Main Exhibition 789

จิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูด และผลงานย้อนหลัง


โดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พิธีเปิดนิทรรศการในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2556


bacc exhibition

นิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติและครูคนสำคัญผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี จัดแสดงผลงานศิลปะตามช่วงเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ผลงานชุดศิลปินชนบท ศิลปะจัดวาง และศิลปะแบบคอนเซปชวล อาร์ต (Conceptual art), ผลงานวาดเส้นชุดบทกวี, ชุดลูกสาว, ชุดธรรมศิลป์ และผลงานชุดใหม่ "จิตรกรรมฝาผนัง"

ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินอาวุโสหนึ่งในศิษย์เอกคนสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย  ในฐานะศิลปินนักค้นคว้าทดลอง ศาสตราจารย์ชลูดได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่า  จนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม ในปี พ.ศ.2502 และศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ในปี พ.ศ.2541 ในฐานะครูผู้ยิ่งใหญ่ ศาสตราจารย์ชลูดได้สร้างศิลปินมากมายให้กับวงการศิลปะ และเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอน ด้วยการจัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ (พ.ศ.2508) และภาควิชาศิลปไทย (พ.ศ.2519) ในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการศิลปะผู้สร้างสรรค์ตำราวิชาองค์ประกอบศิลป์ รวมไปถึงหนังสือ และบทความทางศิลปะที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษามากมาย   
แต่ทว่าสำหรับศาสตราจารย์ชลูดแล้ว ท่านกล่าวเสมอว่า ตนเป็นเพียง “ศิลปินชนบท” คนหนึ่งที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ลูกหาในฐานะ “ครู”  นิทรรศการครั้งนี้มิได้จัดขึ้นเพื่อยกย่องหรือเชิดชูเกียรติท่านเนื่องในวาระพิเศษใด  หากทว่าต้องการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าตลอดเส้นทางการสร้างสรรค์ที่ยาวนานกว่า 60 ปี เพื่อให้ผู้ชมได้ซึมซับสุนทรียภาพ และเรียนรู้ผลงานศิลปะของศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทย 
 
โดยแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 6  ชุดด้วยกัน คือ 
 
ผลงานชุดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นผลงานชุดปัจจุบัน ที่ศาสตราจารย์ชลูดสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2553-2556 เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสัมพันธ์ไปกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัว ผ่านรูปทรงหลักคือ ภาพผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกที่สะอาดบริสุทธิ์ อ่อนโยน ปรากฏอยู่ร่วมกับรูปทรงซึ่งมีที่มาจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม โดยใช้เทคนิคที่เรียบง่ายอย่างการวาดเส้นด้วยหมึก และการระบายสีอะคริลิคลงบนกระดาษสา ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ ผลงานทั้งหมดถูกจัดวางเรียงรายต่อเนื่องกันจนเต็มฝาผนัง เพื่อโอบล้อมผู้ชมให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศของผลงานโดยรวม เป็นจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยที่มิได้บอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา แต่ทว่ากำลังบอกเล่าเรื่องราวทางศิลปะจากประสบการณ์ชีวิตของศิลปิน
 
ผลงานชุดธรรมศิลป์ เป็นผลงานที่ศาสตราจารย์ชลูดสร้างขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ.2530-2539 โดยมิได้มีเจตนาสื่อแสดงความหมายธรรมะในพุทธศาสนา แต่ถ่ายทอดออกมาจากสภาวะจิตใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลา ด้วยรูปแบบผลงานที่เรียบง่าย รูปทรงอันสงบนิ่ง และสีสันที่นุ่มนวลสะอาดตา สะท้อนความบริสุทธิ์ของจิตใจที่สงบนิ่งและปล่อยวาง อันเป็นผลมาจากภาวะของสมาธิ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทำงาน และจากการศึกษาปฏิบัติธรรม  
 
ผลงานวาดเส้น  เป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ศาสตราจารย์ชลูดมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ และได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคนี้ไว้เป็นจำนวนมาก  เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย แต่สามารถถ่ายทอดและแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี   ผลงานวาดเส้นที่นำมาจัดแสดงมี 4 ชุดด้วยกัน คือ ผลงานชุด “บทกวี” (พ.ศ.2525-2526) ผลงานชุด“ลูกสาว” (พ.ศ.2528) ผลงานชุด “ประติมากรรมในทิวทัศน์” (พ.ศ.2550) และผลงานชุด “วาดเส้นภาวนา” (พ.ศ.2554) 
 
ผลงานชุดประติมากรรมชนบท  เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2525 ศาสตราจารย์ชลูดนำแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชนบทไทย มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความก้าวหน้าล้ำสมัย ทั้งในด้านรูปแบบและลักษณะการแสดงออก ด้วยการหยิบจับวัตถุและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งวัสดุจากธรรมชาติ และวัสดุสังเคราะห์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็นสื่อในการแสดงออก  เริ่มจากการนำวัสดุมาห้อยแขวนวางพาดบนตอไม้ พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงการนำวัสดุมาห้อยแขวนบนร่างกายตนเอง เพื่อเป็นสื่อแสดงความคิด ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตชนบทไทย ซึ่งนับได้ว่าศาสตราจารย์ชลูดเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางการทำงานศิลปะเชิงความคิด (conceptual art) ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทย  
 
ผลงานวาดเส้นจากโรมและภาพพิมพ์นามธรรม  ในช่วงเวลาที่เดินทางไปศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์กลวิธีร่องลึก (intaglio) ที่ประเทศอิตาลี ประมาณปี พ.ศ.2499-2501 และศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์หิน (lithograph) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2507 นั้น ศาสตราจารย์ชลูดได้เดินทางไปวาดภาพทิวทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลงานที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์นามธรรม ซึ่งมีเทคนิคที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งด้วย 
 
ผลงานยุคแรก  ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2498-2505 ศาสตราจารย์ชลูดสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชนบทไทย ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แบบแกะลายเส้น (engraving) โดยทดลองนำเมโซไนท์ (mesonite) หรือกระดาษอัดแข็งมาใช้แทนไม้เป็นคนแรกของไทย  ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut)  ซึ่งมีทั้งภาพพิมพ์ขาวดำและภาพพิมพ์สี เป็นการค้นพบเทคนิคที่มีความกลมกลืนกับอารมณ์การแสดงออก ด้วยเรื่องราวและรูปทรงที่เรียบง่าย แสดงออกถึงความเป็นไทย  นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมชุด “ชีวิตชนบทปิดทอง” (พ.ศ.2499) ซึ่งศาสตราจารย์ชลูดได้ทดลองติดทองคำเปลวลงบนจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นคนแรก นับเป็นก้าวสำคัญในการนำลักษณะของศิลปะไทยแบบประเพณีมาปรับใช้  เสนอภาพเรื่องราววิถีชีวิตไทย ทำให้เกิดลักษณะใหม่ของศิลปะร่วมสมัยที่แสดงลักษณะไทยได้อย่างลงตัว                                                                                                 
 
ดำเนินงานโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร                                                                  
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม                                                                                                                                      
ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทร. 02-2146630 ต่อ 501    
www.bacc.or.th / www.facebook.com/baccpage