Special Project

จรัสLab: ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้


โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการกึ่งถาวร จัดแสดง: พฤศจิกายน 2562 – สิงหาคม 2563


พลังงานคืออะไร เราทราบคำตอบที่แท้จริงหรือไม่ เพราะในชีวิตประจำวันเราต่างก็ใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์ด้านพลังงานและผลกระทบต่าง ๆ ในปัจจุบัน การสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานทดแทนจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลที่รอบด้านและสามารถเข้าถึงได้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดทำห้องจรัสขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อจัดเป็น จรัสLab: ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในรูปนิทรรศการกึ่งถาวร จัดแสดงตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 – สิงหาคม 2563 ซึ่งนับเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

จรัสLab จะนำเสนอข้อมูลในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียน 3 ครั้งประกอบกับกิจกรรมเสริม แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้

  1. พลังงานสะอาด ของขวัญจากโลก นิทรรศการที่สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งเน้นให้เห็นที่มาของพลังงานและความหลากหลายของการใช้พลังงานทดแทน เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทดแทนในชีวิตประจำวัน จัดแสดง 14 พฤศจิกายน 2562 – 2 กุมภาพันธ์ 2563
  2. พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ นำเสนอการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นความจริงที่จับต้องได้ จัดแสดง 20 กุมภาพันธ์ – 3 พฤษภาคม 2563
  3. อนาคตของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ชวนคิดและนำเสนอแนวคิดของผู้คนในสังคมที่ร่วมกันมองหา สร้างนวัตกรรมพลังงานทดแทนที่สะอาดยั่งยืน จุดประกาย รวมทั้งต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

นอกจากข้อมูลผ่านสื่อโสตทัศน์และมุมความรู้แล้ว ในจรัสLab ยังมีกิจกรรมประกอบนิทรรศการ อาทิ การเสวนา ที่ได้รับเกียรติจากผู้มีชื่อเสียงด้านพลังงานทดแทนมาพูดคุย รวมถึงกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ “แสงสีสวย” และกิจกรรมนำชมนิทรรศการผ่านใบงาน (Exhibition Trail) ตลอดโครงการ โดยกิจกรรมเสริมเหล่านี้มีจุดเด่นที่การใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ศิลปะเป็นฐาน (Arts-based Learning) เป็นกลวิธีหลักในกระบวนการออกแบบกิจกรรม ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ดำเนินการนิทรรศการและกิจกรรมส่วนหนึ่งได้มาจากระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่ติดตั้งบนชั้นดาดฟ้าของหอศิลปกรุงเทพฯ
——-

นิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ 1: พลังงานสะอาด ของขวัญจากโลก
รวบรวมและนำเสนอข้อมูลพื้นฐานด้านพลังงานและพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เห็นถึงที่มาของพลังงาน ปัญหา และจุดเปลี่ยนก่อนการพัฒนาในอนาคต โดยสื่อสารผ่านภาษาทางศิลปะและอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

  1. ประวัติศาสตร์การใช้พลังงานของมนุษย์ จากอดีต 460,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราชที่มีการค้นพบการใช้ไฟครั้งแรกของโลกในประเทศจีน จนถึงปัจจุบันที่พลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโลก โดยการรวบรวมเหตุการณ์สำคัญ จุดเปลี่ยน และจุดเริ่มต้นการใช้ประโยชน์จากพลังงานต่าง ๆ ของโลก ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานไฟฟ้า และพลังงานทดแทนในประเทศไทย
  2. การใช้พลังงานในปัจจุบัน นำเสนอด้วยภาพถ่ายเพื่อให้เห็นลักษณะการใช้พลังงานไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกเหนือจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว ยังมีการใช้พลังงานทดแทนที่ได้จากธรรมชาติอื่น ๆ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งภาพถ่ายทั้งหมด 11 ภาพ ได้รับความร่วมมือจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยให้นำมาจัดแสดง
  3. การใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยนอกเหนือจากไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว ประเทศไทยยังสามารถใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น การผลิตก๊าซชีวมวลจากมูลสัตว์ พลังงานลม และที่สำคัญพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งพลังงานทดแทนเหล่านี้อาจเป็นคำตอบของพลังงานสะอาดในอนาคต ซึ่งตัวอย่างการใช้พลังงานทดแทนเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
  4. แหล่งข้อมูลและเครือข่ายที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เป็นมุมสำหรับการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องพลังงานและพลังงานทดแทน ให้ผู้ชมสามารถต่อยอด จุดประกายความคิด และส่งต่อข้อมูลดี ๆ ไปยังพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืนด้านพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

กิจกรรมเสริม

  1. กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ “แสงสีสวย” กิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่นำเสนอรูปแบบการเรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาด ผ่านการนำชมนิทรรศการ และกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ มุ่งเน้นให้ได้รับความรู้และความเข้าใจพื้นฐานเรื่องพลังงาน ที่มาของพลังงานไฟฟ้า และความสำคัญของการเลือกใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความสำคัญต่อโลก ทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง และการนำแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2562 เวลา 14.00-15.20 น. ณ จรัส Lab ชั้น 3 คลิก
  2. กิจกรรม “ห้องเรียนพลังงานสะอาด” กิจกรรมส่วนสำคัญในฐานกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ 11 มกราคม 2563 โดยการจัดพื้นที่ในห้อง จรัส Lab เป็นพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงาน ทั้งในแง่มุมของการผลิต ผลกระทบ และการมองหาพลังงานสะอาดมาทดแทน พลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ตระหนักคุณค่าและความสำคัญของพลังงาน วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 10.00-17.00 น. ณ จรัส Lab ชั้น 3 
  3. กิจกรรมการเสวนา : “พลังงานสะอาด ทางเลือกที่รักษ์โลก”การเสวนาที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและแรงบันดาลใจในการใช้พลังงานสะอาด โดยมุ่งเน้นไปที่แนวทางในการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย ในเสนอตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจาการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดได้จริงในชีวิตประจำวัน จากนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและการสนับสนุนจากภาคเอกชน รวมทั้งร่วมพูดคุยกับผู้ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นต้นแบบ และนำไปสู่การเผยแพร่ต่อสาธารณชน วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30- 15.30 น. ณ จรัส Lab ชั้น 3

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมจรัสLab: ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ หลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลาประมาณ 17.00 น. โดยได้รับเกียรติจาก คุณเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาเป็นประธานในพิธี 

จรัสLab ตั้งอยู่ ณ ห้องจรัส บริเวณชั้น 3 ของหอศิลปกรุงเทพฯ พื้นที่เปิดใหม่ที่สามารถเดินเข้าได้โดยตรงจากทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS หลังจากนิทรรศการหมุนเวียนที่ 1 จบลงแล้ว โปรดรอติดตามอีกสองนิทรรศการหมุนเวียน ที่จะจัดแสดงในลำดับถัดไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563
—–

ส่วนหนึ่งของ โครงการ จรัส: แสงสร้างสรรค์ 
ซึ่งดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องความสำคัญของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562

#พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้  #renewableenergy #พลังงานแสงอาทิตย์
#กกพ #กองทุนพัฒนาไฟฟ้า #จรัสแสงสร้างสรรค์ #JarasLightFest
#JarasProject #JarasLab 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 ต่อ 501 – 503
อีเมล [email protected]
Facebook: Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Instagram: @baccbangkok

 

Image Gallery