Main Exhibition 789

สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์


โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิซันไพรด์
พิธีเปิด ศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิซันไพรด์ จัดนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒ (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) ซึ่งจัดแสดงผลงานของศิลปินทั้งหมด 58 ท่าน นิทรรศการดังกล่าวจะเป็นแหล่งรวมศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดที่สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ – Lesbian Gay Bisexual Transsexual and Queer) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเดินทางหมุนเวียนโดยมูลนิธิซันไพรด์ โดยจะแวะที่กรุงเทพฯ เป็นจุดที่ 2 ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ SPECTROSYNTHESIS – Asian LGBTQ Issues and Art Now อันโด่งดัง ซึ่งเปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2560

ความแตกต่างหลากหลายในรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม งานนี้ ทีมภัณฑารักษ์ นำโดย คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที จึงได้คัดสรรศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้ผ่านศิลปะ โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าเส้นแบ่งต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนไป กรอบเกณฑ์ต่าง ๆ กำลังเปิดกว้างมากขึ้น และคนก็กำลังตั้งคำถามกับค่านิยมและบรรทัดฐานต่าง ๆ ทางสังคม ในนิทรรศการ ผู้ชมจะได้พบกับผลงานของศิลปินจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงศิลปินเชื้อสายจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองวัฒนธรรมที่มีอิทธิผลอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ผ่านการอพยพย้ายถิ่นฐาน สนทนาสัปตสนธิ ๒ จึงแสดงให้เห็นบริบททางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และสะท้อนลักษณะพิเศษของภูมิภาคนี้ที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ศิลปินที่จะมาร่วมจัดแสดงในงานนี้ อาทิ Christopher Cheung (ฮ่องกง) Jes Fan (ฮ่องกง) Balbir Krishan (อินเดีย) Dinh Q. Lê (เวียดนาม) David Medalla (ฟิลิปปินส์) Ramesh Mario Nithiyendran (ศรีลังกา) อริญชย์ รุ่งแจ้ง (ไทย) Anne Samat (มาเลเซีย) จักกาย ศิริบุตร (ไทย) Hui-Yu Su (ไต้หวัน) Danh Vō (เวียดนาม) และ Lyno Vuth (กัมพูชา)

ผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่เพื่องานนี้

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ชนชาติ และความเชื่อที่หลากหลาย ระดับการยอมรับความหลากหลายทางเพศก็แตกต่างกันไปตามแต่ละเมืองและเขตการบริหารพิเศษเช่นกัน ในประเทศไทย ชุมชน LGBTQ ถือว่าได้รับการยอมรับดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และปัจจุบันก็เริ่มมีการเรียกร้องกฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ถึงกระนั้น กฎเกณฑ์และพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมก็มิใช่ไม่มีเสียเลย และอคติเหล่านี้ก็ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสะท้อนประเด็นนี้ จักกาย ศิริบุตร จะสร้างสรรค์ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ 3 ชิ้น แต่ละชิ้นทำจากผ้าและยาว 2 เมตร เพื่อบันทึกความเจ็บปวดของวัยรุ่น ลวดลายเรขาคณิตใน Quilt Project (2562) ล้อมาจากสามเหลี่ยมสีชมพูที่พรรคนาซีเคยใช้เพื่อระบุตัวและสร้างความอับอายให้แก่ผู้รักเพศเดียวกัน ในบัดนี้ ชุมชนเกย์ได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ แสดงถึงความภาคภูมิใจ

อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินตัวแทนประเทศไทยในเทศกาล Venice Biennale ครั้งที่ 55 จะสร้างวิดีโอแบบติดตั้งจัดวาง 5 จอภายใต้ชื่อ Welcome to My World โดยได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเด็ก ที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับบุคคลแปลงเพศ ผลงานชิ้นนี้จะสะท้อนประเด็นความหลากหลายและการยอมรับทางสังคมอย่างชัดเจน 
 
ศิลปินชาวมาเลเซีย Anne Samat ผู้บุกเบิกศิลปะการทอ จะนำเสนอผลงานชิ้นพิเศษ Conumdrum Ka Sorga (To Heaven) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชุดผลงานศิลปะอันโด่งดัง ประติมากรรมรวมเพศที่เป็นเอกลักษณ์ของ Samat ทำมาจากสิ่งทอสีรุ้งยาว 3เมตร จะเผยให้เห็นว่า Samat สนใจเรื่อง “รูปร่างในอุดมคติ” และต้องการจะเห็นชุมชน LGBTQ กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเหมือนนกฟีนิกซ์

ศิลปินชาวอินเดีย Balbir Krishan ผู้เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสีย ๆ หาย ๆ เพราะสร้างผลงานศิลปะเกี่ยวกับเกย์ จะมาจัดแสดงภาพวาด 2 ชิ้นที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการยกเลิกมาตรา 377 ในกฎหมายอินเดียที่กำหนดบทลงโทษสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน
 
ไฮไลต์ประจำนิทรรศการ

นิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงภาพถ่าย 6 ภาพโดย Ren Hang ศิลปินชาวจีนผู้ล่วงลับ Hang เป็นโรคซึมเศร้าและปลิดชีพตนเองไปอย่างน่าเศร้าในปี 2560 ระหว่างที่ผลงานจัดแสดงอยู่ที่สต็อกโฮล์ม ภาพถ่ายของ Ren Hang แสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติ ผู้ชมจะได้เห็นนายแบบและนางแบบเปลือย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนของศิลปินเอง อยู่ในท่วงท่าที่เปิดเผยและดูราวกับเป็นรูปปั้น ภาพถ่ายที่จัดองค์ประกอบอย่างตั้งอกตั้งใจนี้มีความงามแบบศิลปะเหนือจริง แต่แม้จะเป็นภาพของร่ายกายในวัยหนุ่มสาว กลับให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเก็บกด สะท้อนถึงการต่อสู้กับภาวะทางจิตใจของศิลปินเอง Dinh Q. Lê ศิลปินชาวเวียดนาม จะจัดแสดงผลงานศิลปะ 3 ชิ้น 2 ใน 3 นั้นเป็นผลงานที่ใช้เทคนิคการทอภาพถ่ายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการทอพรมจากเส้นใยแบบดั้งเดิม ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 เป็นประติมากรรมสูง 5 เมตร เป็นภาพที่โดนยืดและบิดเบี้ยวจนกลายเป็นม้วนกระดาษขนาดใหญ่เกินจริง แขวนลงมาจากเพดาน ภาพถ่ายที่ใช้มาจากหลากหลายแหล่ง สะท้อนถึงความรู้สึกภายในของศิลปิน และชวนให้คิดว่าการเซนเซอร์ภาพทำให้เกิดอคติต่อมุมมองและการรับรู้เรื่องอัตลักษณ์ประจำชาติอย่างไร

A Stitch in Time ผลงานจัดวางโดยศิลปินชาวฟิลิปปินส์ David Medalla ได้รับแรงบันดาลใจจากความทรงจำส่วนตัวที่บังเอิญพบผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงเขาเข้ากับคนแปลกหน้าและคนรักเก่าคนหนึ่งของตนเอง ผู้ชมสามารถร่วมสร้างศิลปะแนวทดลองที่แสนขี้เล่นชิ้นนี้ได้ แล้วจะพบว่างานชิ้นนี้ท้าทายบทบาทของผู้สร้าง – ผู้ชมงานศิลปะ และกระตุ้นให้ทบทวนความเชื่อเรื่อง “โชคชะตา” ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีวันตายในอารยธรรมมนุษย์  รูปปั้น We The People (detail) (2011–2016) ของศิลปินชาวเวียดนาม Danh Vō จำลองสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพอย่างเทพีเสรีภาพ ขนาดเท่าของจริง แต่แยกชิ้นส่วนเป็นกว่า 300 ชิ้น กระจายไปตั้งหลายจุด ผลงานชิ้นนี้จะท้าทายการรับรู้ของผู้ชม และย้ำเตือนว่าทุกคนควรจะโดนตัดสินด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพส่วนบุคคล

รายชื่อศิลปิน คลิก
ข้อมูลผลงาน โดย ศิลปิน อริญชย์ รุ่งแจ้ง คลิก

ดาวน์โหลดสูจิบัตรนิทรรศการ คลิก 

กิจกรรมประกอบนิทรรศการที่เปิดให้ผู้ชมสามารถเข้าร่วมได้ มีดังนี้

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและมูลนิธิซันไพรด์มุ่งมั่นที่จะให้ความรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับ LGBTQ และส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ผ่านศิลปะ ในงานนี้ นอกจากชิ้นงานศิลปะจำนวนมากแล้ว ยังมีกิจกรรมประกอบนิทรรศการอีกหลายรายการ ทั้งภาพยนตร์ กิจกรรมเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการแสดง dance battle อีกด้วย

Cinema Diverse 2019: GLOW! วันที่ 21 กันยายน – 19 ตุลาคม 2562 
โดย ฝ่ายกิจกรรม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คลิก

Curator & Artists talk #1: “Behind the Scenes of LGBTQ”  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 เวลา 14.00 – 17.15 น.
โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คลิก

Exhibition talk #1: “แหวกม่านผืนใหม่ ศิลปะ LGBTQ ไทย” วันที่ 7 ธันวาคม 2562 เวลา 15:00 – 17:00 น.
โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คลิก

Queer Research: A Workshop วันที่ 16 มกราคม 2563 เวลา 10:00 – 16:00 น.
โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลิก

Spectro Dance Battle วันที่ 18 มกราคม 2563 เวลา 14:00 – 20:00 น.
โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ เทนทาเคิล คลิก

ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทยและฐานที่เปิดกว้าง วันที่ 26 มกราคม 2563 เวลา 13:00 น. เป็นต้นไป
โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลิก

Curator & Artists talk #2: “Beyond the Veil of Thai LGBTQ” วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 – 16.00 น. และ วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 – 16.00 น.
โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คลิก

เกี่ยวกับมูลนิธิซันไพรด์

มูลนิธิซันไพรด์ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยมีพันธกิจเพื่อโอบรับและสนับสนุนศิลปะของชุมชน LGBTQ มูลนิธิมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เข้มแข็งขึ้น และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นสำหรับชาว LGBTQ และเพื่อน รวมถึงสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับชาว LGBTQ โดยจัดแสดงและอนุรักษ์ผลงานที่สื่อสารไปยังสังคม
 

เข้าชมฟรี ยินดีรับเงินบริจาค
เจ้าหน้านำชมพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูล และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

มูลนิธิซันไพรด์
Website: www.sunpride.hk
Facebook: Sunpride Foundation 驕陽基金會
Instagram: @SunprideFoundation
WeChat: @SunprideFoundation

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
Facebook: Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Instagram: @baccbangkok
หรือ ติดต่อ ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 ต่อ 531

#SunprideFoundation #yourbacc #saveyourbacc #SpectrosynthesisII