Special Project

Future of Clean Energy: อนาคตของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้


โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการกึ่งถาวร จัดแสดง: 2 กรกฎาคม  – 27 กันยายน 2563


พลังงานฟอสซิลจากธรรมชาติที่ใช้ในโลกปัจจุบันมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับความต้องการพลังงานในสังคมโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การมองหาแหล่งพลังงานใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาดของโลกอนาคต จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางรอดที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน คือการใช้พลังงานพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
อนาคตของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรตระหนักรู้และเห็นความสำคัญ ซึ่งในประเทศไทยมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 กำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนภายในประเทศ ตั้งเป้าการใช้พลังงานทดแทนใน พ.ศ. 2580 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้าจะมีกำลังผลิต (Contract Capacity) มากถึง 12,725  เมกะวัตต์ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแว้ดล้อมอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนอกเหนือจากการให้พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังมีการพัฒนาอนาคตของพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ 

นิทรรศการ Future of Clean Energy : อนาคตของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และมองเห็นโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดของโลกอนาคต โดยอาศัยการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบนิทรรศการ ที่ออกแบบและตกแต่งด้วยภาพวาดกราฟิตี้ พยายามสื่อสารถึงการรณรงค์การใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการทางศิลปะ และร่วมเรียนรู้ผ่านกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ต่างๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.bacc.or.th หรือ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ชมกิจกรรมเสริมประกอบนิทรรศการ Future of Clean Energy: อนาคตของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
เดือนสิงหาคม คลิก
เดือนกันยายน คลิก

—–

เกี่ยวกับจรัสLab
พลังงานคืออะไร เราทราบคำตอบที่แท้จริงหรือไม่ เพราะในชีวิตประจำวันเราต่างก็ใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์ด้านพลังงานและผลกระทบต่าง ๆ ในปัจจุบัน การสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานทดแทนจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลที่รอบด้านและสามารถเข้าถึงได้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดทำจรัสLab: ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 – กันยายน 2563 

จรัสLab จะนำเสนอข้อมูลในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียน 3 ครั้งประกอบกับกิจกรรมเสริม แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้

  1. พลังงานสะอาด ของขวัญจากโลก นิทรรศการที่สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งเน้นให้เห็นที่มาของพลังงานและความหลากหลายของการใช้พลังงานทดแทน เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทดแทนในชีวิตประจำวัน จัดแสดง 14 พฤศจิกายน 2562 – 2 กุมภาพันธ์ 2563 คลิก
  2. พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ นำเสนอการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นความจริงที่จับต้องได้ จัดแสดง 20 กุมภาพันธ์ – 21 มิถุนายน 2563 คลิก
  3. อนาคตของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ชวนคิดและนำเสนอแนวคิดของผู้คนในสังคมที่ร่วมกันมองหา สร้างนวัตกรรมพลังงานทดแทนที่สะอาดยั่งยืน จุดประกาย รวมทั้งต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จัดแสดง 2 กรกฎาคม  – 27 กันยายน 2563

นอกจากข้อมูลผ่านสื่อโสตทัศน์และมุมความรู้แล้ว ในจรัสLab ยังมีกิจกรรมประกอบนิทรรศการ อาทิ การเสวนา ที่ได้รับเกียรติจากผู้มีชื่อเสียงด้านพลังงานทดแทนมาพูดคุย รวมถึงกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และกิจกรรมนำชมนิทรรศการผ่านใบงาน (Exhibition Trail) ตลอดโครงการ โดยกิจกรรมเสริมเหล่านี้มีจุดเด่นที่การใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ศิลปะเป็นฐาน (Arts-based Learning) เป็นกลวิธีหลักในกระบวนการออกแบบกิจกรรม ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ดำเนินการนิทรรศการและกิจกรรมส่วนหนึ่งได้มาจากระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่ติดตั้งบนชั้นดาดฟ้าของหอศิลปกรุงเทพฯ
—–

ส่วนหนึ่งของ โครงการ จรัส: แสงสร้างสรรค์ 
ซึ่งดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องความสำคัญของพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562

#พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้  #renewableenergy #พลังงานแสงอาทิตย์
#กกพ #กองทุนพัฒนาไฟฟ้า #จรัสแสงสร้างสรรค์ #JarasLightFest
#JarasProject #JarasLab 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 ต่อ 501 – 503
อีเมล [email protected]
Facebook: Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Instagram: @baccbangkok

Image Gallery