Special Exhibitions

นิทรรศการ ไม่ใช่แค่แรงงาน เสียงจากภาพในอุตสาหกรรมประมงไทย


จัดโดย: SEA Junction
คัดสรรนิทรรศการโดย: โครงการพิเศษ BACC pop⋅up
ผู้สนับสนุนหลัก:
บริษัท ซีคอนดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
มีเดีย พาร์ทเนอร์:
GroundControl, Bangkok Art City
พิธีเปิด: กิจกรรมพิเศษ: 17 ตุลาคม 2567 นำชมนิทรรศการโดยภัณฑารักษ์ 


ปัจจุบัน ตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากปลาทั่วโลกมีการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทั่วโลกมาจากประเทศกำลังพัฒนา และภายใต้การขยายตัวของตลาดโลก ประเทศไทยได้ผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ด้วยมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลที่สูงถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในหลายปีที่ผ่านมา องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้มีปัจจัยมาจากกำลังผลิตที่มาจากแรงงานข้ามชาติ การขาดแคลนแรงงานคนไทยที่ต้องการจะทำงานบนเรือประมง ด้วยปัจจัยด้านการขยายตัวของประชากรและความแตกต่างด้านโครงสร้างทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของลูกเรือชาวประมงในประเทศไทยให้เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาและเมียนมาซึ่งมีมากกว่าแสนคนทั้งแรงงานผู้หญิงและผู้ชายซึ่งกำลังถูกจ้างงานอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลของไทยในทุกขั้นตอนการผลิต โดยแรงงานเหล่านี้ทำงานอย่างปราศจากความมั่นคงภายใต้ระบบแรงงานข้ามชาติแบบชั่วคราว รวมถึงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่และการทำงานที่ถูกจำกัด

เพื่อตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติต่อสังคมไทยและเศรษฐกิจสีฟ้า นิทรรศการนี้ได้สร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยผ่านภาพถ่าย งานจัดแสดงประกอบด้วยภาพถ่ายที่ถูกถ่ายจากโทรศัพท์มือถือของแรงงานผู้อพยพจากกัมพูชาและเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในภูเก็ต จันทบุรี และพังงา เพื่อทำงานในอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเล 

ภาพถ่ายที่ถูกจัดแสดงถ่ายทอดการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวันซึ่งเต็มไปด้วยภาระหน้าที่และความเหน็ดเหนื่อย ความบันเทิง รวมถึงกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่แสนจะธรรมดาสามัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม ความฝันและความคาดหวังถึงอนาคต ข้อความที่ภาพถ่ายเรื่องราวเหล่านี้ (รวมถึงชื่อของนิทรรศการ) ต้องการจะสื่อคือ ผู้อพยพข้ามชาตินั้นเป็นมากกว่าแรงงาน รายละเอียดชีวิตของพวกเขามีมากกว่าความยากลำบากและการเอาเปรียบที่พวกเขาต้องอดทน เพื่อต่อต้านการสร้างภาพจำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติในฐานะ ‘บุคคลอื่น’ ที่ไร้ตัวตน นิทรรศการนี้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ ความเป็นปัจเจกและศักยภาพ และบุคลิกความเป็นตัวตนของแรงงานข้ามชาติรวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของความเป็นมนุษย์ที่พวกเรามีร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการนี้ยังแสดงให้เห็นชีวิตของแรงงานข้ามชาติซึ่งได้เข้ามาเกี่ยวพันกับสังคมไทยในวงกว้างมากขึ้น แสดงถึงความจำเป็นในการริเริ่มปรับใช้นโยบายการปรับตัวอยู่ร่วมกัน การยอมรับประสบการณ์และความหวังของแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีในการสร้างสังคมที่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมถึงเป็นสังคมที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน

ภัณฑารักษ์: สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ โรซาเลีย ชอร์ติโน และชวิน ฉันทาลิขิต

ผู้จัดงาน: นิทรรศการนี้จัดขึ้นและคิวเรทโดย SEA Junction ร่วมมือกับโครงการ BACC Pop Up และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการ Ship to Shore Rights South East Asia ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป นิทรรศการนี้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ และได้ถูกนำไปจัดแสดงต่อภายหลังในเดือนสิงหาคมที่ศูนย์การประชุมแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการผู้นำนักวิชาการมหาวิทยาลัยครั้งที่ 12  จัดโดยคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และครั้งนี้จะถูกจัดแสดงอีกครั้ง ณ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ 

SEA Junction เป็นมูลนิธิซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ห้อง 407-8 หอศิลปกรุงเทพฯ มุ่งสร้างความเข้าใจและการเห็นคุณค่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทุกๆ ด้านของมิติสังคมวัฒนธรรม ตั้งแต่ศิลปะและวิถีชีวิตไปจนถึงเศรษฐกิจและการพัฒนา (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ 939 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330) ติดต่อได้ที่อีเมล: [email protected]

Image Gallery