Gallery Tours

กิจกรรมนำชมนิทรรศการโดยภัณฑารักษ์: ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก”


โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นำชมนิทรรศการ เวลา 14:00 – 16:00 น.
การแสดงชุด เสรีภาพ เป็นเป้าหมายสูงสุด โดยศิลปิน จุมพล อภิสุข เวลา 16.00 น.


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเชิญผู้สนใจเข้ากิจกรรมนำชมนิทรรศการโดยภัณฑารักษ์ โดย คุณกษมาพร แสงสุระธรรม และคุณชล เจนประภาพันธ์ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมการศึกษาเพื่อสาธารณะโดยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” (RIFTS: Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s)
 
นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” ตั้งต้นมาจากการทบทวนภูมิทัศน์ของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 – 2000 ช่วงเวลาที่มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้น เรื่อยมาจนกระทั่งถึงขณะที่กล่าวกันว่าศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยพุ่งถึงจุดสูงสุด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมหาศาล ราวกับก่อให้เกิด “รอยแยก” ต่าง ๆ ในโลกศิลปะไทยที่ยังส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน จากการท้าทายโครงสร้างอำนาจทางศิลปะในเชิงสถาบันและในเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ ทั้งด้วยการสร้างพื้นที่ศิลปะอิสระ การเชื่อมต่อกับเครือข่ายศิลปะข้ามชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสรรค์ผลงานแหวกขนบจากศิลปินหัวก้าวหน้าในขณะนั้น นิทรรศการนี้รวบรวมปฏิบัติการทางศิลปะและวิธีคิดเกี่ยวเนื่องที่ผลิตและปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

หลังจบการนำชมนิทรรศการ พบกับการแสดงพิเศษ โดย 1 ใน 13 ศิลปิน จุมพล อภิสุข

ผลงานการแสดงสดชุด เสรีภาพ เป็นเป้าหมายสูงสุด – Freedom is an Ultimate Goal จุมพล อภิสุข สร้างขึ้นสำหรับนิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” โดยเฉพาะ เพื่อสร้างบทสนทนาสืบเนื่องจากความสนใจเรื่องสถานการณ์ทางสังคมการเมืองของเขา มีเป้าหมายเพื่อเชิดชูเสรีภาพของทุกคนบนโลกใบนี้ เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดอันหลากหลาย ทั้งการเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม จุมพลจะทำการแสดงสดประกอบกับคำประกาศ เรื่อง เสนอให้วันศารทวิษุวัตเป็นวันแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย (A proposal for the September equinox to be a day for freedom and democracy) ที่เขาเขียนขึ้นมาเพื่อสื่อถึงการเปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก
ระยะเวลาการแสดง 30 นาที

**เหมาะสำหรับผู้สนใจทั่วไป
**ไม่ต้องสำรองที่ล่วงหน้า
**กิจกรรมฟรี ยินดีรับเงินบริจาค

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร 02-2146630 ต่อ 519
Email: [email protected]

Image Gallery