Main Exhibition

Post-Repost-Share 


พิธีเปิดงาน วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2561 เวลา 18.30 น.
ภัณฑารักษ์รับเชิญ: ดร.เตยงาม คุปตะบุตร (ไทย) และอังกิ ปูร์บันโน (อินโดนีเซีย)
ศิลปิน: 35 ศิลปิน ช่างภาพสายข่าว ช่างภาพเอกชน ชุนชนคนถ่ายภาพ นักกิจกรรมทางสังคม นักรังสีการแพทย์ และนักดาราศาสตร์ จาก 11 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Post-Repost-Share นิทรรศการภาพถ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนหนึ่งของ โฟโต้บางกอก 2018 เทศกาลภาพถ่ายนานาชาติกรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลปกรุงเทพฯ) และกลุ่มโฟโต้บางกอก จัดแสดงระหว่างวันที่ 6 กรกฎาคม – 9 กันยายน 2561 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปกรุงเทพฯโดยมีภัณฑารักษ์รับเชิญคือ ดร.เตยงาม คุปตะบุตร (ไทย) และอังกิ ปูร์บันโน (อินโดนีเซีย) ร่วมด้วยศิลปิน 35 คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายคือการมุ่งสำรวจความสัมพันธ์ร่วมสมัยระหว่างภาพถ่ายและผู้ชม

เมื่อครั้งหนึ่ง ภาพถ่ายเป็นเพียงสื่อภาพนิ่งที่ถูกตีพิมพ์บนกระดาษ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สื่อสังคม (Social Media) ได้เปลี่ยนวิธีการที่ผู้คนใช้กล้องถ่ายภาพ วิธีการที่พวกเขานำเสนอภาพถ่าย และวิธีการที่ผู้คนมองดูภาพถ่ายไปอย่างสิ้นเชิงภาพถ่ายถูกโพส (post)  ถูกโพสใหม่อีกครั้ง (repost) และถูกแชร์ (share) ท่ามกลางจำนวนคนหลักหลายร้อยล้านที่อาศัยอยู่ทั่วทุกภูมิภาค คุณสมบัติของภาพถ่ายจึงเปลี่ยนไป จากสื่อที่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวมาเป็นสื่อที่ยืดหยุ่น และฟุ้งกระจายไปได้ทั่วทุกมุมโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผลงานโดยศิลปิน ช่างภาพสายข่าว ช่างภาพเอกชน ชุนชนคนถ่ายภาพ นักกิจกรรมทางสังคม นักรังสีการแพทย์ และนักดาราศาสตร์ ที่อาศัยและทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกนำเสนอในพื้นที่ไร้แสงด้วยวิธีที่ต่างจากขนบของภาพถ่ายที่เราคุ้นชิ้น ด้วยการแสดงผลงานผ่านสื่อร่วมสมัยอย่างเครื่องฉายภาพ แต่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวร่วมสมัยและเชื่อมโยงบริบททางสังคมที่หลากหลายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกันความคล้ายคลึงของเรื่องเล่าหรือสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดแนวความคิดของการมองออกไปจากตัวเอง ลบเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ และตระหนักถึงจุดร่วมกันของผู้คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคแห่งนี้

สุดท้าย Post-Repost-Share ต้องการส่งเสริมให้ผู้ชมมองเห็นภาพถ่ายในฐานะเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ใช้กล้องถ่ายภาพทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกล้องมืออาชีพหรือกล้องโทรศัพท์มือถือ ในการบอกเล่าความจริง แสดงออกซึ่งทัศนคติ มุมมอง และนัยยะเชิงจิตวิทยาของผู้คนจริงๆ ที่อยู่ในสังคมร่วมสมัย

สามารถดูคู่มือนิทรรศการได้ ที่นี่
รายละเอียดกิจกรรมการศึกษานิทรรศการ Post-Repost-Share คลิกได้ ที่นี่