Meeting & Seminars

RIFTS TALK: ยุคสมัยของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย


โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
13.00 – 17.30 น.


เพื่อทำความรู้จักและทบทวนบรรยากาศของยุคสมัย สถานการณ์ และปฏิบัติการทางศิลปวัฒนธรรมในช่วงเวลาที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของโลกศิลปะไทย กิจกรรมเสวนา ยุคสมัยของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย จึงนำเสนอการทบทวนความเคลื่อนไหวในเชิงโครงสร้างที่เป็นเงื่อนไขในการเกิดขึ้นและการเติบโตของพื้นที่ศิลปะอิสระและสถาบันศิลปะ การจัดเทศกาลศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนการสนับสนุนการสร้างผลงานศิลปะของศิลปินที่ถือว่าเป็นแนวหน้าในการทำงานศิลปะรูปแบบใหม่ ในช่วงเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จนกระทั่งถึงทศวรรษ 2000 เพื่อพิจารณาว่าเงื่อนไขและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในยุคสมัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสร้าง “วงการศิลปะร่วมสมัยไทย” อย่างไร
 
วงเสวนา l: ศิลปิน การรวมกลุ่ม เครือข่าย และกิจกรรมทางศิลปะร่วมสมัย
เวลา 13:00 – 15:00 น. 

ร่วมสนทนากับศิลปินและกลุ่มศิลปินที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยในระยะเริ่มแรกในฐานะศิลปินที่เป็นผู้สร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้แก่วงการศิลปะผ่านการจัดกิจกรรมและนิทรรศการศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ โดยทำงานร่วมกับองค์กรของรัฐและเอกชนทั้งระดับชาติและนานาชาติ พื้นที่และโครงการทางศิลปะที่ดำเนินการโดยศิลปินเองเหล่านี้ มีส่วนสำคัญสำหรับการรวมกลุ่มเพื่อทำงานในลักษณะที่เป็น “อิสระ” จากกฎเกณฑ์ทางศิลปะตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มาจากรัฐ ตลอดจนตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะต่อชุมชนหรือสังคม
  
ร่วมสนทนาโดย
– คามิน เลิศชัยประเสริฐ 
– ถนอม ชาภักดี
– อุทิศ อติมานะ
 
ชวนถกประเด็นโดย  กิตติมา จารีประสิทธิ์

เกี่ยวกับผู้ร่วมสนทนา

คามิน เลิศชัยประเสริฐ
คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินร่วมสมัย นอกจากบทบาทด้านการเป็นศิลปิน คามินยังร่วมก่อตั้งมูลนิธิที่นา (The Land Foundation) ร่วมกับฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช นอกจากนั้นยังมีส่วนในการสนับสนุนกิจกรรมทางศิลปะอิสระที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อุโมงค์ศิลปะธรรม และ โครงการอึกกะบึก เป็นต้น ล่าสุดคามินก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 31 (31th Century Museum Contemporary of Spirit) ที่ไปร่วมทำงานกับองค์กรและผู้คนจำนวนมากมายในหลายๆ เมืองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
 
ถนอม ชาภักดี
ถนอม ชาภักดี นักวิชาการและนักวิจารณ์ศิลปะ ถนอมมีงานเขียนบทวิจารณ์ศิลปะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยเฉพาะใน เนชั่นสุดสัปดาห์ และ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ นอกจากงานเขียนแล้ว เขายังร่วมปฏิบัติการทางศิลปะกับกลุ่มอุกกาบาตและกลุ่มศิลปะการแสดงสดเอเชียโทเปีย ถนอมเคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และล่าสุดเป็นภัณฑารักษ์เทศกาลศิลปะขอนแก่นแมนิเฟสโต้ (2018)
 
อุทิศ อติมานะ
อุทิศ อติมานะ ศิลปินและนักวิชาการด้านศิลปะ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ “เชียงใหม่จัดวางสังคม” เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสถาบันศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นกรรมการมูลนิธิที่นา (The Land Foundation)
 
กิตติมา จารีประสิทธิ์
กิตติมา จารีประสิทธิ์ นักวิชาการด้านศิลปะและภัณฑารักษ์ กิตติมาร่วมเปิดห้องทดลองภัณฑารักษ์และสำนักพิมพ์หนังสือศิลปิน Waiting You Curator Lab เธอเป็นภัณฑารักษ์นิทรรศการ แดนชั่วขณะ: ศิลปะสมใหม่เอี่ยม พ.ศ. 2553 – 2562 พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ (2019) และนิทรรศการ ของ (คณะ) ราษฎร ที่คาร์เทล อาร์ตสเปซ กรุงเทพมหานคร (2018; ร่วมกับ ชาตรี ประกิตนนทการ) เป็นต้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

——-

วงเสวนา ll: ภัณฑารักษ์ แกลเลอรี่ หอศิลป์ และทุนข้ามชาติในยุคเฟื่องฟูของพื้นที่ศิลปะทางเลือก
เวลา 15:30  – 17:30 น.

บทสนทนานี้จะเสนอให้ทบทวนถึงภูมิทัศน์ของวงการศิลปะไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งสนใจความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสถานะและความสำคัญของสถาบันทางศิลปะ ผ่านมุมมองของผู้ที่มีส่วนสร้างและดำเนินการในแกลเลอรี่และหอศิลป์ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งในฐานะภัณฑารักษ์และนักบริหารจัดการทางศิลปวัฒนธรรม ภายใต้บรรยากาศของยุคสมัยที่ภาวะข้ามพรมแดนกลายเป็นสิ่งสามัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ระยะใกล้ของยุคสมัยอันเฟื่องฟูของพื้นที่ศิลปะทางเลือกจากทรรศนะของผู้ปฏิบัติการเอง
 
ร่วมสนทนาโดย
– กฤติยา กาวีวงศ์
– จิตติ เกษมกิจวัฒนา
– ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
– ลักขณา คุณาวิชยานนท์
 
ชวนถกประเด็นโดย มนุพร เหลืองอร่าม

เกี่ยวกับผู้ร่วมสนทนา

กฤติยา กาวีวงศ์
กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์และผู้บริหารงานเชิงศิลปวัฒนธรรม กฤติยาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพื้นที่ศิลปะอิสระ Project 304 เมื่อปี 1996 ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพมหานคร กฤติยาเป็นภัณฑารักษ์นิทรรศการและเทศกาลทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่สำคัญมากมาย เช่น Bangkok Experimental Film Festival (1997–2007; ร่วมกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล), Underconstruction ที่กรุงโตเกียว (2000–2002), Saigon Open City ที่นครโฮจิมินห์ (2006–2007; ร่วมกับฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช) เป็นต้น
 
จิตติ เกษมกิจวัฒนา
จิตติ เกษมกิจวัฒนา ศิลปินและภัณฑารักษ์ จิตติร่วมก่อตั้งและดำเนินการพื้นที่และสื่อศิลปวัฒนธรรมอิสระหลากหลายแห่ง เช่น AARA: About Studio / About Café ในฐานะภัณฑารักษ์ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์น้ำดี ร่วมกับฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, ภัทรวดี ภัทรนาวิก, และปรัชญา พิณทอง รวมถึงทำหน้าที่ภัณฑารักษ์นิทรรศการ BACC Experimental Project: Temporary Storage (2012) และนิทรรศการ วังน่านิมิต (2018) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นภัณฑารักษ์ในพำนักที่หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ภัณฑารักษ์และผู้บริหารงานเชิงศิลปวัฒนธรรม เป็นอดีตผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี (Bhirasri Institute of Modern Art) พื้นที่ศิลปะที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะในประเทศไทย ทั้งศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในช่วงทศวรรษ 1980 ฉัตรวิชัยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ให้ก่อตั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการคนแรก และ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
ลักขณา คุณาวิชยานนท์
ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ภัณฑารักษ์และผู้บริหารงานเชิงศิลปวัฒนธรรม เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะ แห่งหอศิลป์ตาดู และเป็นอดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลักขณาเป็นภัณฑารักษ์ Thai Pavilion ณ เทศกาล Venice Biennale ประจำปี 2005 และ Bangkok Art Biennale (BAB) ปี 2018 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพิเศษ ที่ปรึกษาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในโครงการ “จรัส แสงสร้างสรรค์”
 
มนุพร เหลืองอร่าม
มนุพร เหลืองอร่าม นักวิจัยและภัณฑารักษ์ มนุพรทำงานร่วมกับองค์กรศิลปะที่ไม่แสวงหาผลกำไรมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ไม่ว่าจะเป็น AARA: About Studio / About Café และ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพมหานคร รวมไปถึง Arts Network Asia (ANA) ประเทศสิงคโปร์ และเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายโครงการด้านศิลปะของบริติช เคานซิล ประเทศไทย ปัจจุบันทำงานด้านภัณฑารักษ์กับหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพมหานคร
 
**ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมหน้างาน ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
**จุดลงทะเบียน บริเวณหน้าห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
**มีที่นั่งจำนวนจำกัด
**กิจกรรมฟรี ยินดีรับเงินบริจาค

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร 02-2146630 ต่อ 519
Email: [email protected]

Image Gallery