Meeting & Seminars

EARLY YEARS PROJECT #7 Public Tour “ต้นทางสู่ปลายทาง ความคิดเห็นจากกรรมการ”

 

โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เวลา : 14.00-16.00 น.



วิทยากร :
จักรวาล นิลธำรงค์
จิระเดช และพรพิไล มีมาลัย (jiandyin)
สืบแสง แสงวชิระภิบาล

“กรรมการ” องค์ประกอบสำคัญที่โครงการรูปแบบงานประกวด แข่งขัน หรือการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับรางวัล พึงมี ความพิเศษของกรรมการในโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ EYP นั้นไม่ใช่แค่หน้าที่ในการตัดสินผู้ชนะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอีกหนึ่งผู้ให้คำแนะนำกับศิลปิน ความคิดเห็นของกรรมการมีนัยยะที่สำคัญต่อการพัฒนางานของศิลปินไม่มากก็น้อย ดังนั้นในการคัดเลือกกรรรมการร่วมโครงการในแต่ละครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิเป็นสิ่งสำคัญ 

กิจกรรมในครั้งนี้ Public Tour หัวข้อ “ต้นทางสู่ปลายทาง ความคิดเห็นจากกรรมการ” มีความตั้งใจที่จะขยายเสียงของกรรมการให้ดังขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงเหตุและผลในการคัดเลือกผลงานเข้าร่วมโครงการ และเพื่อให้ข้อคิดเห็นที่เป็นระโยชน์แก่ศิลปินในโครงการเหล่านี้ ได้ส่งต่อไปสู่ศิลปินรุ่นใหม่คนอื่นๆ ต่อไป

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/hP1L61XCpBqpDiK88

* กิจกรรมบรรยายภาษาไทย
** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร 02-214-6630 ต่อ 519
Email: [email protected]

———-
เกี่ยวกับวิทยากร 
จักรวาล นิลธำรงค์
จักรวาล ศิลปินและผู้ผลิตภาพยนตร์ ผลงานของจักรวาลขยายกว้างตั้งแต่ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์สารคดี ไปจนถึงงานวิดิโอจัดวางและภาพยนตร์เรื่องยาว ซี่งส่วนใหญ่จะมีประเด็นเกี่ยวข้องกับปรัชญาตะวันออกในบริบทร่วมสมัย ผลงานของเขาถูกจัดแสดงและฉายในเทศกาลภาพยนตร์และนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติหลายแห่ง เช่น เทศกาลภาพยนตร์สารคดียามากาตะ (Yamagata Documentary Film Festival) เทศกาลไทเปเบียนนาเล่ พ.ศ. 2555 (Taipei Biennial 2012) เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน (Forum Expanded หรือการเลือกศิลปะชนิดต่างๆ มาเพื่อสะท้อนความเป็นภาพยนตร์โดย Arsenal สถาบันภาพยนตร์และวิดิโออาร์ต) เทศกาลเบียนนาเล่นานาชาติด้านสื่อศิลปะและศิลปะร่วมสมัยโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะโซล ในปี พ.ศ. 2557 (SeMA Biennale Mediacity Seoul 2014) เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต (Toronto Film Festival) และเทศกาลอื่นๆ อีกมากมาย 
 
ผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวของเขา “Vanishing Point” (2558) ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดาม ครั้งที่ 44 (the 44th International Film Festival Rotterdam) และได้รับรางวัลชนะเลิศ Hivos Tiger Award ส่วนผลงานภาพยนตร์ชิ้นล่าสุด “เวลา” หรือ “Anatomy of Time” (2564) ก็ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ครั้งที่ 78 (the 78th Venice Film Festival) ปัจจุบันจักรวาลเป็นอาจารย์สอนด้านภาพยนตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
 
จิระเดช และพรพิไล มีมาลัย (jiandyin)
jiandyin ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และผู้ก่อตั้ง ‘บ้านนอก’ กลุ่มความร่วมมือทางศิลปะวัฒนธรรม (Baan Noorg Collaborative Arts and Culture) ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรศิลปะและวัฒนธรรมผู้ไม่แสวงหากำไรที่ทำงานกับชุมชนเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมนอกห้องเรียน ขับเคลื่อนโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินในพำนัก งานภัณฑารักษ์ และโปรแกรมการแลกเปลี่ยนด้านสหวิทยาการสำหรับชุมชนหนองโพ จังหวัดราชบุรี ประเทศไทยและเครือข่ายรอบโลก
 
Jiandyin ได้รับทุนการดำเนินโครงการทั้งในและต่างประเทศมาแล้วมากมาย อาทิเช่น เทศกาลจากาตาร์เบียนนาเล (Jakarta Biennale) ประเทศอินโดนีเซีย ปีพ.ศ. 2564 เทศกาลเอเชียเบียนนาเล่ Asian Art Biennial: The stranger from beyond the Mountain and the sea ปีพ.ศ. 2562  ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติไต้หวัน (The National Taiwan Museum of Fine Arts) เมืองไถจง ประเทศไต้หวัน เทศกาลเบียนนาเล่ Kuandu Biennale: Seven Questions for Asia ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์กวนตู (Kuandu Museum of Fine Arts) เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน  เทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่ จังหวัดกระบี่ (Thailand Biennale Krabi)  ปีพ.ศ. 2561 และร่วมงาน the documenta fifteen เมืองคัสเซิล ประเทศเยอรมันในปีพ.ศ. 2565 รวมไปถึงเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่ จังหวัดเชียงราย (Thailand Biennale Chiang Rai)  ปีพ.ศ. 2566
 
สืบแสง แสงวชิระภิบาล 
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแวงซองน์ แซ็ง เดอนี (หรือปารีส ทางด้านศิลปะร่วมสมัยและศิลปะสื่อใหม่ สืบแสงมีบทบาทหลากหลายในวงการศิลปะร่วมสมัยตลอดระยะเวลาการทำงานกว่าทศวรรษ นอกจากนี้เขาได้รับเชิญเป็นกรรมการพิจารณาโครงการสถาบันส่งเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2556 สั่งสมประสบการณ์และความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อคนพิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ผลงานแอนิเมชันร่วมสมัยประเด็นผู้พิการของก้องได้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ Fukuoka Asian Art Museum ภายใต้โครงการภัณฑารักษ์ในพำนัก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อผู้พิการ และพัฒนาการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย
 
ในปี พ.ศ. 2565 สืบแสงเป็นหัวหน้าโครงการและภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ CROSSOVER II: The Nature of Relationship ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหอศิลปกรุงเทพฯ และสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย รวมไปถึงคลังสะสมผลงานศิลปะขององค์กรภาครัฐ/เอกชน และคลังสะสมส่วนบุคคล
 
 

Image Gallery