Publications

สถาปัตยกรรมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

แนวความคิดในการออกแบบ

แนวความคิดหลัก 4 ประการ ที่นำมาใช้ในการพัฒนาแนวความคิดในการออกแบบ คือ:

1 >

อาคารที่มีความยืดหยุ่นสูงในการใช้สอยและเอื้อต่อการปรับเปลี่ยน เพื่อให้การจัดแสดงงานศิลปะ เป็นไปอย่างอิสระ ภายในพื้นที่หลากหลายซึ่งมี แสง ขนาด และลักษณะแตกต่างกัน

2 >

อาคารที่มีคุณลักษณะเหมาะสมและอิงรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เป็นตัวแทนอันสำคัญของวัฒนธรรมไทย มีความน่าตื่นเต้น เชื้อเชิญ ตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอย และต้องสะท้อนความเคลื่อนไหวของศิลปะไทยร่วมสมัย

3 >

อาคารออกแบบให้มีพื้นที่ (Space) ภายในสูง เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงงานศิลปะ นอกจากนี้พื้นที่ใจกลางอาคารแสดงถึงเอกลักษณ์ของอาคาร ซึ่งเป็นตัวกำหนดภาพรวมของงานตกแต่งภายในทั้งหมด

4 >

ภายในอาคารโดยเฉพาะห้องแสดงนิทรรศการ จะใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ แสงนั้นต้องได้รับการควบคุม โดยชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องแสดงงานศิลปะได้รับการออกแบบให้ตอบสนองและพัฒนาแนวความคิดนี้ให้เป็นรูปธรรม


นอกจากนี้ มีการรวมส่วนร้านค้าเข้าเป็นส่วนบริการเสริมของหอศิลปฯ และการเลือกร้านค้าอย่างเหมาะสมให้เกี่ยวโยงกับศิลปะก็จะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างส่วนพาณิชย์และส่วนศิลปะ

รูปทรงของอาคาร

ถึงแม้ว่าตัวอาคารจะประกอบด้วยพื้นที่ใช้ สอยที่แยกจากกัน รวมทั้งพื้นที่ร้านค้า แต่ก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสถาปัตยกรรม พื้นที่ภายในพัฒนาจากจุดศูนย์กลางคือ พื้นที่เปิดโล่งทรงกระบอก ซึ่งนำเสนอจุดเด่นแก่สายตาเมื่อเข้าสู่อาคาร พื้นที่เปิดโล่งส่วนกลางนี้ยังนำสายตาสู่ชั้นบนของอาคาร รูปทรงซึ่งมีจุดศูนย์กลางเช่นนี้ทำให้เห็นกิจกรรมในพื้นที่ใช้สอยอันหลากหลาย เนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารเพื่อสาธารณะชนความตื่นเต้นเร้าใจจากการแสดงให้เห็นกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นตัวปลุกให้เกิดการตอบสนองจากชุมชน พื้นที่ส่วนกลางนี้ยังทำให้เกิดความชัดเจนของการเข้าถึงและความยืดหยุ่นของอาคาร อาคารนี้ออกแบบให้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องในอนาคตด้วย หากมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนส่วนร้านค้าบางส่วนให้เป็นพื้นที่ใช้งานทางศิลปะก็สามารถทำได้ไม่ยาก

ภาพลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม

อาคารมีความทันสมัยแต่ขณะเดียวกันก็อิง รูปทรงที่แสดงประวัติหรือเอกลักษณ์ไทย การออกแบบทางสถาปัตยกรรมครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นลักษณะรูปร่างและรูปทรง ความเป็นไทยหลายประการ ได้แก่

  • การนำการสอบเข้าของผนังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทย มาประกอบการออกแบบรูปทรงของอาคารภายนอก
  • ช่วงหน้าต่างแคบๆ ซึ่งเป็นรูปทรงแบบไทยๆ ได้นำมาดัดแปลงให้เกิดเป็นองค์ประกอบสมัยใหม่ในลวดลายและรูปทรง ทั้งยังเป็นส่วนควบคุมแสงธรรมชาติไม่ให้เข้าสู่อาคารมากเกินไปทางด้านทิศตะวันตก
  • การนำรูปแบบส่วนโค้งของหลังคาทรงไทยและรูปทรงอื่นๆ ของไทย เช่น ท่วงทีท่ารำ มาเป็นส่วนประกอบของหลังคาและแผงกันแดดเหนือหลังคากระจกห้องแสดงนิทรรศการ 

แนวความคิดการออกแบบภายใน

พื้นที่ศูนย์กลาง

โถงกลางชั้น 1 ได้รับการออกแบบให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเสนอภาพลักษณ์ของอาคาร และเป็นเสมือนตัวเชื่อมโยงภาพรวมของกิจกรรมทั้งหลาย มีบทบาท กระตุ้นระหว่างงานศิลปะและประชาชนที่สนใจ นับเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมหลายหลากให้ปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ทำให้สามารถเห็นกิจกรรมต่างๆ ในอาคารนี้ และนำไปสู่งานศิลปะภายในห้องจัดแสดง พื้นที่โถงกลางเป็นทรงกลมในผังพื้นและถูกครอบด้วยช่องแสง (Skylight) เส้นทางสัญจรในส่วนหอศิลปฯโดยพื้นลาด (Ramp) ได้ยึดเอารูปโค้งเวียนรอบพื้นที่โถงกลางนี้ ทำให้สามารถเห็นกิจกรรมต่างๆ ในอาคารนี้

 

ห้องจัดนิทรรศการ

เน้นความยืดหยุ่น ความหลากหลาย และความน่าสนใจของห้องแสดงงานศิลปะ ห้องแสดงงานศิลปะจึงเป็นส่วนที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เกิดความหลากหลายด้านพื้นที่ (Space) ลักษณะ (Characteristic) ในการแสดงผลงานด้านศิลปะ

สถาปนิก : บริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์