Meeting & Seminars

กิจกรรมเสวนานิทรรศการทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์


 


โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหอศิลป์ทวี รัชนีกร


กิจกรรมการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป 
THAWEE RATCHANEEKORN, 1960 – 2022 : A Retrospective Exhibition
กิจกรรมเสวนานิทรรศการทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์
โดย อาจารย์ทวี รัชนีกร (ศิลปิน) และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา (ภัณฑารักษ์)
วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 
เวลา 14.00 – 16.30 น.
สถานที่: ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หอศิลปกรุงเทพฯ ขอชวนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมเสวนานิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ กิจกรรมเสวนาที่จะพาทุกท่านไปศึกษาประวัติ แนวความคิด และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของอาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินสมัยใหม่และร่วมสมัยไทยผู้มีความโดดเด่นและมีเส้นทางอาชีพอันมีคุณูปการต่อสาธารณะวัย 88 ปี ที่ยืนหยัดบนเส้นทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี พร้อมกับบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ศิลป์ที่สืบเนื่องจากศิลปิน ซึ่งบ่งบอกถึงพัฒนาการทางศิลปะจากยุคสมัยใหม่จนถึงยุคร่วมสมัย ที่แสดงถึงรอยต่อทางความคิดทางศิลปะ ความเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง สภาวะแวดล้อมของไทยที่บันทึกและสะท้อนโดยศิลปิน นอกจากนั้นยังได้เข้าใจถึงเนื้อหาและวิธีการนำเสนอของนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย
 
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ทวี รัชนีกร (ศิลปิน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2548  และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา (ภัณฑารักษ์) ภัณฑารักษ์ ศิลปิน และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างศิลปินและภัณฑารักษ์
 
** กรุณาลงทะเบียนเพื่อสำรองที่นั่งล่วงหน้า
** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
** มีจำหน่ายสูจิบัตรประกอบนิทรรศการ ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ : ทวี รัชนีกร ราคา 900 บาท
(จำหน่ายราคาพิเศษเพียง 800 บาท เฉพาะในวันงานเท่านั้น)

ประวัติศิลปิน (Artist Biography)
ทวี รัชนีกร (พ.ศ. 2477 – ปัจจุบัน เกิดที่จังหวัดราชบุรี) เป็นศิลปินไทยคนสำคัญ ผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานสะท้อนปัญหาทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในหลากหลายรูปแบบทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนัก และครุ่นคิดถึงปัญหาต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งจากงานศิลปะของตนเอง มีผลงานหลายชิ้นได้รับรางวัลจากเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ 8 จนถึงครั้งที่ 15
 
หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2504 ได้เดินทางไปสอนศิลปะที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้ร่วมก่อตั้งแผนกวิชาศิลปกรรม อันเป็นสถาบันการศึกษาศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกของภาคอีสาน ตลอดการทำงานได้ตั้งใจ ทุ่มเทถ่ายทอดวิชาความรู้และอุดมการณ์ให้นักศึกษาตื่นตัวทั้งในเรื่องศิลปะและการเมือง จนอาจถือได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อกำเนิดศิลปะเพื่อชีวิตของศิลปินสายอีสานโคราช หรือ กลุ่มศิลปินโคราช
 
ภายหลังเกษียณอายุราชการ ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องในฐานะศิลปินอิสระ จากการทำงานวิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อนถึงปัญหาทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติรางวัลมนัส เศียรสิงห์ "แดง" ศิลปินเกียรติยศ สาขาทัศนศิลป์ดีเด่น ด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2545 และได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2548

 
เกี่ยวกับวิทยากร
ผศ. วุฒิกร คงคา ภัณฑารักษ์ ศิลปิน และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผศ. วุฒิกร คงคา เริ่มเรียนศิลปะในระดับ ปวช. ที่โคราช ก่อนจะเข้ามาเอนทรานซ์ ศึกษาเรื่องศิลปะอย่างเต็มตัวในคณะจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเรียนจบ เขาเริ่มต้นงานอาชีพสายอาจารย์ทั้งที่ตอนแรกไม่ชอบงานแบบนี้ เขามีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมและศิลปะสื่อผสม นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสร่วมแสดงผลงานศิลปะมากมายจนได้รับรางวัล อาทิเช่น พ.ศ. 2548 รางวัลทุนเกียรติยศ ศิลป์ พีระศรี พ.ศ. 2542 รางวัลศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย โดย บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส  พ.ศ. 2540 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2เหรียญเงิน จิตรกรรมศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 43 รวมถึงยังได้รับเกียรติเป็นหนึ่งทีมภัณฑารักษ์ของเทศกาล ‘Bangkok Art Biennale 2020’ ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า ‘Escape Routes’ หรือ ‘ศิลป์สร้าง ทางสุขอีกด้วย

 
ขั้นตอนในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม : 
ลงทะเบียนผ่าน Google Form คลิก
(แจ้งผลการลงทะเบียนผ่านอีเมล)
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร 02-2146630 ต่อ 519
Email: [email protected]