Special Exhibitions
นิทรรศการ Who Cares? โควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จัดโดย: SEA Junction
คัดสรรนิทรรศการโดย: โครงการพิเศษ BACC pop・up
ผู้สนับสนุนหลัก: บริษัท ซีคอนดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
มีเดีย พาร์ทเนอร์: GroundControl
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป จำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดใหญ่ในตอนแรกนั้นมีจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นคาบสมุทรและตัวเลขทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะปลอดภัยนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปภายในสิ้นปี 2563 เมื่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้น และในที่สุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดระดับโลกภายในกลางปี 2564 เนื่องจากการขยายตัวของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ความเสียหายจากโรคโควิด-19 ทั้งในด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆในภูมิภาค ตลอดจนถึงมาตรการป้องกันการระบาดที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งบางครั้งก็มีการบังคับใช้อย่างไม่สอดคล้องกัน ได้สร้างผลลัพธ์ที่หนักหนาสาหัสและกระจายไปอย่างกว้างขวางและไม่เท่าเทียมกัน
กล่าวโดยรวมแล้ว เศรษฐกิจในภูมิภาคหดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ส่งผลให้ความเปราะบางของแรงงานนอกระบบ ผู้หญิงและกลุ่มคนชายขอบเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากเผชิญการล่าถอยครั้งใหญ่ของวิกฤตนี้ สังคมต่างๆ ก็ได้ถูกท้าทายให้ต้องปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางที่สุด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมาตรการการช่วยเหลือสำหรับแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงคนที่อยู่นอกตลาดแรงงาน ผู้พิการและผู้สูงอายุ นั้นมีไม่เพียงพอ หรือแทบไม่มีอยู่จริง ดังนั้น ด้วยเหตุที่การสนับสนุนจากรัฐบาลยังห่างไกลจากความเพียงพอหรือยุติธรรม กลุ่มผู้คน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรจึงก้าวเข้ามาเพื่อพยายามเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ด้วยการแจกจ่ายอาหารและความช่วยเหลือ ตลอดจนให้บริการด้านสุขภาพ การดูแลครอบครัว และบริการงานศพแก่ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้
ช่างภาพจาก 6 ประเทศ อันได้แก่ Edy Susanto จากอินโดนีเซีย, Hasnoor Hussain จากมาเลเซีย, Ta Mwe จากเมียนมา, Kimberly dela Cruz จากฟิลิปปินส์, Grace Baey จากสิงคโปร์, และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ จากประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจต่อกลุ่มผู้เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด รวมถึงการกระจายทรัพยากรความช่วยเหลืออันไม่เท่าเทียม ซึ่งยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ การกักตุนความมั่งคั่งและความไม่เสมอภาคด้านสวัสดิการที่ฝังรากลึกในสังคม ซึ่งถูกตีแผ่เปิดเผยขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง หากเราต้องการสร้างสังคมที่เที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น
นิทรรศการภาพถ่ายนี้ ซึ่งออกแบบคิวเรทโดยสายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์และโรซาเลีย ชอร์ติโน จาก SEA Junction ได้ถูกจัดแสดงไปครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน และได้ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ภาพถ่ายเชิงสารคดีเหล่านี้ ยกเว้นภาพจากเมียนมา ยังได้ถูกตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "Who Cares? โควิด-19 การตอบสนองการคุ้มครองสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เรียบเรียงโดย โรซาเลีย ชอร์ติโน และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม
งานนิทรรศการ และการจัดทำหนังสือ (ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย) ตลอดจนถึงงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระดับภูมิภาคที่ดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2564-2565 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA Junction) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยยุทธศาสตร์บูรณาการสังคมศาสตร์: คนไทย 4.0