Special Exhibitions

นิทรรศการ อีสานพาเลท: ISAN PALETTES 

 

จัดโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลจิต เส็งนา สาขาศิลปกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และกลุ่มศิลปินจากจังหวัดอุดรธานี 

คัดสรรนิทรรศการโดย: โครงการพิเศษ BACC pop・up
ผู้สนับสนุนหลัก: บริษัท ซีคอนดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
มีเดีย พาร์ทเนอร์: GroundControl


 
อีสานพาเลท นิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราวของสีสันแห่งอีสาน ที่มาจากการสำรวจและศึกษาสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ บนจิตรกรรมฝาผนังอีสานหรือฮูปแต้มอีสาน ปรากฏเป็นจานสีจำนวน 24 สีเฉด สีในภาคอีสานที่ช่างเขียนได้บรรจงรังสรรค์ขึ้น โดดเด่นด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของแหล่งศิลปวัฒนธรรมสำคัญภายใต้เฉดสีเหล่านี้ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของสีสันเฉพาะของภาคอีสาน ที่ไม่เหมือนใคร 
 
สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ ได้รวบรวมผลงานสร้างสรรค์จากสีอีสานพาเลท ประกอบไปด้วยงานออกแบบแฟชั่น งานออกแบบเครื่องประดับ งานจิตรกรรม และงานประติมากรรม และผลงานผ้าผะเหวตผลงานชิ้นสำคัญจากการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันโดยผู้คนในชุมชน จากงานบุญผะเหวต ประจำปี 2567 ณ บ้านโนนกอก ต.หนางนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ชวนให้คนในชุมชนมาร่วมเพ้นท์ผ้าผะเหวตด้วยพาเลทสีอีสาน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ รวมตอนมาลัยแสนอีก 2 ตอน และลงสีในธงปราบมารทั้ง 8 ทิศ ผสมผสานกับการปั้นพระอุปคุตโดยใช้ดินพื้นบ้าน พร้อมเครื่องตอกดอกไม้จัดอย่างพร้อมเพรียง
 
ข้อมูลที่เกี่ยวกับ อีสานพาเลท
ก่อนจะเป็นสีอีสานพาเลท
เมื่อทุกครั้งที่ได้ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ สิ่งแรกที่คิดคือเรื่องของสีที่จะนำมาใช้ในการออกแบบ และโดยเฉพาะแหล่งที่ทำงานคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งมีประเพณีวัฒนธรรม คติความเชื่อ เป็นของตนเอง ดังนั้นกรอบแนวคิดดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เมื่อจะเลือกใช้สีก็มักจะหลีกหนีไม่พ้นสีทั่วไปที่ใช้กันจนคุ้นชิน และในปัจจุบันได้มีสีให้เลือกใช้อย่างมากมาย จึงทำให้การคิดที่จะสร้างสีสำหรับแสดงถึงความเป็นอีสานเกิดขึ้น
 
แนวคิดการสร้างสีอีสานพาเลท
ระหว่างการเดินทางไปร่วมงานเทศกาลออกแบบที่ต่างจังหวัด แนวคิดการสร้างสีเฉพาะของภาคอีสาน ได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นจากการพูดคุย เมื่อมีสีที่ถูกกำหนดด้วยพื้นที่สามารถกระทำได้ ดังนั้นสีอีสานย่อมกำหนดชื่อเรียกเป็นพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน โดยมีข้อสรุปจากการใช้ฮูปแต้มอีสานหรือจิตรกรรมฝาผนังอีสาน เป็นกรอบแนวคิดหลักที่มีแหล่งจิตรกรรมไม่น้อยกว่า 40 แหล่ง สำหรับการสร้างสีอีสานผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ
 
ความหมายของสีอีสานพาเลท
สีอีสานพาเลท จึงมีความหมายถึงการเรียกสีในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้มาจากฮูปแต้ม ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยให้ได้ผลจนเหลือ 24 สีดังที่ปรากฏ ดังนั้นนิยามของคำว่า "สีอีสานพาเลท" จึงหมายถึงจานสี ของสีที่ใช้ระบายเขียนรูปฮูปแต้มในภาคอีสาน หรือสั้น ๆ กระชับ คือ จานสีของภาคอีสาน อีกทั้งอาจเหมารวมถึงจานสีของช่างแต้มฮูบของภาคอีสาน
 
คุณสมบัติอีสานพาเลท
ความโดดเด่นของสีอีสานพาเลท ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงสีที่คุ้นชินกันในการรับรู้ แต่คุณสมบัติของสีอีสานพาเลท คือ สีที่ถูกกำหนดจากการศึกษาที่ได้จากฮูปแต้มอีสานตั้งแต่อดีต และถูกกำหนดชื่อให้เป็นชื่อของแหล่งหรือสถานที่ ณ ที่ซึ่งปรากฏฮูปแต้มตามสีที่ได้มาจากจำนวนทั้งหมด โดยอาจเป็นการตั้งจากชื่อวัด หรือชื่อหมู่บ้าน
เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้การที่จะได้มาของจำนวนสีทั้งหมด 24 สี จึงสามารถอธิบายถึงคุณสมบัติของสีทุกสีได้อย่างชัดเจน
 
ความโดดเด่นของสีอีสานพาเลท
เมื่อต้องการศึกษาเขียนรูปจิตรกรรมฝาผนังของภาคอีสาน สามารถใช้สีจากอีสานพาเลทระบายได้ทันที โดยจะทำให้ภาพที่เขียนออกมาจะอยู่ในโครงสีของงานจิตรกรรมฝาผนังอีสาน รวมถึงความโดดเด่นที่สามารถสื่อถึงสีของภาคอีสานได้จากการเลือกใช้สี
สำหรับการออกแบบจากจำนวนที่มี 24 สี ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นภาคอีสาน โดยผ่านอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องสีจากจิตรกรรมฝาผนัง ได้อย่างโดดเด่นและแตกต่างจากกลุ่มสีที่คุ้นชินกัน
 
เอกลักษณ์และคุณค่าสีอีสานพาเลท
ชื่อของสี กลุ่มสี 24 สี จากจานสีในภาคอีสานที่ช่างเขียนได้บรรจงรังสรรค์ขึ้น ทำให้เอกลักษณ์ของสีอีสานพาเลทมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยคุณค่าได้มาจากผลของกระบวนการในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสี ก่อนจะมีชื่อเรียกเฉพาะเจาะจงถึงความโดดเด่นในแต่ละสีรวมทั้งหมด 24 สี อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของสีเฉพาะของภาคอีสาน ที่ไม่มีใครเหมือน ถึงแม้ว่าจะเป็นสีเดียวกันจริงแต่ชื่อเรียกจะแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของสีอีสานได้อย่างชัดเจนกว่า
 
การประยุกต์ใช้สีอีสานพาเลท
สีอีสานพาเลท สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกงานที่นำเสนอด้วยการใช้สี ไม่ว่าจะใช้บางสีหรือทั้งหมด 24 สีก็สามารถประยุกต์ใช้งานได้ตามอัธยาศัย โดยเฉพาะงานจิตรกรรม งานออกแบบก็ล้วนสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี หรือสามารถนำไปใช้ได้ตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้ประยุกต์ใช้โดยไม่มีขีดจำกัด
 
เกี่ยวกับกลุ่มศิลปิน
ความเป็นมาในการรวมกลุ่มเพื่อจัดแสดงงานอีสานพาเลทในครั้งนี้ เริ่มต้นจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลจิต เส็งนา ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่ทำงานทางด้านศิลปะและการออกแบบ ซึ่งได้ทำงานร่วมกันกับครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีนั้น มองเห็นปัญหาของการทำงานศิลปะและการออกแบบที่เน้นกลิ่นอายอีสานว่ามีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะเรื่องของสีนั้นสามารถนำมาใช้งานได้ลำบาก จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำวิจัยร่วมกับ รศ.ดร. ชวลิต อธิปัตยกุล เพื่อให้ได้มาซึ่งสีอีสาน และทำการทดลองผลิตสีอีสานพาเลทแบบทำมือขึ้นมาก่อนที่จะมีบริษัทสีมาทำการผลิตให้ในภายหลัง 
 
หลังจากในวันเปิดงานนิทรรศการอีสานพาเลทบริเวณ ณ โถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ผศ. ดร. กุลจิตจึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกันกับคุณธีรพลในส่วนการนำสีอีสานพาเลทไปใช้สร้างสรรค์ในการประติมากรรม และทำให้สีอีสานพาเลทได้มีการนำไปใช้งานอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางมากขึ้น ประกอบกับได้มีการบูรณาการร่วมกับชุมชนในงานบุญประเพณีเทศน์มหาชาติ ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ วัดบ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ทำให้ได้เผยแพร่การใช้สีอีสานพาเลทเพื่อสร้างลวดลายลงบนพื้นผ้าผะเหวต ตลอดจนธงปราบมารทั้ง 8 ทิศ
 
เมื่อได้รับเชิญเพื่อจัดแสดงนิทรรศการกับโครงการพิเศษ​ BACC pop•up จึงทำให้เกิดเป็นความร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำมาจัดแสดงให้ชัดเจน ครบทุกกระบวนการและสอดคล้องกับเทรนด์ ณ ช่วงขณะนี้ในส่วน ซอพเพาวเวอร์ ตามสโลแกนของทางกลุ่ม “สืบทอด สร้างสรรค์ ยั่งยืน” พร้อมกับชื่องาน ที่คล้ายกับชื่อสี บ่งบอกถึงการมาร่วมกัน ทางอีสานเรียกว่า การมาโฮมกัน หรืออาจล้อกันคำว่า มากันเป็นพาเลท
 
ศิลปิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลจิต เส็งนา 
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล 
วรวิกรานต์ คงพุฒิคุณ
ธีรพล ไสยสมบัติ
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลจิต เส็งนา
โทร. 0661456296
Facebook 
 

 

Image Gallery