Workshop & Training

Critic Session #2


โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เวลา 14.00 น – 16.00 น.


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเชิญศิลปินรุ่นใหม่และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมฟังกิจกรรม Critic Session#2 ซึ่งเรียนเชิญนักวิจารณ์ศิลปะและผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์อื่น ๆ มาสร้างองค์ความรู้หรือมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่ศิลปินผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำคำแนะนำเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป โดย อาจารย์ ดร. ถนอม ชาภักดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

นักวิจารณ์

อาจารย์ ดร. ถนอม ชาภักดี (นักวิจารณ์)

ถนอม ชาภักดี เดินทางท่องเที่ยวและศึกษาเกี่ยวกับศิลปวิจารณ์พร้อม ๆ กับการเขียนบทรายงานและข้อเขียนงานวิจารณ์ศิลปะมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 ถึงช่วงทศวรรษที่ 2550 เคยร่วมปฏิบัติการทางศิลปะกับกลุ่มอุกกาบาต (2538) กลุ่มศิลปะการแสดงสดเอเชียโทเปีย (2539 – 2545) บรรณาธิการหนังสือโลกศิลปะ (2548 – 2549) เคยสอนวิชาเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะและการวิจารณ์ที่คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต (2534 – 2547) มีความสนใจในเรื่องศิลปะกับชุมชน และศิลปะกับบริบททางสังคมการเมืองวัฒนธรรมในระดับต่าง ๆ เป็นพิเศษ

ผลงานวิจัยที่ผ่านมา อาทิ ศิลปะชุมชนกับบริบททางนิเวศวิทยาวัฒนธรรม: อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ. อุบลราชธานี (2553) การสถาปนาพื้นที่ศิลปะจากโรงงานสู่พื้นที่ศิลปะ 789 กรุงปักกิ่ง (2554) ศิลปะร่วมสมัยในกลุ่มประเทศอินโดจีน (2557) แนวคิดศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในประเทศอินโดนีเซีย: สกุลศิลปะยอกยาการ์ตาและบันดุง (2560) คณะกรรมการที่ปรึกษาศิลปวัฒนธรรมกลุ่มศิลปวัฒนธรรมอาเซียน กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันประจำประเทศไทย (2558 – 2559) ภัณฑารักษ์ร่วมกับไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร งานนิทรรศการศิลปะประเทืองเอมเจริญ: ร้อยริ้วสรรพสีสันตำนานชีวิตและสังคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2559) และภัณฑารักษ์งานศิลปะ KhonKaen Manifesto (เหลี่ยม มาบ มาบ) (2561)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ (อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เป็นผู้ตั้งชื่อ ‘วิภาษา’ และออกแบบโลโก้สำนักพิมพ์โดยใช้รูปนกฮูก อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีภูมิปัญญา นอกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารวิภาษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เขายังเคยเป็นกรรมการของคณะกรรมอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะของนายคณิต ณ นคร และหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจ “มรสุมชายขอบ” ทำงานร่วมกับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน – พฤษภาคม (ศปช.) ในการค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุนองเลือดในปี 2553 และภัณฑารักษ์ร่วมกับอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ งานนิทรรศการ Khai Maew X : Kalaland ที่ ARTIST+RUN (2561)

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ EYP#4 NEXT STEPS ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเสริมโครงการ EARLY YEARS PROJECT 4 : PRAXIS MAKES PERFECT ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ โดยถือเป็นส่วนของกิจกรรมการศึกษาเพื่อสาธารณะ

**กิจกรรมบรรยายเป็นภาษาไทย
**ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร 02-214-6630 ต่อ 519
Email: [email protected]
 

Image Gallery