Main Exhibition 789
James Nachtwey: Memoria Exhibition
จัดโดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
James Nachtwey (เจมส์ นาคท์เวย์) หนึ่งในช่างภาพสารคดีสงครามที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในโลก เขาเปรียบเสมือนผู้สังเกตการณ์ และพยานของสงครามซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้ง รวมทั้งโศกนาฏกรรมภัยพิบัติทั่วโลก ที่นำมาจัดแสดง James Nachtwey: Memoria Exhibition นิทรรศการรวมผลงานภาพถ่ายสงครามของเจมส์ นาคท์เวย์ จำนวน 126 ภาพ พร้อมการฉายวีดีโอสั้นที่กำกับโดย Thomas Nordanstad (โทมัส นอร์ดานสตัด)
James Nachtwey: Memoria Exhibition คือ นิทรรศการรวมผลงานภาพถ่ายสงคราม และโศกนาฏกรรมภัยพิบัติตลอดอาชีพการเป็นช่างภาพสงครามกว่า 42 ปี ของ James Nachtwey ที่จะมาจัดแสดงครั้งแรกในไทยและเอเชียแปซิฟิก โดยนำภาพชุดเดียวกันกับที่นำไปจัดแสดง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, มิลาน ประเทศอิตาลี สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งจะเผยให้เห็นถึงชีวิตในขณะเกิดสงคราม และชีวิตหลังสงครามที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ของผู้คนและการพยายามใช้ชีวิตหลังจากการสูญเสีย
สำหรับประเทศไทย James Nachtwey นำภาพถ่ายเซ็ตพิเศษมาเผยสู่สาธารณะเป็นที่แรกของโลก กับภาพประวัติศาสต์ของชีวิตในสงครามยูเครนที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนให้คนไทยได้ชมก่อนใคร
นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ War Photographer สารคดีที่เล่าถึงชีวิตและการทำงานเป็นช่างภาพสารคดีสงคราม และโศกนาฏกรรมภัยพิบัติ และกิจกรรมพูดคุยกับ James Nachtwey ในวันที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 16.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับภาพยนตร์สารคดี War Photographer ที่กำกับโดย Christian Frei (คริสเตียน เฟรย์) ได้ติดตามการทำงานของ James Nachtwey ช่างภาพสงครามเป็นเวลาเวลาสองปีในสงครามที่ประเทศอินโดนีเซีย, โคโซโว, ปาเลสไตน์ เป็นต้น โดยใช้กล้องขนาดเล็กพิเศษแนบไปกับกล้องถ่ายภาพของ James Nachtwey ทำให้ได้เห็นมุมมองของช่างภาพชื่อดังของโลก ได้ยินเสียงลมหายใจ ที่สะท้อนถึงแรงจูงใจและการทำงานในฐานะช่างภาพสงคราม
เกี่ยวกับ James Nachtwey
James Nachtwey เกิด 14 มีนาคม 1948 เติบโตในแมสซาชูเซตส์และจบการศึกษาจาก Dartmouth College ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและรัฐศาสตร์ เขาเริ่มต้นในอาชีพช่างภาพกับ Albuquerque Journal ในปี 1976 ก่อนจะย้ายมาอยู่นิวยอร์กและเริ่มทำงานเป็นช่างภาพอิสระ ในปี 1981 โดยเขาได้ทำงานในต่างประเทศครั้งแรกที่ไอร์แลนด์เหนือ เพื่อนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ สู่การเดินทางรอบโลก ทั้งในแอฟริกาใต้ ลาตินอเมริกา รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม อัฟกานิสถาน เพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำ และเคยเป็นช่างภาพให้กับนิตยสาร TIME ตั้งแต่ปี 1984- 2018
ในปี 2003 เขาได้รับบาดเจ็บจากลูกระเบิด ระหว่างทำงานที่นครแบกแดดให้กับนิตยสาร TIME เพื่อบันทึกภาพการบุกอิรักโดยสหรัฐอเมริกา ในเหตุการณ์นั้นมีทหารสองนายได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับผู้สื่อข่าวของนิตยสาร TIME ส่วนตัวเขายังสามารถถ่ายภาพการช่วยชีวิตโดยแพทย์สนามได้หลายภาพก่อนที่จะหมดสติ James Nachtwey ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาจนหายดี หลังจากนั้นได้เดินทางมาบันทึกภาพโศกนาฏกรรมจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ได้อีกด้วย
เกี่ยวกับ Memoria
นิทรรศการ “Memoria” ของ James Nachtwey ได้จัดแสดงความทรงจำในการทำงานตลอดชีวิตอันยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งเขามักจะอยู่ศูนย์กลางของวิกฤตการณ์และสถานที่ที่พังทลายจากสงคราม เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญในเสี้ยววินาที ภาพถ่ายแต่ละภาพของ James Nachtwey มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของความอยุติธรรมและความรุนแรงอันเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขทั้งด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเร่งด่วน
James Nachtwey เคยกล่าวไว้ในงานเปิดนิทรรศการ “Memoria” ที่ Fotografiska Tallinn ว่า สำหรับผมแล้ว การถ่ายภาพไม่ใช่การยัดเยียดสิ่งที่ผมคิดว่าผมรู้ให้เป็นความจริง มันคือการสำรวจด้วยตาหนึ่งคู่ หนึ่งความคิด หนึ่งหัวใจ เคลื่อนผ่านโลกแห่งความเป็นจริงตามเวลาจริง พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้คนทีละคน ณ จุดที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง เรื่องราวที่สังคมต้องการเพื่อดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพื่อประเมินเหตุการณ์ ตัดสินใจอย่างรอบรู้ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดภาพถ่ายงานของผมก็ขยายออกไปนอกสงคราม รวมไปถึงสถานการณ์อื่นๆ ที่มีความอยุติธรรม นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการแก้ไข ทั้งด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตลอดจนปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับความสนใจมากขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 ต่อ 533