Main Exhibition 789
ครอสโอเวอร์: ศิลปะ&นักสะสม
นิทรรศการริเริ่มและดำเนินงานโดยฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พิธีเปิดนิทรรศการในวันพุธที่ 25 มีนาคม 2558 เวลา 18:30 น.
พิธีเปิดนิทรรศการในวันพุธที่ 25 มีนาคม 2558 เวลา 18:30 น.
นักสะสม
กิตติโชติ หริตวร
กิตติภรณ์ ชาลีจันทร์
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที
ชนะ อัษฎาธร
ฌ็อง มิเชล เบอร์เดอเล
ณรงค์ อิงค์ธเนศ
ดร. ดิสพล จันศิริ
ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์
ปริญญ์ จิราธิวัฒน์
พงศา อธิรกุล
พงษ์ชัย จินดาสุข
เพชร โอสถานุเคราะห์
ภัคพงศ์ เช็ง
เยาวณี นิรันดร ช่อวิเชียร
ดร. วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร
นพ. สมรัช หิรัญยะวะสิต
ภัณฑารักษ์รับเชิญ
ธวัชชัย สมคง
ชล เจนประภาพันธ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า มีผลงานศิลปะชิ้นสำคัญมากมายสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ศิลปะ ในขณะเดียวกันยังมีผลงานศิลปะจำนวนมากที่ได้รับการเก็บรักษาโดยนักสะสม กลุ่มผู้อุปถัมภ์เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน หรือองค์กรเอกชนต่างๆ ผลงานเหล่านี้ไม่ใช่เพียงทรัพย์สินที่ถูกซื้อหามาเพื่อชื่นชมเท่านั้น แต่การสะสมของพวกเขาก็คือการเก็บหลักฐาน และรวบรวมบันทึกจากผลงานศิลปะที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้มักถูกมองข้ามจากวงวิชาการทางศิลปะ ในขณะที่ผลงานจากการสะสมของพวกเขาได้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยอย่างน่าสนใจ ศิลปินและผลงานศิลปะล้วนมีความสัมพันธ์ต่อเหตุการณ์ทางสังคม ผู้สะสมหรือองค์กรต่างๆ เก็บรักษาด้วยเหตุผลที่ต่างกัน ไม่ว่าด้วยความชื่นชอบส่วนตัว มูลค่า หรือด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นที่น่าเสียดายหากผลงานในการสะสมเหล่านี้จะไม่ได้ถูกศึกษาหรือทำการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง การจัดนิทรรศการนี้เริ่มต้นด้วยการสำรวจ ซึ่งแยกออกมาได้เป็นสามขั้นตอนคือ การสำรวจชิ้นงานสำคัญทางประวัติศาสตร์ การสำรวจวิธีการสะสม และสำรวจทรรศนะของนักสะสม ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากศิลปินชั้นเยี่ยม บรมครู หรือผลงานศิลปะที่มีคุณภาพแต่ศิลปินไม่เป็นที่รู้จัก รวมไปถึงผลงานทรงคุณค่าที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่ง “ทรรศนะ” ที่ได้จากนักสะสมจากหลากสาขาอาชีพนี้จะสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อผลงานศิลปะอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เราเห็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างประวัติศาสตร์ และได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการแลกเปลี่ยนซื้อขายงานศิลปะ หรือวิธีการมองภาพรวมของประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต่างออกไปจากนักวิชาการ ทรรศนะหรือรสนิยมของนักสะสมอาจจะเป็นสิ่งสำคัญต่อทิศทางการสร้างสรรค์ของศิลปินนอกเหนือไปจากบทบาทของสถาบันทางศิลปะต่างๆ การเก็บข้อมูลของนักสะสมเอกชนนั้นจะเป็นวิธีหนึ่งที่เราคาดหวังว่าจะสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ที่มีแง่มุมแตกต่างออกไป เพราะในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา ผู้ศึกษาหรือนักวิชาการศิลปะก็ยังต้องพึ่งพาข้อมูลบางอย่างจากองค์กรหรือบุคคลที่เคยอยู่ในเหตุการณ์หรือเกี่ยวข้องกับของการจัดแสดง สะสม และการแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
นิทรรศการนี้จึงมีจุดประสงค์ที่จะเติมเต็มข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากการได้สำรวจ การคัดเลือกศิลปินหรือชิ้นงานในการสะสมที่ผู้คนทั่วไปจะได้ชื่นชม และที่สำคัญคือบทบาทของผู้สะสมงานศิลปะ ทรรศนะหรือความคิดเห็นของนักสะสมที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “สุนทรียภาพ” ของงานศิลปะ สะท้อนภาพของ “คุณค่า” และ “มูลค่า” โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวในโลกของศิลปินและวิธีการสะสมครอบครองของผู้อุปถัมภ์ ศึกษาความเคลื่อนไหวทางเวลา สถานการณ์ หรือบริบทที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย เพราะวงการศิลปะนั้นไม่ได้เป็นเพียงภาพตัวแทนของความคิดศิลปิน ประวัติศาสตร์ศิลปะควรสะท้อนการมีตัวตนอยู่ของนักสะสมงานศิลปะเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
นิทรรศการ crossover : The Unveiled Collection ต้องการแสดงให้เห็นร่องรอยของการ “ทับซ้อน” ระหว่างพัฒนาการทางศิลปะ และวิธีการสะสมผลงานที่เกิดขึ้นกับวงการศิลปะในประเทศไทย สร้างความชัดเจนของแวดวงศิลปะที่ขับเคลื่อนอย่างมีพลวัตด้วยศิลปินไทยผ่านสายตาของผู้อุปถัมภ์ นำเสนอหลักฐานสนับสนุนที่ต้องการการสำรวจย้อนกลับไปในวันที่ศิลปินแถวหน้าของไทยเหล่านี้ร่วมกันสร้างอัตลักษณ์ให้กับทิศทางศิลปะในประเทศไทยจนเข้มแข็ง จากความเป็น “สมัยใหม่” สู่ความเป็น “ร่วมสมัย” ที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความขัดแย้งและประนีประนอมระหว่างประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น และความเป็นสมัยใหม่ คุณค่าอันแฝงอยู่ในกิจกรรมการสะสมนั้น นอกเหนือจากเรื่องของมูลค่าแล้ว การสะสมได้สะท้อนวิถีทางของสุนทรียภาพ สัมพันธ์กับกาลเวลา เหตุการณ์ สถานที่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วนักสะสมเป็นบุคลากร หรือสถาบันที่สำคัญอันนึงในแวดวงศิลปะ ทราบกันดีว่ากิจกรรมการสะสมต้องใช้เวลามากมายกับการศึกษาผลงาน การเข้าร่วมกิจกรรมทางศิลปะ และใช้ทุนทรัพย์เพื่อการอุปถัมภ์ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเสียงสะท้อนให้เกิดองค์ความรู้ด้านการจัดการต่างๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะในด้านการดูแลรักษา การขนย้าย และจัดเก็บอย่างเป็นระบบเช่นที่นิทรรศการนี้มีแนวคิดริเริ่มเพื่อเติมเต็มความยั่งยืนของผลงานศิลปะและประสิทธิภาพของการนำออกแสดงต่อไปในอนาคต
นิทรรศการ crossover : The Unveiled Collection จึงมีเจตนาสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและวงการศิลปะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการยกระดับความสำคัญของนักสะสมไทยให้มีบทบาทสำคัญและชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงการมีบทบาทด้านทรรศนะเกี่ยวกับสุทรียภาพ ด้วยการเชื้อเชิญให้นักสะสมเข้ามามีส่วนร่วม แบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานศิลปะชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์เพื่อเผยแพร่เป็นองค์ความรู้สู่สาธารณะชน
นิทรรศการริเริ่มและดำเนินงานโดย
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 โทรสาร 02 214 6639
www.facebook.com/baccpage
—
EXHIBITION EDUCATION AND ACTIVITY : กิจกรรมการศึกษานิทรรศการ “Crossover The Unveiled Collection ครอสโอเวอร์ : ศิลปะกับนักสะสม”
กิจกรรมเสวนา ในหัวข้อ “การสะสมผลงานศิลปะในประเทศไทย : การสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวงการศิลปะ”
วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 เวลา 13.00 – 15.00 น.
ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
งานศิลปะและนักสะสม มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร งานศิลปะประเภทใดเป็นที่นิยมของนักสะสม นักสะสมมองทิศทางของงานศิลปะอย่างไรในอนาคต คำถามทั่วไปที่มักเกิดขึ้นจากการดูนิทรรศการ Crossover The Unveiled Collection : ศิลปะกับนักสะสม การจัดเสวนาในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมเห็นถึงความสำคัญของงานศิลปะโดยศิลปินชั้นครู จากการได้รับความร่วมมือจากนักสะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในฐานะกลุ่มผู้อุปถัมภ์ วิธีการดูแลรักษาตามที่นักสะสมปฏิบัติอยู่ การสะสมที่ยังนำไปสู่การดูแลรักษา การสนับสนุนให้เกิดการสะสมในกลุ่มคนรุ่นใหม่และเป็นผู้อุปถัมภ์ต่อไปในอนาคต
นักสะสมมีความคิดเห็น มุมอง และทิศทางการสะสมศิลปะแตกต่างกันออกไป โดยการเสวนาในครั้งนี้นักสะสมบางท่านในนิทรรศการ Crossover The Unveiled Collection จะมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆจากประสบการณ์การสะสมผลงานศิลปะ ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนา กิจกรรมการศึกษานิทรรศการ “Crossover The Unveiled Collection : ศิลปะกับนักสะสม” ในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
ติดต่อสำรองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กิจกรรมการศึกษา ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 02-214-6630-8 ต่อ 533 Email : [email protected]
—
EXHIBITION EDUCATION AND ACTIVITY : กิจกรรมการศึกษานิทรรศการ “Crossover The Unveiled Collection ครอสโอเวอร์ : ศิลปะกับนักสะสม”
กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การดูแลรักษา การจัดเก็บและทำทะเบียนงานศิลปะร่วมสมัย”
วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2558 เวลา 13.00 – 16.00 น.
ณ ห้อง Friend of bacc ชั้น 6 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เมื่อมีงานศิลปะแล้ว ขั้นต่อไปคือการจัดเก็บและดูแลรักษา
การทำทะเบียนหรือจดบันทึกถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในงานชิ้นนั้นๆ รวมถึงจัดเก็บในกรอบหรือในที่ๆเหมาะสม จะทำให้ยืดอายุผลงานศิลปะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ นักสะสมหรือองค์กรที่มีงานศิลปะในครอบครองมักจะมีผู้รับผิดชอบดูแลงานศิลปะ แต่สภาพอากาศ ความชิ้น หรือวัสดุที่ไม่เหมาะกับงานศิลปะอาจะสร้างความเสียหายให้แก่งานศิลปะชั้นครู ดังนั้นการดูแลรักษาเบื้องต้นเสมือนการปฐมพยาบาลก่อนจะถึงมือแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะ
นิทรรศการ Crossover The Unveiled Collection : ศิลปะกับนักสะสม แสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างนักสะสมและศิลปิน โดยงานศิลปะ ดังนั้นการดูแลรักษางานศิลปะจึงไม่ต่างจากการดูแลรักษาความสัมพันธ์ของนักสะสมและศิลปิน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลงานศิลปะในกิจกรรมการศึกษานิทรรศการ “Crossover The Unveiled Collection : ศิลปะกับนักสะสม” วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2558 เวลา 13.00 – 16.00 ณ ห้องกระจก Friend of bacc ชั้น 6 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เกี่ยวกับวิทยากร
อาจารย์สมศักดิ์ แตงพันธ์ จบการศึกษาจากสาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญในการอนุรักษ์ผลงานศิลปกรรม กรมศิลปากร และ อาจารย์พิเศษ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์สมศักดิ์ แตงพันธ์เป็นทั้งศิลปินและผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ด้านจิตรกรรมเป็นพิเศษ
** ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
** กรุณาสำรองที่นั่ง
ติดต่อสำรองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กิจกรรมการศึกษา ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 02-214-6630-8 ต่อ 533 Email : [email protected]