Main Exhibition 789

“ฉงน สงสัย”


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครร่วมกับ 4 ศิลปินร่วมสมัยแสดงประเด็นของความฉงน สงสัย ตั้งคำถามและสมมติฐานทั้งต่อสิ่งที่อยู่ภายในตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว


 

 “ฉงน สงสัย”
นิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย
ผู้จัด: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศิลปิน: ปิติวรรธน์ สมไทย พศุตม์ กรรณรัตนสูตร ศุภฤกษ์ คณิตวรานันท์ และนภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์


 

แนวความคิด
 
       หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครร่วมกับ 4 ศิลปินร่วมสมัยแสดงประเด็นของความฉงนสงสัย ตั้งคำถามและสมมติฐานทั้งต่อสิ่งที่อยู่ภายในตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ปิติวรรธน์ สมไทย พศุตม์ กรรณรัตนสูตร ศุภฤกษ์ คณิตวรานันท์ และนภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ร่วมสืบค้นความหมายใหม่ต่อสิ่งที่คุ้นเคยด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ที่แตกต่างและถ่ายทอดสู่ผู้ชมผ่านผลงานประติมากรรม ศิลปะการจัดวาง ภาพยนตร์สั้น และวิดีโออาร์ตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว 
      นิทรรศการกระตุ้นให้ผู้เข้าชมร่วมรับรู้ผลงานด้วยวิธีการค้นหา ตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งจากตัวตนและจากสิ่งรอบด้านผ่านงานศิลปะ เพื่อเป็นต้นเหตุของการนำไปสู่ความคิดที่รอบด้าน การสร้างสรรค์ รวมถึงทัศนคติใหม่ๆ ที่อาจส่งผลทั้งต่อการดำเนินชีวิตส่วนบุคคลและการดำรงอยู่ในสังคม
 
      ความสงสัยเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่อยู่ภายในตนเองและสิ่งที่แวดล้อม อยู่รอบๆตัว ความสงสัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งแต่ละคนจะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป บางคนไม่สนใจ และรู้สึกรำคาญใจทุกครั้ง ที่เกิดความสงสัยขึ้นมา และพยายามมองข้ามมันไป แต่บางคนกลับนำ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาคิด ทำความเข้าใจ ค้นหาคำตอบ จนเกิดเป็น ความรู้ต่างๆ ขึ้นมา รูปแบบของการค้นหาและการทำความเข้าใจกับความสงสัยนั้นมีรูปแบบแตกต่างกันไป ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ ศาสนาปรัชญา หรือวงการศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปิน ผู้สร้างงานศิลปะนั้น จะมีเรื่องที่แต่ละคนสงสัยแตกต่างกันไป ความสงสัย ที่แตกต่างย่อมนำไปสู่การนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างและได้สร้างรูปแบบของผลงานที่หลากหลาย และนำมาซึ่งความน่าสนใจใน เรื่องราวต่างๆ ที่บางครั้งผู้ชมอาจมองข้ามไป สังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ขาดความสงสัยในสิ่ง ที่แวดล้อมตนเองอยู่ หรือแม้- กระทั่งตนเอง การเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป หรือการรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาแล้วเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีจนไม่มีความสงสัยในสิ่งต่างๆเหล่านั้น อาจทำให้ สังคมเกิด การยอมรับในอิทธิพลอื่นมากจน ทำให้สังคมเสียเอกราชทางความคิด เอกลักษณ์ของสังคมและเชื้อชาติไป ถ้าความเชื่อที่เกิดขึ้นนั้นปราศจากความสงสัย
 
     เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าปรัชญาอันยิ่งใหญ่นั้นบางครั้งเกิดขึ้นมาจากความสงสัยเพียงน้อยนิด ซึ่งสิ่งที่แสดงออกมาใน นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการนำผลลัพท์ของสิ่งที่ศิลปินทั้ง 4 คนสงสัยมาให้ผู้ชมได้รับรู้ ซึ่งผลลัพธ์ต่างๆ เหล่านี้อาจ ทำให้ผู้ชมได้ตรวจสอบ พิจารณา ความคิด ความรู้สึกของตนเอง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ชมในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่-ผลงานศิลปะสามารถทำได้ดีที่สุด และศิลปินทั้ง 4 คน ได้พยายามแสดงสิ่งที่ดีที่สุดของศิลปะที่ไม่ใช่เพียงแค่ความงาม แต่ได้นำบททดสอบมาให้กับผู้ชมได้ตรวจสอบความเป็นไปทั้งในความคิดและการดำเนินชีวิตของตนเอง

แนวความคิดของศิลปิน : 
 
ปิติวรรธน์ สมไทย 
ผลงานได้แสดงถึงปรัชญาและวิธีการค้นหา ติดตาม ตรวจสอบ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จากผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวัน การตรวจสอบระดับของอารมณ์ความรู้สึกไม่สามารถที่จะวัดได้เมื่อ อารมณ์ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถทำได้คือการสังเกต สิ่งที่หลงเหลือจากอารมณ์ความรู้สึกที่ได้แสดงออกมาแล้ว ความพยายามในการตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมที่หลงเหลืออยู่ อาจเป็นความพยายามที่จะตรวจสอบสิ่งที่ผู้ชมและผู้ที่มีความสัมพันธ์ด้วยทิ้งไว้ภายในตัวตนของข้าพเจ้า ว่าระดับของสิ่งที่หลงเหลือ อยู่ภายในได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกหรือตัวตนไปมากน้อยแค่ไหน หรือจริงๆ แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย เพียงแต่ทุกๆ อย่าง ดำเนินไปตามวิถีทางของมันเอง และตัวเราเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง และเมื่อมีสิ่งที่เข้ามากระทบ ทำให้เราเกิดความสับสนกับ องค์ประกอบต่างๆ ที่มารวมกัน ยิ่งถ้าสิ่งที่มากระทบรุนแรงขึ้นปฎิกิริยาตอบสนองที่ทุกๆ สิ่งตามธรรมชาติ จะมีกระบวนการที่ทำให้ ความแปลกแยกแตกต่างเกิดขึ้นในกระบวนการของการดำเนินไปขององค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การประคับประคอง ให้องค์ประกอบต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างที่มันควรจะเป็นอาจเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้ชีวิต เกิดความปกติสุขขึ้น
 
พศุตม์ กรรณรัตนสูตร 
นำเสนอผลงานในรูปแบบวีดิทัศน์และงานประติมากรรม โดยได้แรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ ที่เห็นอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน(ส่วนหนึ่งจากลอนดอน)โดยเปลี่ยนมุมมองจากสิ่ง “ปกติธรรมดา” ให้กลายเป็น“ไม่ปกติธรรมดา” (Ordinary Becomes Extraordinary) ด้วยแนวความคิดที่ต้องการการสืบสวนความรู้สึก ของคนดู (Self-Inspection) และการนำหลักเทคนิคบางอย่างของการสะกดจิตเข้ามาผสมผสาน เพื่อให้ผู้ชม สัมผัสประสบการณ์บางอย่างจากการนำตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานจากการรับรู้ทางด้าน ประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก
 
ศุภฤกษ์ คณิตวรานันท์ 
ฉงน ความรู้สึกที่คล้ายกับการตั้งคำถาม หรืออาจเป็นต้นเหตุของการนำไปสู่ความคิดต่าง ๆ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ทั้งแนวความคิด และวิธีการสร้างผลงานศิลปะ โดยใช้สื่อที่มีรูปแบบชัดเจน แต่ปรับให้เหมาะสมกับแนวความคิด เช่น วีดีโอ และภาพยนตร์สั้น ซึ่งเป็น การขยายขอบเขตของการ สร้างสรรค์และการรับรู้ต่อผลงานศิลปะในปัจจุบัน การหลงใหลในความคิดและการกระทำ สิ่งลวงตา และความเป็นจริง การรับรู้และเรียนรู้ล้วนมีผลสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตที่อาศัยในสภาพแวดล้อมนั้นๆ การที่ไม่เข้าถึงมิติเชิงสัญลักษณ์ ตรรกะของการสื่อความหมายและ กระบวนการสร้างคุณค่า รวมถึงความเป็นตัวตนจากสิ่งเร้าภายนอก 
 
นภดล วิรฬห์ชาตะพันธ์ 
ชีวิต:
วันจันทร์ ตื่นเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน พักผ่อน 
วันอังคาร ตื่นเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน พักผ่อน
วันพุธ ตื่นเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน 
พักผ่อน
วันพฤหัส ตื่นเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน พักผ่อน
วันศุกร์ ตื่นเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน พักผ่อน
วันเสาร์ ตืนเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน พักผ่อน
วันอาทิตย์ ตื่นเช้า เข้างาน เย็นย่ำ กลับบ้าน พักผ่อน
 
วันจันทร์…วันอังคาร… วันพุธ…วันพฤหัส…วันศุกร์…วันเสาร์…วันอาทิตย์………
ชีวิต ดำเนินไป อย่างมีกฏเกณฑ์ ระเบียบ แบบแผน ชัดเจน
เป็นการทำให้ชีวิตนั้น
มั่นคงแข็งแรง หรือ ซ้ำซากจำเจ