Arts Network Exhibitions
บันทึกอาสาฯ
บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa) นิทรรศการภาพถ่ายและสื่อผสม ปรากฏการณ์พลังจิตอาสาในมหาอุทกภัยปี 2554
จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
หอศิลปฯ กรุงเทพ นำเสนอนิทรรศการภาพถ่ายและสื่อผสม ปรากฏการณ์พลังจิตอาสาในมหาอุทกภัยปี 2554 “บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa)” สะท้อนภาพการทำงาน ความร่วมมือและทุ่มเทของคนไทยและองค์กร ที่ช่วยเหลือสังคมยามเกิดพิบัติภัย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อาสาทำหน้าที่รวบรวมเรื่องราวอันเกิดจากพลังเล็กๆ ของบรรดาอาสาสมัครในสถานการณ์น้ำท่วมนี้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของบทบันทึกอันยิ่งใหญ่ของความร่วมมือที่เกิดขึ้น ผ่านการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและสื่อผสมในชื่อว่า “บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa)” มีพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2555 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งมีคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับและนำชมนิทรรศการ
การจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงภาพของการทำงานด้านจิตอาสา พลังจิตอาสา ของประชาชนไทยในเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือและทุ่มเทของแต่ละบุคคลและองค์กรที่สามารถช่วยเหลือสังคมยามเกิดพิบัติภัย หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมาได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของทุกสิ่ง เมื่อน้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นในได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงเป็นมูลค่าถึง 1.44 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งเราได้เห็นภาพคนไทยที่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวกมาร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยไม่แบ่งแยก และทำให้กับผู้อื่นและสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง คนเหล่านี้เรียกว่า “จิตอาสา” ซึ่งหอศิลปฯ กรุงเทพ และศูนย์อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตั้งใจที่จะบันทึกเหตุการณ์จิตอาสาครั้งนี้ ผ่านการจัดนิทรรศการเพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้เห็นถึงภาพการทำงานของอาสาสมัคร รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม
ปรากฏการณ์พลังจิตอาสาในมหาอุทกภัยปี 2554 มีหลายระดับ ในระดับเริ่มต้นคือการใช้กำลังกายเข้าไปช่วย เช่น ก่อกองทราย แพ็คถุงยังชีพ ระดับที่สองคือการใช้กำลังเงินเข้าไปช่วย เช่น การบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมช่วยเหลือ และระดับที่ 3 เป็นการใช้กำลังความรู้ ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะด้าน เช่น กลุ่มรู้สู้ Flood ที่ทำสื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจข้อมูลอันแท้จริงของปรากฏการณ์น้ำท่วม และสามารถรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนต่างๆ ก็ได้สร้างนวัตกรรมและอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น การทำไม้วัดไฟเพื่อป้องกันการไฟฟ้าช็อต การทำเครื่องกรองน้ำสำหรับน้ำดื่ม การสร้างเรือจากกล่องนม ซึ่งเป็นไอเดียการนำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์และราคาถูก
รูปแบบนิทรรศการ“บันทึกอาสาฯ (The Story of Asa)” นำเสนอผลงานที่มีความหลากหลาย เช่น ภาพถ่ายของบุคคล กลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่ทำงานจิตอาสา ศิลปะการจัดวางซึ่งเป็นวัตถุจริงที่ใช้ในระหว่างเกิดอุทกภัย สื่อวิดีทัศน์ เช่น สกู๊ปข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มิวสิควีดีโอจากศิลปินที่ให้กำลังใจ และสื่อแอนนิเมชั่น ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ ผลงานที่นำเสนอในนิทรรศการยังเป็นการเปิดให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสาในเหตุการณ์อุทกภัยไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของสังคมได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้ โดยได้เปิดให้ส่งภาพการทำงานอาสมัครของตัวเองเข้ามาร่วมแสดงในนิทรรศการด้วย
นิทรรศการนำเสนอในห้องต่างๆ ของพื้นที่ชั้น 2 โดยเรียงลำดับตามเหตุการณ์ตั้งแต่การรับมือก่อนน้ำท่วม เช่น การก่อกระสอบทราย จากนั้นเมื่อน้ำท่วมแล้วจึงมีการอพยพผู้คน การช่วยเหลือสัตว์ การให้อาหาร และถุงยังชีพ เมื่อผู้คนเริ่มตื่นตระหนกจึงมีการผลิตสื่อเพื่อสร้างความมั่นใจและเข้าใจ ถัดมาเป็นการเสนอภาพการอพยพประชาชนที่ประสบอุกภัยเข้าไปยังศูนย์พักพิง และเมื่อเกิดน้ำเสียก็มีการทำ EM Ball สุดท้ายคือการฟื้นฟูจิตใจและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย
ภัณฑารักษ์ของงานกล่าวด้วยว่า “ไฮไลต์ของนิทรรศการคือการนำเสนอภาพของการรวมคนที่ไม่ได้นัดหมายกันมาทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องทำอะไรบางอย่าง หรือช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามศักยภาพและความถนัด ซึ่งคนที่ชมนิทรรศการจะได้เห็นพลังของจิตอาสาที่ไม่รู้จักกัน ได้เห็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ถ้าไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิด หรือความรู้บางอย่างที่เราไม่ทราบมาก่อน เช่น หนังสือจมน้ำมันกู้ได้ การไปอยู่ศูนย์พักพิงไม่ใช่การรอความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาคนให้สามารถบริหารจัดการให้อยู่ร่วมกันได้ เมื่อภัยพิบัติครั้งต่อไปเราจะตั้งรับได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตจริงมักจะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้วในทุกๆ เรื่อง”
The Story of Asa:
What When Where Why
ขอเชิญร่วมส่งผลงานภาพถ่ายการทำงานอาสาสมัครของคุณและเพื่อนในระหว่างช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา พร้อมให้รายละเอียดว่า ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และที่สำคัญเหตุผลที่คุณทำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การทำความดี ภาพของคุณจะปรากฏที่บอร์ดนิทรรศการ “บันทึกอาสาฯ” ไม่ว่าคุณทำอะไร เล็ก ใหญ่ ไม่สำคัญ ขอแค่ลงมือทำ แล้วส่งมาให้กับเรา (คนละไม่เกิน 10 ภาพ ขนาดไฟล์ 1-2 M)
ที่ เฟสบุ๊ค www.facebook.com/baccpage หรืออีเมล [email protected]
ส่งภาพการเป็นอาสาสมัครของได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555
—-
นิทรรศการบันทึกอาสาฯ
มีผลงานบางส่วนจากนิทรรศการจำหน่ายแก่ผู้สนใจ รายได้ทั้งหมดมอบให้ สภากาชาดไทย
ขอเรียนเชิญร่วมงานเสวนาและประมูลภาพถ่ายนิทรรศการ "บันทึกอาสาฯ"
กำหนดการ
วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555
เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป
ณ บริเวณ ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
กำหนดการ
13.30 น. เริ่มการเสวนา
ผู้ร่วมเสวนา
– คุณ พรพรรณ วรสีหะ รัตนอมร
ผู้อำนวยการวิทยาลัยการพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา ในบทบาทการจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้บริการในพื้นที่น้ำท่วม
– ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนศูนย์พักพิง ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จุดรวมอาสาสมัครจำนวนมาก
– ตัวแทนจากสื่อมวลชน
– ผู้พันเบิร์ด (พันโท วันชนะ สวัสดี)
14.45 น. สรุป “บันทึกอาสาฯ” โดย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประธานมูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
15.00 น. จำหน่ายภาพและประมูลภาพ
15.30 น. เสร็จงาน