Art and Neighboring Project
สำรวจแนวคิดและเบื้องหลัง นิทรรศการ Procession of Dystopia ไปกับ ฟ้า-กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมศิลปะ หอศิลปกรุงเทพฯ
Art and Neighboring Project จัดทำโดย ฝ่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นักเขียน: กิตตินันท์ วัฒนธิติกุล
1.
ความทรงจำที่คุณมีต่อหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นแบบไหน?
สำหรับผมเท่าที่พอจำความได้ ชื่อของหอศิลปกรุงเทพฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากสถานศึกษาสักเท่าไหร่นัก เรียกว่านั่งรถเมล์ต่อเดียวก็ถึง จึงทำให้มีโอกาสแวะเดินเล่นก่อนออกมาเตร็ดเตร่ถิ่นสยามสแควร์ต่อ
จากสายตาเด็กน้อยคนหนึ่ง บรรยากาศโดยรวมของหอศิลปกรุงเทพฯ ในโมงยามนั้นจะพูดว่าเงียบคงไม่ได้ แต่จะพูดว่าคึกคักก็คงไม่เต็มปากเช่นกัน เอาเป็นว่านี่คือสถานที่เฉพาะของกลุ่มคนรักงานศิลปะอย่างแท้จริง ผลงานหลายต่อหลายชิ้นจากหลากศิลปินถูกนำมาจัดวางสลับแวะเวียนไม่ขาดสาย เสมือนเม็ดเลือดแดงคอยหล่อเลี้ยงร่างกาย และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาไม่เปลี่ยนแปลง
วันเวลาเคลื่อนผ่านอย่างรวดเร็ว หอศิลปกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ที่เดิม เพิ่มเติมคือกลายเป็น ‘บ้านหลังใหญ่’ ของคนรักงานศิลป์ ผิดกับผมที่ชีวิตเข้าสู่วัยทำงานในฐานะนักเขียนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
ในช่วงเริ่มต้นชีวิตนักเขียนนี้เอง ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับหอศิลปกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น และได้พบกับ ฟ้า-กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมหอศิลปกรุงเทพฯ
พี่ฟ้าที่ผมเรียกติดปาก มีหน้าที่หลักในหอศิลปกรุงเทพฯ คือ ‘หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมศิลปะ’ ที่ต้องคาดการณ์ ‘เทรนด์’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อร่างโครงการเสนอของบประมาณจากกรุงเทพมหานคร สำหรับจัดการกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่แค่นิทรรศการศิลปะ แต่ยังรวมไปถึงการบ่มเพาะศิลปินหน้าใหม่ และสร้างคนทำงานด้านการจัดการศิลปะ ฟังดูคล้ายคอนดักเตอร์กำกับทิศทางในวงออเครสตร้า ทว่านี่คือสิ่งที่พี่ฟ้าเชื่อและทำสม่ำเสมอมาโดยตลอด เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่แวดวงศิลปะ
ส่วนอีกบทบาทที่พี่ฟ้าทำมาต่อเนื่องตลอด 12 ปี คือ ‘curator’ หรือ ‘ภัณฑารักษ์’ คอยกำหนดประเด็นน่าสนใจที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ก่อนหยิบยกประเด็นนั้นมาต่อยอดทำงานร่วมกับศิลปินหลากหลายแขนง เช่น นักเขียน นักการละคร คนในแวดวงละครเวที นักดนตรี ฯลฯ เพื่อสร้างงานศิลปะที่สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงเรื่องราวดังกล่าวไปถึงผู้ชม ผ่านวิธีการการนำเสนอหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน (เช่นผม) สำหรับนำไปต่อยอดทำเป็นสกู๊ปหรือประชาสัมพันธ์นิทรรศการนั้นๆ อีกต่อนึง
ดังนั้น งานนิทรรศการทั้งหลายที่จัดวางอยู่ในหอศิลปกรุงเทพฯ ล้วนแล้วแต่มีจุดตั้งต้นมาจากไอเดียของพี่ฟ้าซะส่วนใหญ่ และเหมือนเช่นเคยที่พี่ฟ้ามักจะเชื้อเชิญผมให้เข้ามาเดินชมงานนิทรรศการต่างๆ ที่จัดในขึ้นในหอศิลปกรุงเทพฯ จนได้เห็นแนวคิดการทำงานของบรรดาศิลปินที่น่าสนใจ ดังเช่นครั้งนี้กับงานนิทรรศการที่มีชื่อว่า Procession of Dystopia
2.
“ทำไมงานนิทรรศการนี้ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่อง Dystopia” ผมถามพี่ฟ้าด้วยความสงสัย เพราะว่ากันตามตรงนิยามของโลกแห่ง Dystopia คือสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ตามปฏิเสธหัวชนฝา ลองนึกสภาพสังคมภายใต้ระบอบเผด็จการ สามัญสำนึกของมนุษย์ที่บิดเบี้ยว ไหนจะไฟสงครามที่ปะทุหนักขึ้น นึกตามแล้วชวนขนลุกขนพอง และห่างไกลจากงานศิลปะที่ผู้คนคาดหวังให้เป็นเครื่องมือเยียวยาชุบชูจิตใจ
“ต้องย้อนกลับไปว่า ตอนที่คิดจะทำนิทรรศการในปีนี้ เราคิดตรงกันว่า ควรจะทำเรื่อง Dystopia เพราะนี่เป็นภาวะปัจจุบันของโลก – พี่ฟ้าเริ่มอธิบาย
“จริงๆ คำว่าดิสโทเปียของแต่ละคนมันก็มีความหมายต่างกันไป ตามแต่ประสบการณ์ที่เราเจอ สำหรับพี่ Dystopia หมายถึงโลกที่ใกล้ล่มสลาย เป็นความรู้สึกชวนสิ้นหวังต่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้น การฆ่าฟันคนที่เราไม่รู้จัก หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมใกล้ล่มสลาย สัตว์ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด บ้างกำลังใกล้สูญพันธุ์ บ้างก็สูญพันธุ์ไปแล้ว แม้กระทั่งโรคภัยต่างๆ ที่รุมเร้ามากขึ้น ป่วยใจก็หนึ่งหรือป่วยกายก็อีกหนึ่ง เนื่องจากของกินที่เราใส่ปากทุกวันมีสารเคมีตกค้างทำให้เราป่วยง่าย ทุกอย่างมันดูเป็นโลก Dystopia แบบ Absolutely ดังนั้นคำคำนี้เลยเป็นคำนิยามสำคัญที่เราคิดถึงเป็นอันดับแรก”
เมื่อได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้น ทำให้ผมเริ่มเข้าได้ว่า ฟังก์ชั่นงานศิลปะไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับแค่เรื่องสวยๆ งามๆ จรรโลงใจเสียทีเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเป็นเครื่องมือสะท้อนปัญหาหรือความเป็นไปของสังคม
ที่ชวนคิดมากกว่านั้นคือ เมื่อมานั่งพิจารณาสภาพความเป็นอยู่ของสังคมโลกทุกวันนี้ ก็แทบใกล้เคียงกับนิยามคำว่า Dystopia แล้วจริงๆ
3.
นอกเสียจากการชูประเด็นหนักแน่นตรงไปตรงมา นิทรรศการ Procession of Dystopia ยังมีความน่าสนใจกับการนำเทคนิคและวิธีคิดแบบวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นศิลปะอีก 4 แขนงที่พี่ฟ้าให้การดูแลอยู่มาใช้สร้างงานร่วมกัน
แรกเริ่มเดิมที Procession of Dystopia เกือบจะถูกนำเสนอด้วยงานรูปแบบ Soundscape แต่ด้วยความที่อยากให้ผู้คนเข้าถึง ‘ใจความ’ ที่อยากนำเสนอให้ได้มากที่สุด พี่ฟ้าจึงตัดสินใจเลือกเทคนิคทั้ง 3 รูปแบบ เป็นเครื่องมือในการนำเสนอ ได้แก่ งานวรรณกรรม หนังสั้น และงานออกแบบเสียง มาร้อยเรียงผูกโยงเข้าด้วยกัน
พี่ฟ้าเล่าต่อถึงการเชื้อเชิญ 3 ศิลปิน ที่จะร่วมถ่ายทอดนิยามของโลก Dystopia ในโปรเจกต์ดังกล่าว โดยศิลปินทั้ง 3 นั้นประกอบด้วย ฆนาธร ขาวสนิท จากแวดวงบรรณาธิการสิ่งพิมพ์และนักเขียนมือฉมัง ที่มักตั้งคำถามถึงความบิดเบี้ยวในสังคมและถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ผ่านตัวหนังสือได้อย่างน่าสนใจ, คนที่สองคือ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับหนุ่ม ผู้เคยฝากผลงานภาพยนตร์สารคดีลือลั่นสะท้อนสังคมอย่าง School Town King ในปี 2020 รวมถึงผลงานศิลปะเยียวยาหัวใจในนาม Eyedropper Fill และสุดท้ายกับ เขตสิน จูจันทร์ ศิลปินทางดนตรี ที่มีฝีไม้ลายมือในการนำเสนอเรื่องราวผ่านงานดนตรีได้อย่างลึกซึ้ง
“เราวางไว้ให้ Procession of Dystopia มีสารตั้งต้นมาจากงานเขียนของฆนาธร ซึ่งพี่ฟ้าเคยร่วมงานกับฆนาธรมาก่อน เพราะว่าน้องมาอบรม Workshop ชื่อ Creative Writing ที่จัดโดยพี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น หลังจากนั้นเวลาก็ผ่านเวลาเนิ่นนานไป ฆนาธรก็ทำงานอยู่ในสำนักพิมพ์ เขียนหนังสือ แล้วก็ออกเดินทางไปตามที่ต่างๆ ซึ่งเขาพบเจอกับภาวะที่มองโลกแบบที่เป็น Dystopia ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคิดว่าไม่มีใครเหมาะไปกับฆนาธร เพราะเราต้องการมอบพื้นที่ของงานชิ้นนี้ให้แก่คนที่ตกผลึกกับประเด็นเรื่อง Dystopia จริงๆ
.
“หลังจากนั้นคนทำหนังเราสนใจวรรจธนภูมิ เพราะว่า วรรจธนภูมิเคยทำหนัง ทำสารคดีมาจนเป็นที่รู้จัก และหลายๆ คนน่าจะทราบแล้วว่า เขาเคยมีภาวะทางใจตามที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อหลายที่ สิ่งนี้เองฝังลึกอยู่ในเนื้องานที่เขานำเสนอผ่านนาม Eyedropper Fill ที่การนำเสนองานภายใต้คอนเซ็ปต์ของการดูแลเยียวยาจิตใจ พี่คิดว่าลึกๆ แล้วเบสท์มีความน่าสนใจกับการชวนกันกลับมาทำหนังอีกรอบ เพราะว่าพอเขาไปทำ Eyedropper Fill เบสท์ก็น่าจะไม่ค่อยได้ทำหนัง พอเราไปชวนเบสท์ก็ตกปากรับคำทันที ซึ่งงานที่เบสท์ทำในนิทรรศการครั้งนี้เป็นหนังก็จริง แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากงานครั้งก่อนๆ ไม่ใช่หนังสารคดีแบบที่เคยทำ เพราะเบสท์ต้องนำศิลปะแขนงอื่นซึ่งเป็นแขนงที่ 4 เข้ามาอยู่ในชิ้นงานด้วย
“คนสุดท้ายคือ เขตสิน จูจันทร์ ซึ่งเป็นนักประพันธ์ดนตรี พี่ฟ้ารู้จักเขตสินเพราะว่าเพื่อนเขาเคยมาร่วมงานศิลปะการแสดงของพี่ฟ้าเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว เขตสินเป็นคนประพันธ์เพลงให้เพื่อนสำหรับใช้ในการแสดงครั้งนั้น เราได้ฟังผลงานนั้นก็รู้สึกประทับใจ หลังจากเขตสินกลับมาจากการเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศไอซ์แลนด์เขาก็มาประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี และปีที่ผ่านมาก็เข้ามาเป็น 1 ในศิลปินของนิทรรศการ EARLY YEARS PROJECT #6 ซึ่งเขตสินก็นำเสนองานในรูปแบบ Sound Installation จุดนี้แหละที่พี่ฟ้าคิดว่า เราอยากได้คนทำงานประเภทนี้มาร่วมโปรเจกต์ Procession of Dystopia
“เขตสินมีความชัดเจนในตัวเองสูง เขารู้ว่าตัวเองจะทำอะไร สนใจเรื่องอะไร เขาสนใจเรื่องของเสียงที่มาจากมิติรอบๆ ตัว อาจจะไม่ใช่แค่ธรรมชาติ อาจจะเป็นเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้ หรืออาจเป็นเสียงที่ผู้คนได้ยินแต่อาจจะละเลย พี่ฟ้าว่าเขาเป็นคนละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งมันน่าสนใจที่จะชวนเขามาดูว่า ในการตีความงานเขียนของฆนาธรที่เป็นต้นทาง เขามองเห็นอะไรในสิ่งนั้นและอยากจะสร้างงานอะไร ทั้งการ Compose เพลงใหม่ พร้อมจัดวางทิศทางเสียงในตัวนิทรรศการด้วย”
4.
ถึงตรงนี้ผู้อ่านน่าจะรู้จักโปรไฟล์ของศิลปินทั้ง 3 จากปากของพี่ฟ้าพอสังเขปแล้ว ดังนั้นผมจะขอเล่าในส่วนของข้อมูลคร่าวๆ กับผลงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการ Procession of Dystopia ว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้างและจะถูกนำเสนอออกมาลักษณะไหน
สำหรับผลงานชิ้นแรกคือ The Thoughts Behind: Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love Is a Rebellion They Cannot Crush เรื่องสั้นจากมุมมองของ ฆนาธร ขาวสนิท ที่มีเนื้อหาตั้งใจเสียดสีนิยายน้ำเน่าทำนองเดียวกันกับเรื่อง Romeo and Juliet ของยอดกวี วิลเลียม เชกสเปียร์ ผสมผสานกับสำบัดสำนวนแบบลิเก ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นโลกล้ำยุคไซไฟ
โดยเรื่องสั้นดังกล่าวเล่าถึงโลก Dystopia ที่ถูกปกครองโดยเผ่าสิบเนตร ที่มีอำนาจบาตรใหญ่ควบคุมได้แม้กระทั่ง ‘ความรัก’ ทำให้ความรักในนิยายเรื่องนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชีวิตของผู้คนถูกกดขี่สูญสิ้นความหวัง สะท้อนกับโลกจริงในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้คนถูกกดขี่ แม้กระทั่งภาพของผู้คนลุกฮือต่อต้านรัฐที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดก็ถูกนำมาพูดถึง
ขณะเดียวกัน เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังหยิบยกประเด็นการมีชีวิตอันเป็นอมตะของเผ่าพันธุ์สิบเนตร ที่เต็มไปด้วยความอ้างว้างโดดเดี่ยว จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ‘ชีวิตที่ยืนยาวโดยปราศจากความรักจะเรียกว่าชีวิตได้อย่างไร’ ซึ่งบทประพันธ์นี้เองคือสารตั้งต้นของอีกสองผลงานที่จะเล่าถึงต่อไป
ต่อมากับ ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ หนังสั้นจากวรรจธนภูมิ ที่หยิบจับฉากฉากหนึ่งจากเรื่องสั้น The Thoughts Behind: Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love Is a Rebellion They Cannot Crush มาขยายความให้เห็นภาพ โดยเป็นฉากที่ผู้คนในโลก Dystopia แสดงให้เห็นว่า พวกเขาใช้การกอดรัดและสัมผัสตัวเป็นวิธีประท้วงและต่อต้านผู้มีอำนาจบนท้องถนน ก่อนจะถ่ายทอดความโศกเศร้าของผู้ประท้วงจากการถูกแยกห่างจากคนรัก ไม่สามารถสัมผัสได้แม้กระทั่งปลายนิ้ว มีเพียงระยะห่างของจอ 2 จอให้เห็นเท่านั้น
ความน่าสนใจนอกจากจะเป็นการหยิบยกเรื่องราวส่วนหนึ่งจากนิยายสั้นของฆนาธร ผลงานชิ้นนี้เองยังถ่ายทอดถึงประสบการณ์ตรงของวรรจธนภูมิ ที่ได้พบเจอกับ ธนายุทธ ณ อยุธยา เด็กหนุ่มจากย่านสลัมคลองเตย ที่วรรจธนภูมิเคยติดตามชีวิตเพื่อถ่ายผ่านสารคดีเรื่อง School Town King ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ และเพิ่งถูกศาลสั่งจำคุกเมื่อในเดือนมีนาคม 2567 จากข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด
ในวันที่ตัดสินคดีความของธนายุทธนี้เอง ที่ทำให้วรรจธนภูมิได้เห็นถึงความรักระหว่างธนายุทธและแฟนสาวที่รู้จักกันจากกลุ่มทะลุแก๊ซ ความรักของทั้งคู่ยังคงมั่นคงแม้จะมีกรงขังกั้นกลางไว้อยู่ ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือมีนักโทษทางการเมืองหลายต่อหลายล้วนประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน สิ่งเหล่านี้วรรจธนภูมินำมาถ่ายทอดผ่านผลงานได้อย่างสะเทือนใจ ในเมื่อ ‘การสัมผัส’ ที่เป็นการแสดงออกทางความรักขั้นพื้นฐานไม่สามารถทำได้ในสภาวะบ้านเมืองบิดเบี้ยว
สุดท้ายกับ สวนสิ่งไม่สำคัญ (Garden of Insignificant Things) บทประพันธ์ดนตรีโดย เขตสิน จูจันทร์ ที่เป็นดังเสียงสะท้อนจากเรื่องสั้น The Thoughts Behind: Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love Is a Rebellion They Cannot Crush เช่นกัน ซึ่งเขตสินได้บันทึกเสียงตามสถานที่ต่างๆ (field recording) ทั้งจากกิจวัตรของผู้คน บทสนทนา เสียงสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมโกลาหลในกรุงเทพมหานคร
เสียงเหล่านี้เองที่เขตสินประพันธ์ขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของทุกๆ ชีวิต ในช่วงที่สังคมกำลังจมดิ่งอยู่กับความทุกข์ยาก
5.
ถึงตรงนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า Procession of Dystopia ถูกรังสรรค์ด้วยความตั้งใจของศิลปินทั้ง 3 และทีมงานหลายสิบชีวิตที่อยู่เบื้องหลัง พี่ฟ้าจึงฝากว่า อยากให้ผู้คนที่มาเยี่ยมชมงานได้ใช้เวลาตกผลึกไปกับงานอย่างช้าๆ และตีความภาพที่เห็นหรือเสียงที่ได้ฟังตามการตีความอย่างอิสระของตนเอง
“เมื่อฆนาธรตั้งต้นหน้าตาของโลก Dystopia ขึ้นมา สิ่งที่วรรจธนภูมิกับเขตสินทำต่อคือการนำไปตีความในแบบของตัวเอง แล้วค่อยมา Brainstorm เพื่อที่จะสร้างงานนี้ขึ้นมา ในนิทรรศการอาจจะบอกไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นที่ไหน เมื่อไร อาจจะเป็นอดีต อาจจะเป็นอนาคตก็ได้ เราตั้งใจจะให้คนดูเข้าไปชมแล้วตีความเองโดยไม่ผ่านการชี้นำ เรามีจุดให้คนดูสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่ออ่านบทของฆนาธร คุณอยากสแกนอ่านก่อนแล้วค่อยเข้าไปดูก็ได้ คุณอยากจะดูหนังก่อนก็ได้เพราะตัวหนังมีความยาวราวๆ 25 นาที หรืออยากจะฟังงานออกแบบเสียงก่อนก็ได้ อยู่ซึมซับทุกสิ่งที่อยู่ในห้อง อะไรก่อน-หลังได้หมด นั่นรวมไปถึงการตีความด้วย
“เพราะฉะนั้นถ้าให้พูดแบบโดยรวมก็คือ ในห้องนั้นเหมือนกับเราจำลองโลกดิสโทเปียที่คุณจะได้เห็นการตีความของศิลปินทั้ง 3 ว่า เขามองเห็นอะไร เขาค้นพบอะไร เขาถ่ายทอดผลงานเกี่ยวกับประเด็นอะไร ซึ่งศิลปินมีความตั้งใจมาก ต้องมีการส่งดราฟต์หนังให้ดูกัน เพื่อที่จะนำไปประพันธ์ดนตรีให้จังหวะลงตัวกับภาพ หรือการจัดวางในงานเราต้องระวังเรื่องอะไร เช่นความใกล้-ไกลจากจอตรงที่นั่งผู้ชม เสียงที่จะมากระทบมีปฏิกริยาต่อความรู้สึกของผู้ชมอย่างไร บรรยากาศที่ห่อหุ้มผู้ชมอยู่ในห้องทุกอย่างต้องดำเนินไปด้วยกัน”
บทสนทนาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะจากกันผมชวนพี่ฟ้าพูดคุยถึงการพัฒนาของวงการศิลปะ ที่ปัจจุบันเป็นมากกว่าแค่เรื่องภาพวาด ภาพถ่าย ประติมากรรม เพราะคำว่าศิลปะมีอิสระในการถ่ายทอดเรื่องราว แม้กระทั่งเรื่องของการเมืองที่เคยถูกห้ามปรามก็สามารถนำเสนอได้อย่างตรงไปตรงมา จึงไม่แปลกใจนักที่ ‘เมล็ดพันธุ์’ แห่งวงศิลปะในประเทศไทยจะกำลังเติบผลิดอกออกผลสวยงาม
“คนส่วนมากพอนึกถึงศิลปะมักจะนึกภาพว่าต้องเป็น Visual Art ต้องเห็นได้ด้วยตา แต่เอาเข้าจริงทุกวันนี้วงการศิลปะกำลังไปถึงไหนต่อไหน เรามี Digital Art ซึ่งมันเป็นการเขียนโค้ดแล้วให้เทคโนโลยี AI ช่วย Generate หรือบางคนอาจจะพูดถึง Text Art ที่ช่วงนี้มีประเด็นกันอยู่ มันมีศิลปะอื่นอีกมาก
“พี่คิดว่าโลกเราพ้นไปจากคำว่า ศิลปะมันมองเห็นได้เท่านั้น แล้วอีกสิ่งที่เราอยากจะทำคือ การขยายขอบเขตอาณาจักรของผู้ชม คนในแวดวงศิลปะต้องคำนึงถึงคนที่มองไม่เห็น คนที่ไม่ได้ยิน หรือคนที่ใช้รถเข็น อย่างบางคนที่เขามองเห็นแต่ไม่ได้ยินเขาก็สามารถมาดูงาน Painting ได้ หรือคนมองไม่เห็นแต่ได้ยินก็สามารถมาซึมซับฟังงาน Sound Art ได้ เราอยากให้หอศิลปกรุงเทพฯ เป็นที่ที่โอบรับความต่างของผู้คนได้ทุกประเภททั้งในแง่การสร้างงาน การเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ชมที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ทำให้เขาเข้ามาแล้วพบเจอความหลากหลายของประเภทศิลปะ อย่างเช่นที่ Procession of Dystopia กำลังทำอยู่” พี่ฟ้ากล่าวทิ้งท้าย
แต่อย่างสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า ‘สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น’ ดังนั้นใครที่สนใจอยากมาสัมผัสนิทรรศการ Procession of Dystopia ก็สามารถมาได้ตั้งแต่วันที่ 2-14 กรกฎาคม 2567 ที่สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ
แล้วกลับมาพบกับคอลัมน์ Art and Neighboring by BACC ที่จะพาไปพบนิทรรศการที่น่าสนใจและมุมมองที่น่าค้นหาจากคนเบื้องหลังของหอศิลปกรุงเทพฯ อีกครั้งในเร็วๆ นี้