งอื่นมีความกว้างเป็น 2 เท่า (2 ช่วง)
– ชิ้นส่วนแกนนอน – คาน กำหนดให้มีความยาวไม่เกิน 2 ช่วง โดยวางตำแหน่งในลักษณะสุ่มเดา (random)
ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ข้างต้น โครงนี้ได้ก่อรูปขึ้นจากท่อนไม้หน้าตัดสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเดียวกันทั้งหมด และยึดโยงกันด้วยการเข้าไม้แบบข้อต่อเถรอดเพล โดยมีการต่อท่อนไม้เฉพาะเสาอันเป็นชิ้นส่วนตามแนวตั้ง ขณะที่ไม่มีการต่อคานอันเป็นชิ้นส่วนตามแนวนอน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงาน มูลนิธิหอศิลปฯ 02-214 6630-8 ต่อ 511