Art and Neighboring Project
คุยกับ ธนพนธ์ อัคควทัญญู แห่ง Splashing Theatre ถึงนิยามการสร้างงานในแบบ Show It As It Is และผลงานล่าสุด รักดงดิบ : Wilderness I & II
Art and Neighboring Project จัดทำโดย ฝ่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นักเขียน: กิตตินันท์ วัฒนธิติกุล
1.
ดูผิวเผินภายนอกเพื่อนของเราคนนี้ไม่ต่างจากชายหนุ่มธรรมดาทั่วไป แต่อีกพาร์ทหนึ่งเขาคือผู้กำกับและนักเขียนบทมือทอง ผู้ใช้ความเชื่อปะติดปะต่อร้อยเรียงเรื่องราว ก่อนนำจินตนาการที่พรั่งพรูเหล่านั้นสื่อสารไปยังคนดู ผ่านการแสดงละครเวทีร่วมกับเพื่อนพ้อง
คุณผู้อ่านหลายท่านน่าจะรู้จักเพื่อนของเราคนนี้เป็นอย่างดี (โดยเฉพาะคอละครเวที) แต่ถ้าใครยังไม่รู้จัก เราขอใช้พื้นที่ตรงนี้แนะนำ ‘เฟิร์ส-ธนพนธ์ อัคควทัญญู’ อย่างเป็นทางการ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 10 ปีก่อน ธนพนธ์คือนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แน่นอนว่า ใจรักในเสน่ห์ของโลกภาพยนตร์เขามีไม่แพ้ใคร เทคนิคการถ่ายทำ เขียนบท วิธีการเล่าเรื่อง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เขาทุ่มเทศึกษา กระทั่งโชคชะตานำพามาเจอกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ละครเวที’ ซึ่งทำให้ชีวิตของเด็กฟิล์มรายนี้เปลี่ยนไป
ธนพนธ์เข้าสู่ ‘TU DRAMA’ หรือชมรมศิลปะการแสดงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะตั้งกลุ่ม ‘Splashing Theatre’ ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ผู้มีใจรักในศาสตร์การแสดงละครเวที เพื่อร่วมกันปลดปล่อยไอเดียสดใหม่ ไม่ว่าจะเนื้อหาชวนท้าทายความเชื่อ Performance บนเวทีที่เปรียบเสมือนหมัดเด็ดฮุคเข้ากลางใจคนดู และสปิริตการแสดงที่ทุ่มสุดตัวทุกรอบ
การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์ (The Disappearance of the Boy on a Sunday Afternoon) ที่หยิบประเด็นการถูกบังคับสูญหายมาเล่า, Teenage Wasteland เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดและนักกิจกรรมด้านการเมืองที่มีฉากหลังเป็นโลก 8bit และ Whaam! (A Brief History of Unknown Astronaut) เรื่องราวของนักบินอวกาศแห่งสยามประเทศที่กำลังจะเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้น เหล่านี้คือผลงานมาสเตอร์พีซของกลุ่ม Splashing Theatre ที่ผสมผสานระหว่างประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม มาเติมแต่งผสมผสานจินตนาการในแบบ ‘Fiction’ เพิ่มอรรถรส จนกลายเป็นลายเซ็นการเล่าเรื่องที่ชัดเจนและน่าสนใจ
วันนี้ ธนพนธ์ และ Splashing Theatre กำลังจะมีผลงานใหม่ในชื่อ รักดงดิบ : Wilderness I & II ซึ่งเป็นการร่วมมือกับทางหอศิลปกรุงเทพฯ ภายใต้โครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13 (Performative Art Project #13) ในประเด็น Fiction & Reality เราเลยอาศัยโอกาสตรงนี้ทำความรู้จักกับธนพนธ์เพิ่มเติม พร้อมฟังจากปากเขาว่า ผลงานเรื่องล่าสุดเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของคนสองยุค และสารที่ตั้งใจจะสื่อไปยังคนดูคืออะไร ขอชวนฟังคำตอบไปพร้อมกันในคอลัมน์ Art And Neighboring คราวนี้
2.
“เรารู้สึกว่า เมื่อก่อนหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นเหมือนโอเอซิสของเรา หรือของคนที่รักในงานศิลปะ เพราะช่วงเวลานั้นบ้านเรายังไม่มีอาร์ตแกลเลอรีมากมายเหมือนตอนนี้ อีกความทรงจำที่ดี คือที่นี่เป็นที่แรก ที่เรามีโอกาสได้แสดงละครเวทีนอกรั้วมหาวิทยาลัย ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นน่าจะเรียนอยู่ช่วงปี 3 หลังจากนั้นเลยกลายเป็นว่า ก็ได้แวะเวียนไปๆ มาๆ อยู่ที่นี่ตลอด ทั้งในฐานะคนดูและคนทำงาน” ธนพนธ์ย้อนความให้ผมฟัง ถึงความทรงจำที่มีต่อหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เขากำลังเดินบนเส้นทางนักแสดงละครเวทีอย่างจริงจัง
“แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณหันมาจริงจังกับเรื่องของละครเวที ทั้งที่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณตั้งใจเรียนเกี่ยวกับงานภาพยนตร์” ผมถามด้วยความสงสัย เพราะจากที่สืบค้นทำการบ้านมา ดูเหมือนว่า ธนพนธ์แทบจะไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ให้ใครฟังมากนัก
“พูดยากเหมือนกันนะ (หยุดคิดครู่หนึ่ง) …เรารักทั้งคู่แหละ คือภาพยนตร์เราก็ดูมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วเราก็ผูกพันกับมันมากๆ เราแอดมิชชันเข้ามาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกภาพยนตร์ ก็เพราะว่าอยากจะเรียนฟิล์ม แล้วจู่ๆ ตอนปีหนึ่งก็ได้มาเจอกับอีกสิ่งที่เราชอบ นั่นคือละครเวที ด้วยความที่รักทั้งสองอย่างก็เลยพยายามบาลานซ์ เช่นหยิบ Element ของภาพยนตร์เข้ามาใช้ในละครเวที หรือบางทีเราก็หยิบบทหนังมาดัดแปลงใช้กับละครเวที
“ถ้าเป็นเชิง Personal เราจะรู้สึกว่า เรากับการกำกับละครเวทีมันจูนติดกันง่ายกว่า อาจจะเพราะว่า มีเวลาซ้อม ได้ทบทวนว่าจะต้องเล่นอะไร มีเวลาสร้างความสัมพันธ์กับคนในทีมกับนักแสดง แต่กับภาพยนตร์เวลาเราออกกองหรืออยู่หน้ากล้อง เราจะต้องย้ำกับตัวเองเสมอว่า เรามีเวลาแค่นี้ โอกาสมันมีแค่ตอนนี้เท่านั้น ต้องทำยังไงก็ได้ให้รอด มันเลยมีความกดดันอยู่ประมาณหนึ่ง
“อีกอย่างคือ พอมันเป็นละครเวทีเราต้องคิดทั้งหมด ตั้งแต่ตอนที่นักแสดงเดินเข้าจนกระทั่งเดินออกฉากสุดท้าย เหมือนกับว่าเรากำลังสร้างโลกโลกหนึ่งขึ้นมา ทุกคนในทีมเลยเหมือนใช้ลมหายใจเดียวกัน มี Physical เดียวกัน เราเลยชอบความรู้สึกที่ได้ทำงานตรงนี้ (ยิ้ม)”
3.
แน่นอนว่า การที่ธนพนธ์เข้ามาอยู่ในชมรม TU DRAMA ทำให้เขาพานพบกับคนที่มีความชอบและแพชชันเหมือนกัน นั่นคือ แมค-ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี เพื่อนสนิทและอีกหนึ่งผู้ก่อตั้งกลุ่ม Splashing Theatre ที่ล่มหัวจมท้ายมาด้วยกัน ถึงกระนั้นคำตอบถึงเหตุผลการตั้งกลุ่มกลุ่มนี้ขึ้นมาจากธนพนธ์ กลับกลายเป็นการเรียกรอยยิ้มในบทสนทนานี้แบบไม่ตั้งใจเสียได้
“คำตอบของการตั้งกลุ่ม Splashing Theatre ถ้าใครได้ฟังน่าจะผิดหวังมาก (หัวเราะ) เหตุผลคือเราอยากได้บัตรละครฟรี ต้องบอกว่าเมื่อก่อนการที่เราจะเข้าร่วมหรือไปดูงานละครเวทีในเทศกาลใดเทศกาลหนึ่ง จำเป็นต้องไปนามกลุ่มเท่านั้น เราก็อ๋อโอเค งั้นชวนเพื่อนมาตั้งกลุ่มกัน
“ที่มาของชื่อกลุ่ม Splashing Theatre ก็มาจากชื่อละครเวทีเรื่อง Splash ซึ่งเป็นละครเวทีเรื่องแรกที่เราได้เล่นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เราได้เพื่อนจากการแสดงครั้งนั้นมาร่วมกลุ่มประมาณ 5-6 คน โดยคอนเซปต์ของกลุ่มเราคือ ถ้าเรามีเรื่องเครียด เรื่องโกรธ หรืออยากระบายเรื่องอะไรก็ตาม ให้นำความรู้สึกนั้นมาระบายกับการทำงาน เหมือนกับสไตล์งานศิลปะของ แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ที่เขา Expressionism สาดสีลงผืนผ้าขาว ซึ่งเราชอบ Method ของเขาเวลาทำงานศิลปะ ก็เลยอยากหยิบมุมมองตรงนี้เป็นแกนกลาง อยากให้คนดูเห็นการแสดงของกลุ่มเราเหมือนสีที่สาดลงบนผืนผ้าสีขาวจนเต็ม ซึ่งสีแต่ละเฉดก็เปรียบเสมือนสมาชิกแต่ละคน
“ช่วงแรกๆ ที่เราทำกลุ่ม Splashing Theatre ต้องบอกว่า เราทำกันไปโดยไม่สนหลักการอะไรทั้งสิ้น เราสนใจเรื่องไหนเราก็สื่อสารออกมา แต่พอทำไปได้สัก 2-3 เรื่อง ถึงพอจะจับจุดว่า จริงๆ แล้วเราสนใจอะไรบางอย่างที่มันไม่ได้อยู่ใน Mainstream อาจจะเป็นเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อย เรื่องของการเมืองและประวัติศาสตร์ การตีความระหว่างอดีตกับปัจจุบันซึ่งส่งผลถึงกันและกัน หลายอย่างมันเกิดจากชุดความคิดที่เราชอบคิดเล่นๆ ขึ้นมา เป็นการตั้งสมมติฐานว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป จากนั้นค่อยเล่าออกมาเป็นภาพ ยกตัวอย่าง เราอยากเล่าเรื่องครอบครัวๆ หนึ่งที่มีอดีต Trauma มากๆ อยากเล่ากลุ่มนักฆ่ากลุ่มหนึ่ง หรืออยากเล่ากลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่กำลังท้าทายอะไรบางอย่าง ถ้าสังเกตเราจะพยายาม Shape เนื้อหาให้ใกล้เคียงกับผู้คน หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้เกิดการ Relate กับคนดูได้มากที่สุด” ธนพนธ์อธิบายถึงความตั้งใจของกลุ่ม Splashing Theatre ที่พยายามสื่อสารไปถึงคนดู
4.
อย่างที่เกริ่นนำไปในช่วงต้นว่า ธนพนธ์และกลุ่ม Splashing Theatre มักจะหยิบประเด็นในสังคมมาผสมผสานการเล่าเรื่องในแบบ Fiction หรือพล็อตการเล่าเรื่องในแบบนิยาย เพื่อทำให้เนื้อหาการเล่าเรื่องมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น แน่นอนว่าลักษณะเฉพาะตัวดังกล่าวถูกหยิบยกมาใช้ในผลงานละครเวทีเรื่องล่าสุดอย่าง รักดงดิบ : Wilderness I & II หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน Performative Art Project #13 ซึ่งผ่านการคัดเลือกมาจากโจทย์ Fiction & Reality
รักดงดิบ : Wilderness I & II คือผลงานละครเวทีเรื่องที่ 6 ในชีวิตของธนพนธ์ ที่ได้เข้ามากำกับและเขียนบท โดยมีเนื้อหาเล่าถึงบรรยากาศหลังการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อบริบทสังคมเริ่มลดดีกรีความร้อนแรง บรรยากาศน่าหดหู่ และความหวังราวกับถูกแช่แข็งไว้ โดยความรู้สึกนี้ถูกนำมาวางคู่กับเรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่หลบหนีเข้าป่าและรวมกลุ่มกันในฐานะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทว่าเรื่องหลังกลับถูกพูดถึงอย่างเบาบางและเพียงบางมิติเท่านั้น แม้กระทั่งในตำราเรียนประวัติศาตร์ยังแทบไร้การกล่าวถึง
คำถามคือ ทำไมธนพนธ์จึงสนใจหยิบสองบริบทการเมืองที่ต่างยุคต่างสมัยนี้ มานำเสนอ ผ่านวิธีการเล่าเรื่องแบบ ‘Twice-Told Tales’ หรือการเล่าเรื่องเดิมซ้ำสองรอบในบริบทที่ต่างออกไป แถมยังมีเรื่องราวความเป็น Fiction เข้ามาเกี่ยวข้อง
“ปกติเราจะสนใจว่า สภาวะผู้คน ณ ขณะเวลาที่เราคิดงานรู้สึกยังไง เหมือนเราชอบเล่าสภาวะสังคมตอนนั้น แล้วเหมือนช่วงประมาณปลายปีที่ผ่านมา (2566) เรารู้สึกมีมวลความรู้สึกอะไรสักอย่าง เป็นความผิดหวัง ความเฉื่อยชา เป็นความรู้สึกอะไรสักอย่างที่เกิดขึ้น เหมือนเป็น Domino Effect หลังบรรยากาศการชุมนุมปี 2563 ตอนนั้นผู้คนดูมี Energy ดูตื่นตัว แต่ตอนนี้มันดูเหมือนเราโดนอะไรสักอย่างกดทับไว้ เราเลยอยากนำเสนอความรู้สึกตรงนี้ออกมา
“เราสนใจสภาวะความรู้สึกนี้ สนใจความรู้สึกพ่ายแพ้ ความรู้สึกเฉื่อยชาของแบบกลุ่มคน กลุ่มประชาชนหลังจากเหตุการณ์ทางการเมือง ขณะเดียวกันเราอยากทำให้เรื่องนี้มีความโรแมนติก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความสัมพันธ์ของคนหลายๆ คนในสภาวะแบบดังกล่าว ก็นำไอเดียนี้ไปปรึกษากับคนใกล้ตัว เขาก็พูดถึงเหตุการณ์นักศึกษาช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ทุกคนรู้สึกพ่ายแพ้ เลยตัดสินใจเข้าป่าไปรวมกลุ่มกันในนามพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อฉุดความหวังขึ้นมา ผมรู้สึกว่า ทั้งสองเหตุการณ์ที่ต่างยุคมันมีความคล้ายคลึงกันบางอย่าง ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะเล่าเป็น Parallel คือเล่าเรื่องแบบคู่ขนานระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่ม ต่างยุคต่างสมัย แต่บริบทใกล้เคียงกัน ซึ่งเนื้อหาที่เรากำลังเขียนตรงกับโจทย์ Fiction and Reality ของงาน Performative Art Project #13
“ในส่วนกระบวนการเขียนบทครึ่งแรกที่เล่าถึงหนุ่มสาวพรรคคอมมิวนิสต์ เราใช้หนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกคือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ ของจันทนา ฟองทะเล (อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ ) และ น้ำป่า : บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด ของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ มาเป็น Fact เพื่อใช้เรียบเรียง และปรับให้เป็น Fiction ส่วนครึ่งหลังเราใช้หมุดหมาย หรือเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญในช่วงไทม์ไลน์ตั้งแต่ปี 2563 มาใช้เล่าเรื่อง
“จริงๆ หนังสือสองเล่มที่เราใช้เป็น Source มันเหมือนหนังแนว Coming of Age ที่คนเขียนเขาเล่าด้วยความรู้สึกแรงกล้าที่อยากเปลี่ยนอะไรสักอย่าง แต่ตอนจบพบเจอกับความผิดหวัง ถึงเราจะไม่ได้เกิดทันยุคนั้น แต่เรารู้สึกว่า คนเดือนตุลาที่เข้าป่าน่าจะมีมวลความรู้สึกนั้นเหมือนกัน มันเป็นความรู้สึกที่ชัด ชัดเจนมาก ชัดจนเราไม่อยากจะเปลี่ยนก้อนเนื้อหาที่นำมาใช้เขียนบทเป็นภาษาพูดอะไรขนาดนั้น คือเรามองว่า เนื้อหาก้อนนั้นเป็นสิ่งที่นักเขียนเขาเล่าไว้ด้วยภาษาที่สละสลวยแล้ว เราเพียงหยิบมาเล่าต่อในมุมมองของเราเท่านั้น” ธนพนธ์เล่ายาวถึงเบื้องหลังการเขียนบท Wilderness I & II ที่เจ้าตัวอยากสื่อสารสิ่งที่คนเดือนตุลา และคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันเผชิญ ผ่านการเล่าเนื้อหารูปแบบ Fiction ที่ถนัด”
เพิ่มเติมถึงเบื้องหลังการทำละครเวทีเรื่อง Wilderness I & II คือธนพนธ์เริ่มจากการเขียนบทในองก์แรกให้เสร็จเรียบร้อย จากนั้นจึงร่วมทีมซ้อมเพื่อดูปฏิกิริยาของนักแสดงที่สื่อสารออกมาบนเวที และค่อยทำในส่วนขององก์ที่สองต่อเพื่อให้ Performance ออกมาไหลลื่นตามที่หวังไว้
5.
“หลายคนมองว่า สิ่งที่พวกคุณนำเสนอมีการสื่อสารเรื่องของประเด็นการเมือง ความผิดแปลกบางอย่างของสังคม ถ้าอย่างนั้นสามารถพูดได้เต็มปากไหมว่า สิ่งที่คุณและ Splashing Theatre กำลังทำอยู่ คือกระบอกเสียงเรียกร้องให้แก่สังคมอย่างตรงไปตรงมา” ที่ผมถามธนพนธ์ เพราะหากพิจารณาจากผลงานเก่าๆ รวมถึงผลงานล่าสุดแล้ว ดูเหมือนจุดประสงค์ของเขาน่าจะต้องการให้เป็นเช่นนั้น
“คำว่าตรงไปตรงมาอาจจะไม่ค่อยเข้ากับผมสักเท่าไร (หัวเราะ) จริงๆ จะบอกแบบนั้นก็ได้ คือสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่การแสดงละครเวที แต่มันมีการสอดรับกับกับสถานการณ์ตรงหน้า เป็นการ Outspoken ออกมาว่า ฉันเชื่อในสิ่งนี้ หรือฉันกำลังพยายามประท้วงสิ่งนี้อยู่ ซึ่งละครเวทีก็เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำแบบนั้นได้ เพียงแต่ผมเชื่อว่า คนเราไม่จำเป็นต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาทุกเรื่อง หรือถ้าเราแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาแล้วมันจะเวิร์ก อย่างละครเวทีที่ผมทำแต่ละเรื่องก็ไม่ได้เล่าตรงๆ ว่าสังคมกำลังเกิดปัญหานี้อยู่ เราควรแก้สิ่งนี้ เราแค่โชว์ให้เห็นว่ามันกำลังเกิดอะไร มันคือ Show It As It Is ทำสิ่งที่ไม่ตรงไปตรงมาก็เพื่อพยายามพูดอย่างตรงๆ นั่นแหละ” ธนพนธ์ทิ้งท้ายบทสนทนาได้อย่างน่าสนใจ
ช่วงที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ น่าจะยังมีเวลาเหลือให้คุณผู้อ่านได้มาชมละครเวทีเรื่อง รักดงดิบ : Wilderness I & II เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตา ถึงสิ่งที่ธนพนธ์เล่าให้เราฟังถึงความโรแมนติกระหว่างคนสองยุค ท่ามกลางความกระอักกระอ่วนของบริบทสังคม ถ้าคุณมีความคิดแบบเดียวกันก็น่าจะรู้สึกอินไปกับเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อได้ไม่ยากนัก หรือต่อให้ไม่อินก็น่าจะเกิดการตกผลึกทางความคิดได้ในภายหลังเช่นกัน
เหนือสิ่งอื่นใดบทสนทนากับเพื่อนคนนี้ทำให้ผมเข้าใจถึงประโยคที่ว่า ‘ถ้าเรารักตกหลุมรักสิ่งใด สิ่งนั้นจะนำพาเราไปจนสุดทาง’ เพราะดูเหมือนว่า ละครเวทีจะนำพาธนพนธ์ไปยังเส้นทางที่ถูกต้องแล้วจริงๆ
แล้วคุณผู้อ่านล่ะ วันนี้เจอสิ่งที่ตัวเองรักแล้วหรือยัง ?
หมายเหตุ : ละครเวที รักดงดิบ : Wilderness I & II มีความยาวการแสดง 2 ชั่วโมง 30 นาที (รวมพักครึ่งการแสดง 15 นาที) เปิดให้จองบัตรแล้วที่ลิงก์เว็บไซต์ https://bit.ly/Splashingtheatre, ทุกช่องทาง Social Media ของ Splashing Theatre และติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 085-485-8342 (คุณแบม)
รอบการแสดงแบ่งเป็น :
12, 13, 18, 19, 20 กันยายน เวลา 18.00 น.
14, 15, 21, 22 กันยายน เวลา 14.00 น.
ราคาบัตร :
ทั่วไป 700 บาท
นักเรียน-นักศึกษา 500 บาท (*ไม่เกินระดับปริญญาตรี)
โปรโมชั่นบัตรราคาพิเศษ :
โปรสหายหมายเลข 5 เพียงสำรองบัตร 5 ใบขึ้นไป คละรอบได้ เหลือใบละ 650 บาท (บัตรกลุ่มไม่สามารถใช้ร่วมกับบัตรนักเรียน-นักศึกษาได้)
สำหรับท่านที่ต้องการรับชมเป็นกลุ่ม 10 คนขึ้นไป สามารถติดต่อสอบถามราคาพิเศษได้ที่ 082-649-2429 (คุณเพียงดาว)