Lectures
ศิลปะสนทนา 2560 : BACC Art Talk 2017 “Lesson Abroad Series (บทเรียนจากต่างแดน)” ครั้งที่ 3
เวลา 14.00 น. – 16.00 น.
ศิลปะสนทนา 2560 : BACC Art Talk 2017
“Lesson Abroad Series (บทเรียนจากต่างแดน)” ครั้งที่ 3
ครั้งที่ 3 – หัวข้อ “นิทรรศการศิลปะนานาชาติ: ใคร อะไร ทำไม (International Art Exhibition: Who, What & Why)”
วิทยากร:
ดร.ถนอม ชาภักดี (นักวิจารณ์ด้านทัศนศิลป์และอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
อภิศักดิ์ สนจด (ผู้อำนวยการหอศิลป์ไทยตาดู ไทยยานยนตร์)
ดำเนินรายการ โดย พอใจ อัครธนกุล (Project Director ของ Sansab Museum of Contemporary Art)
ในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เมือง Venice ริเริ่มจัด La Biennale di Venezia ทุกสองปีเพื่อสถาปนาความเป็นศูนย์กลางของโลกศิลปะ ไปพร้อมๆกับเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวให้กับอิตาลี อีกหลายทศวรรษต่อมาเมือง Kassel จัดงาน Documenta ทุกห้าปีเพื่อชี้ให้เห็นถึงมิติของทัศนศิลป์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกความเป็นไปของสังคมรวมทั้งดึงเยอรมันให้กลับเข้าสู่สารบบของแวดวงศิลปะในยุโรปหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จัดงาน Art Basel ขึ้นทุกๆปี เพื่อเป็นตลาดในการซื้อขายงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งต่อมาได้ขยายชื่องานเดียวกันนี้ไปจัดข้ามทวีปที่ Miami และ Hong Kong ยักษ์ใหญ่ของโลกศิลปะตะวันออกอย่างญี่ปุ่นเลือกที่จะจัดงาน Setouchi Triennale ทุกสามปีเพื่อชุบชีวิตเหล่าหมู่เกาะที่กำลังร้างคนให้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลกศิลปะ หากไม่นับสิงคโปร์ที่จัด Singapore Biennale มาตั้งแต่ปี 2006 อินโดนีเซียเองก็จัดเทศกาลแบบนี้ขึ้นมาในปี 2015 โดยที่ย้อนที่มาไปได้ถึงปี 1968 รวมทั้งข่าวของ Yangon Biennale ก็ออกมาแล้วเช่นกัน
ในการจัดเทศกาลศิลปะนานาชาติเหล่านี้ ใครที่อยู่เบื้องหลังเมืองและประเทศต่างๆที่จะขานรับการเป็นเจ้าภาพอย่างมีพันธะต่อเนื่อง ทั้งที่เต็มไปด้วยภาระและอุปสรรคมากมาย ประหนึ่งเป็นงานโอลิมปิกของโลกศิลปะ งานเทศกาลเหล่านี้คืออะไรกันแน่ เป็นเพียงแค่ข้ออ้างทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือของการเมืองวัฒนธรรม เป็นสนามแข่งขันของเหล่าภัณฑารักษ์และศิลปิน หรือเป็นโอกาสที่คอศิลปะที่จะพลาดไม่ได้ในการเสพย์งานศิลปะร่วมสมัยชั้นดีนับร้อยนับพันชิ้นจากนานาประเทศ และด้วยเหตุผลใดถึงควรที่จะต้องจัดงานเทศกาลแบบนี้ เพื่อเป็นหน้าเป็นตา เพื่อสร้างความตื่นตัว และ/หรือเพื่อประโยชน์ของแวดวงศิลปะของตัวเมืองหรือประเทศเจ้าภาพเอง
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะนำถกเถียงและอภิปรายในกิจกรรม Art Talk 2017 ครั้งที่ 3 โดยคนไทยสองท่านที่ได้ชื่อว่ามีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนเทศกาลเหล่านี้บ่อยครั้งที่สุด ได้แก่ ดร.ถนอม ชาภักดี (นักวิจารณ์ด้านทัศนศิลป์และอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และคุณอภิศักดิ์ สนจด (ผู้อำนวยการหอศิลป์ไทยตาดู ไทยยานยนตร์ และภัณฑารักษ์ของ Thai Pavilion, La Biennale di Venezia 2007) ซึ่งในปีนี้ได้ไปร่วมเทศกาลศิลปะสำคัญของโลกที่จัดพร้อมกันถึงสามรายการ ได้แก่ La Biennale di Venezia ครั้งที่ 57 Documenta ครั้งที่ 14 และ Skulptur Projekte Munster ครั้งที่ 4 และโดยมีคุณพอใจ อัครธนกุล Project Director ของ Sansab Museum of Contemporary Art ซึ่งก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมมาเช่นกันเป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้จะมีการบอกเล่าถึงประสบการณ์ล่าสุดที่แต่ละท่านเพิ่งได้รับมา รวมถึงมองย้อนกลับถึงเทศกาลศิลปะนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายรายการอีกด้วย
อนึ่ง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมศิลปะสนทนา (BACC Art Talk 2017) เช่นนี้มาอย่างต่อเนื่องซึ่งในปี พ.ศ. 2560 นี้ ได้จัดในหัวข้อร่วม “Lesson Abroad Series (บทเรียนจากต่างแดน)” โดยเน้นหนักประเด็นด้านความเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์ที่สำคัญบทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจและแนวโน้มของการจัดการกิจกรรมทางทัศนศิลป์และศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติต่างๆทั้งนี้เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เข้าร่วมฟังและร่วมเสวนาในการมองสะท้อนกลับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปัจจุบันและมีวิทยากรทั้งจากต่างประเทศและในประเทศมาร่วมอย่างน้อยสามครั้งในปีนี้
ดำเนินการเสวนา Art Talk 2017 #3 ด้วยภาษาไทยตลอดรายการ
ไม่ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายการศึกษา 02-214-6630-8 ต่อ 519 หรือ [email protected]